posttoday

ด่วน เกียรตินาคินภัทรหั่นจีดีพีไทยปีนี้ติดลบ0.4%

12 มีนาคม 2563

บล. ภัทร ปรับลดประมาณการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ จาก 1.4% เป็นติดลบ 0.4% เนื่องจากโควิด-19 ลามหนัก

บริษัทหลักทรัพย์ภัทร บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ปรับประมาณการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลงอีกครั้งจาก 1.4% เป็นติดลบ 0.4% หลังการที่การะบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่หรือโควิด-19 ที่ระบาดในภูมิภาคหนึ่ง ได้กลายเป็นการระบาดครั้งใหญ่ของโลกหรือ Pandemic โดยสำหรับกรณีฐาน ประเมินว่าการกักกันและการสกัดการระบาดจะจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเศรษฐกิจหลัก ในไตรมาสสองและไตรมาสสามของปีนี้ แต่ผลกระทบต่อไทยนั้นจะรุนแรง เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวอย่างมาก

ประเด็นหลักที่มีผลต่อการประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจได้แก่ การท่องเที่ยวซึ่งมีสัดส่วน 12% ในจีดีพีของประเทศในปีนี้ โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจะลดลง 50% ในไตรมาสแรกและไตรมาสสองของปีนี้ ก่อนที่จะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในครึ่งหลังของปี ตลอดทั้งปีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจะลดลง 25% ซึ่งจะมีผลต่อแนวโน้มศรษฐกิจมากกว่าที่คาดไว้ในช่วงก่อนหน้า

ขณะที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวอื่นจะยังไม่เติบโตนัก จากความท้าทายที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ส่วนราคาน้ำมันดิบที่ลดลงอาจจะให้ทางบวกเล็กน้อยต่อการเติบโตของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวจะยังคงได้รับผลกระทบหนักในไตรมาสสอง ดังนั้นการคาดการณ์ในกรณีฐานจึงประเมินว่า เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ซึ่งหมายถึงการหดตัวสองไตรมาสติดต่อกัน อีกทั้งคาดการฟื้นตัวจะอยู่ในรูปตัวยู (U Shape) ขณะที่กิจกรรมทางการท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะค่อยๆกลับสู่ภาวะปกติในครึ่งหลังของปี

จากเศรษฐกิจที่ตกต่ำและจากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะลดลงดอกเบี้ยนโยบายลงที่ระดับ 0% จึงคาดว่าในการประชุมครั้งต่อไปวันที่ 25 มีนาคม 2563 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ลงไปที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.75% อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแนวทางการดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวังของ กนง. จึงไม่คาดว่าหลังจากนั้น กนง.จะลดดอกเบี้ยอีก

ทั้งนี้ สิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือการใช้มาตรการให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อแบบเฉพาะกลุ่มและการเสริมสภาพคล่องเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาสภาพคล่องลุกลามไปสู่ปัญหาการล้มละลาย โดยภาครัฐควรจะมีการออกมาตรการทางการคลังแบบตรงเป้าหมายมากขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบและกระตุ้นเศรษฐกิจ

ภายใต้ข้อสมมุติกรณีที่เศรษฐกิจโลก “ถดถอยเล็กน้อย” คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวเหลือ +1.4% และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 2% ในปี 2020 เพราะคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว การส่งออก ซึ่งผลต่อเนื่องไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นๆและความเชื่อมั่นในประเทศ โดยคาดว่าทั้งปีการท่องเที่ยวจะหดตัว 40% (นักท่องเที่ยวที่เดินทางเขาจำนวนลดลง 16 ล้านราย) เพราะความเชื่อมั่นยังไม่ดีขึ้น ในกรณีดังกล่าวกนง.จะลดดอกเบี้ยลงสองครั้ง ครั้งละ0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสิ้นปีอยู่ที่ 0.50%

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจหดตัวมากกว่าที่คาด หากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสยาวนานกว่าที่คาด และการปรับลดคาดการณ์นี้ไม่ได้นำการระบาดของไวรัสในประเทศมาร่วมประเมินด้วย ซึ่งก็มีความเป็นได้ โดยในกรณีเช่นนั้น การบริโภคในประเทศจะชะลอตัวมากกว่าที่คาด ในทางตรงกันข้าม หากมาตรการกักกันได้ผลและมีการคิดค้นยาสำเร็จ ก็จะเป็นปัจจัยที่ช่วยลดความกังวลของประชาชน และนักท่องเที่ยวและทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วกว่าคาด