posttoday

“สรรพสามิต”ยันเจลล้างมือยังมีเพียงพอ

10 มีนาคม 2563

“สรรพสามิต” ลุยเว้นภาษีนำเอทานอลไปผลิตเจลล้างมือ สู้โควิด-19

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ได้ออกประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอใช้สิทธิเสียภาษีในอัตราภาษีศูนย์ สำหรับสุราสามทับ (แอลกอฮอล์) ที่นำไปทำการแปลงสภาพ เพื่อใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบที่มิได้ทำขึ้นเพื่อการจำหน่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ ซึ่งมี 3 กลุ่ม คือ องค์การสุรา ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสุราสามทับเพื่อส่งออก และกลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรามเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ให้เสียภาษีแอลกอฮอล์ในอัตรา 0 บาทต่อลิตร

พร้อมทั้งลดเงื่อนไข และข้อจำกัดต่าง ๆ ในการปฏิบัติเพื่อให้ง่ายและทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยประกาศดังกล่าวจะมีผลถึงวันที่ 30 ก.ย. 2563 แต่หากสถานการณ์ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ หรือยังมีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ก็จะพิจารณาขยายเวลาตามความจำเป็น

ขณะนี้มีความต้องการใช้แอลกอฮอล์มากขึ้น ภายหลังจากมีการออกประกาศของกระทรวงสาธารสุขกำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตราย ดังนั้น กรมฯ ในฐานะเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลสินค้าสุรา ซึ่งรวมถึงแอลกอฮอล์ เพราะเป็นสินค้าที่กำหนดในบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต จึงมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการใช้แอลกอฮอล์ โดยหากนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ จะต้องเสียภาษีในอัตรา 0 บาทต่อลิตร เพื่อเป็นการลดตนทุนทางภาษีและเพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยจากการการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประกอบการยังได้บริจาคแอลกอฮอล์ จำนวน 3 แสนลิตร ให้กับกรมสรรพสามิต เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนทั่วประเทศ ผ่านสรรพสามิตจังหวัด เฉลี่ยวันละ 100 ลิตร เป็นเวลา 30 วัน โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มแจกจ่ายได้ภายในเดือน มี.ค. นี้ ในรูปของแอลกอฮอล์แบบน้ำ โดยจะให้ประชาชนนำภาชนะมาใส่ได้รายละไม่เกิน 1 ลิตร เพื่อใช้ในการทำความสะอาดในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ ยืนยันว่าแอลกอฮอล์ ที่จะนำไปผลิตในรูปแบบของเจลล้างมือ และรูปแบบต่าง ๆ สำหรับฆ่าเชื้อโรคยังมีเพียงพอกับความต้องการของประชาชนในสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากปัจจุบันมีโรงงานเอทานอล 26 โรงงาน กำลังการผลิต 7 ล้านลิตรต่อวัน ในส่วนนี้เป็นปริมาณการใช้ด้านพลังงานเพียง 4 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนอีกประมาณ 3 ล้านลิตรต่อวัน จะสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้

“การดำเนินการทั้งหมด เป็นเพียงมาตรการเพื่อรองรับความต้องการใช้ของประชาชนเท่านั้น และเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการกดดันด้านราคาในตลาดในอนาคต โดยสถานการณ์เจลล้างมือตอนนี้ยังมีเพียงพอ และไม่มีการกักตุนแต่อย่างใด” นายพชร กล่าว