posttoday

หน้ากากอนามัยกับกลไกตลาด

10 มีนาคม 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.ทัศนีย์ สติมานนท์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th; [email protected]

ประเด็นยอดนิยมที่มีการพูดคุยและกล่าวถึงกันมากในตอนนี้ คือ ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไปเท่านั้น หากแต่ปัญหานี้ได้ลุกลามไปถึงบุคคลากรทางการแพทย์ด้วย ราคาหน้ากากอนามัย (ถ้าหาซื้อได้) ก็แพงลิบลิ่ว ผู้เขียนได้ยินพิธีกรรายการโทรทัศน์ท่านหนึ่งกล่าวว่า หาซื้อได้ในราคาชิ้นละ 30 บาท ในขณะที่ราคาหน้ากากอนามัยก่อนช่วง โควิด-19 ระบาดนั้นไม่เกิน 2 บาทต่อชิ้นเท่านั้น

ผู้เขียนขอใช้ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์ว่า มาตรการใด หรือการดำเนินการแบบใด จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยได้บ้าง ปกติแล้วราคาและปริมาณของสินค้าที่มีการซื้อขายจะถูกกำหนดทั้งจากฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขาย ตัวอย่างเช่น หากผู้ซื้อมีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น (คนแย่งกันซื้อ) ราคาย่อมเพิ่มขึ้น ในขณะที่หากต้นทุนในการผลิตสินค้าสูงขึ้นก็จะทำให้ราคาเพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้นมาตรการใดที่ลดความต้องการซื้อ หรือลดต้นทุนของผู้ผลิตจะทำให้ราคาหน้ากากอนามัยลดลงได้ ผู้เขียนจึงขอใช้หลักการนี้ในการวิเคราะห์มาตรการต่าง ๆ ดังนี้

1. การกำหนดราคาขั้นสูงนั้นมีผลตามทฤษฎี คือ ราคาซื้อขายแบบถูกกฎหมาย จะเท่ากับราคาที่กฎหมายกำหนด คือ 2.50 บาทต่อชิ้น แต่ปริมาณที่มีการซื้อขายจะน้อยลง เพราะเมื่อราคาลดลงจะทำให้ผู้ผลิตมีแรงจูงใจในการผลิตลดลง อย่างไรก็ตาม การกำหนดราคาขั้นสูงจะก่อให้เกิดการซื้อขายในตลาดมืด (black market) โดยราคาในตลาดมืดจะสูงกว่าราคาที่ถูกกำหนดโดยกลไกตลาดปกติ (ตลาดที่ไม่มีการกำหนดราคาขั้นสูง) แม้ว่ารัฐบาลจะมีการจับผู้ขายหน้ากากอนามัยเกินราคา แต่ตลาดมืดยังคงเกิดขึ้น ตราบใดที่มีทั้งผู้ต้องการซื้อและต้องการขาย เช่นเดียวกับ ตลาดมืดที่ซื้อขายน้ำมันในช่วงสงครามโลก และตลาดซื้อขายยาเสพติด แม้รัฐพยายามจะให้โรงงานขยายกำลังการผลิต แต่อาจไม่ได้รับการตอบสนองมากเท่าใดนัก เนื่องจากราคาวัตถุดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น เพราะทุกประเทศมีความต้องการหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นเช่นกัน ไม่นับรวมถึงค่าแรงที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับการทำงานล่วงเวลา ในขณะที่ผู้ผลิตต้องขายให้รัฐในราคาเท่าเดิม

2. รัฐบาลจำหน่ายหน้ากากอนามัยในราคา 2.50 บาท โดยกระจายการขายตามหน่วยงานของรัฐ รวมถึงรถขายสินค้าเคลื่อนที่ มาตรการนี้ช่วยให้ประชาชนมีความมั่นใจว่า มีผู้ขายที่ขายในราคา 2.50 บาทตามที่รัฐกำหนดจริง หากแต่ต้นทุนที่แท้จริงของประชาชนในการซื้อหน้ากากอนามัยอาจไม่ใช่เพียงเงินที่จ่ายออกไปเพื่อซื้อหน้ากากอนามัยเท่านั้น ค่ารถที่ต้องจ่ายเพื่อไปตามหน่วยงานกระจายสินค้าของรัฐ และค่าเสียเวลาที่ต้องไปต่อแถวรอซื้อสินค้าในราคาที่รัฐกำหนดนั้นนับเป็นต้นทุนที่สูงกว่าราคาหน้ากากอนามัยหลายเท่านัก ประชาชนส่วนใหญ่จึงยังคงไม่สามารถเข้าถึงหน้ากากอนามัยในราคา 2.50 บาทได้เช่นเดิม เพราะหากต้องหยุดงาน หยุดเรียน หรือตื่นแต่เช้ามืดเพื่อไปเข้าแถวรอซื้อคงไม่คุ้มค่า (บางแห่งมีการเริ่มต่อแถวตั้งแต่ตอนตีสามครึ่ง) หรือแม้กระทั่งการมีรถขายสินค้าเคลื่อนที่ไปยังชุมชนต่าง ๆ เพื่อลดภาระค่าเดินทางนั้น อาจไม่สามารถบรรเทาปัญหาได้ เพราะผู้ซื้อไม่รู้เวลาที่แน่นอนที่รถจะมาและยังคงต้องเสียเวลาต่อแถวยาว ดังนั้น ตลาดมืดจะยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายผ่านร้านค้า แอพพลิเคชั่นไลน์ เฟซบุ๊ก หรือเว็บไซด์ตราบใดที่ผู้ซื้อและผู้ขายยินยอมพร้อมใจกัน ซึ่งแม้ว่าผู้ซื้อจะไม่ต้องการเสียเงินจำนวนมากแต่ไม่มีทางเลือก เช่น มีความจำเป็นต้องใช้เมื่อเดินทางไปพบแพทย์ในโรงพยาบาล หรือเมื่อต้องใช้บริการรถสาธารณะที่มีความแออัดมากในช่วงเวลาเร่งด่วน

3. มาตรการที่กำหนดให้ผู้เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงต้องกักตัวเอง 14 วัน จากข่าวที่จะมีผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยงมาไทยเป็นจำนวนมากทำให้ประชาชนมีความตื่นตระหนก ทั้งนี้ เนื่องจากความสามารถในการแพร่เชื้อโดยไม่แสดงอาการ และความไม่มั่นใจในตัวผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยงว่าจะกักตัวเองตามที่รัฐกำหนดหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องป้องกันตัวเองไว้ก่อน ทำให้ความต้องการซื้อหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้น รัฐจึงควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังสำหรับผู้ที่ไม่ได้กักตัวตามที่กำหนด โดยใช้แรงจูงใจเพื่อเป็นกลไกช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น นำค่าปรับที่ผู้ทำผิดต้องจ่ายให้รัฐส่วนหนึ่งมาเป็นรางวัลให้กับคนแจ้งเบาะแส โดยหากรัฐมีการดำเนินการอย่างจริงจังและเข้มงวดจะทำให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัย และไม่มีความต้องการหน้ากากอนามัยมากเช่นในปัจจุบัน

4. การรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปใช้หน้ากากผ้า และใช้หน้ากากอนามัยเฉพาะผู้ป่วยเท่านั้น การรณรงค์นี้ทำให้ประชาชนทั่วไปที่มิใช่ผู้ป่วยเปลี่ยนไปใช้หน้ากากผ้า ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนของหน้ากากอนามัย ทำให้ลดความต้องการหน้ากากอนามัยและช่วยให้ราคาลดลงได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรคโควิด-19 นั้นมีระยะฟักตัวนาน และผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อสามารถแพร่เชื้อได้โดยไม่แสดงอาการ ประชาชนจึงยังคงมีความกังวลว่า อาจติดเชื้อจากผู้ป่วยที่ยังไม่แสดงอาการซึ่งมิได้ใช้หน้ากากอนามัยได้ จึงยังมีความต้องการใช้หน้ากากอนามัย นอกจากนี้ หากประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้หน้ากากอนามัย (เช่น ไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล หรือไม่ต้องเสียรายได้หากป่วยแล้วต้องหยุดงาน) สูงกว่าราคาหน้ากากอนามัยที่แพงลิบลิ่ว คนที่มีเหตุมีผล (rational person) ก็ยังคงใช้หน้ากากอนามัยต่อไป การรณรงค์ให้ใช้หน้ากากผ้านี้จึงอาจไม่ช่วยลดความต้องการใช้หน้ากากอนามัยได้เท่าที่ควร

5. การส่งเสริมให้มีการสร้างนวัตกรรมในการผลิตหน้ากากอนามัยแบบใช้ซ้ำได้หลายหน มาตรการนี้นับเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวและสอดคล้องกับการดำเนินการเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำนวัตกรรมการวิจัยเส้นใยผ้าต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และฝุ่น PM 2.5 มาผลิตเป็นหน้ากากผ้า หากรัฐบาลเร่งสนับสนุน และช่วยเหลือให้มีการดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยได้ และช่วยทำให้ราคาหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งลดลงด้วย

กล่าวโดยสรุป คือ การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยนั้น มิใช่เพียงแค่การกำกับราคาซื้อขายหน้ากากอนามัยให้ต่ำกว่าราคาตลาดที่แท้จริงเท่านั้น เพราะหากไม่มีมาตรการอื่นใดเสริมไปกับการกำกับราคาแล้ว จะเกิดการซื้อขายในตลาดมืดซึ่งทำให้ราคาหน้ากากอนามัยยังคงสูงมากเช่นเดิม การดำเนินการเพื่อลดความต้องการของประชาชน ดังเช่น การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงทั้งนักท่องเที่ยวและคนไทย การรณรงค์ให้มีการใช้หน้ากากผ้า และการส่งเสริมให้เร่งนำงานวิจัยมาผลิตหน้ากากอนามัยแบบใช้ซ้ำได้ในเชิงพาณิชย์ จะช่วยลดความต้องการใช้หน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง นอกจากนี้การตั้งโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยขึ้นใหม่ของภาคเอกชนก็ช่วยเพิ่มปริมาณการผลิต และลดปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยได้เช่นกัน ... มาตรการข้างต้นนี้จะทำให้บุคคลากรทางการแพทย์มีหน้ากากอนามัยใช้อย่างเพียงพอ และเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับเจ้าวายร้าย โควิด-19 ได้ค่ะ