posttoday

หุ้นไทยน่าซื้อ ถูกมากในรอบ 14 ปี พร้อมแนะ 4 ธีมการลงทุนเดือน มี.ค.

03 มีนาคม 2563

"ทรีนีตี้" ระบุ COVID-19 กดหุ้นไทยลงมาอยู่ในระดับที่ถูกมากใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย พี/อี ตั้งแต่ปี 2549 ชี้รอบนี้ธนาคารกลางทั่วโลกเตรียมลดดอกเบี้ยพยุงเศรษฐกิจ ทำดอกเบี้ยแท้จริงในไทยติดลบหนุนเงินไหลเข้าตลาดหุ้น

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นช่วงเดือนมีนาคม 2563 ว่าเป็นโอกาสที่น่าสนใจของนักลงทุนในการเข้าสะสมหุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนระยะยาว

เนื่องจากปัจจุบันหุ้นไทยปรับลดลงมาซื้อขายที่ดับอัตราส่วนราคาต่อกำไร (พี/อี) ปีนี้ที่ 14.0 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2549 ที่ 13.8 เท่าแล้ว ทั้งนี้ หากใช้พี/อีที่ 13.8 เท่านี้ในการคำนวณระดับดัชนีที่เหมาะสมจะได้ว่าดัชนีที่เป็นโอกาสในการเข้าสะสมหุ้นที่สำคัญจะตรงกับระดับ 1310 จุด

สำหรับธีมการลงทุนแนะนำในช่วงเดือนมีนาคมได้แก่ 1. ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (IFF) เนื่องจากมีระดับอัตราเงินปันผลเทียบกับผลตอบแทนพันธบัตรอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดีการลงทุนในตราสารประเภทนี้ แนะนำให้กระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศด้วย เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่องภายในประเทศ 2. กลุ่มบริหารสิทรัพย์ (AMC)ที่มีโอกาสเข้าซื้อสินทรัพย์ราคาถูกช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แถมได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยขาลง ซึ่งหุ้นที่แนะนำคือ บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (BAM) บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน)(JMT) และบริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CHAYO )

3. กลุ่มอาหารซึ่งจะได้ประโยชน์จากราคาสัตว์บกที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่า หุ้นแนะนำคือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) และ 4. กลุ่มที่อิงการลงทุนภาครัฐ เพราะรัฐบาลน่าจะมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณอย่างเร่งด่วนในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณนี้ จึงแนะนำหุ้น บริษัท ช.การช่างจำกัด(มหาชน) (CK)

นอกจากนี้ แนะนำเก็งกำไรหุ้น บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำกัด(มหาชน) (PTTEP)คาดหวังได้รับอานิสงส์จากการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมจากกลุ่มประเทศผู้ค้าน้ำมัน(โอเปก) ในการประชุมวันที่ 5-6 มีนาคม นี้ หากเกิดขึ้นจริงจะทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงสั้นได้ ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มโอเปกลดกำลังการผลิตได้มากกว่าที่ตกลงกันไว้ โดยทำได้ถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวันจากแผนที่ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน

นายณัฐชาต กล่าวว่า ยังต้องติดตามการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วงวันที่ 17-18 มีนาคมนี้ ซึ่งล่าสุดนักลงทุนในตลาดพันธบัตรให้น้ำหนักเกิน 100% แล้วว่าจะมีมติลดดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมดังกล่าวและการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 25 มีนาคมนี้ ซึ่งนักลงทุนในตลาดก็ให้น้ำหนัก 100% เช่นกันว่าจะมีมติปรับลดดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน

“เป็นที่น่าสนใจว่าหาก กนง.ลดดอกเบี้ยลงครั้งนี้อีกจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายแท้จริงของไทยก้าวเข้าสู่ระดับติดลบมากขึ้น ซึ่งจากสถิติในอดีต อัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่ติดลบนี้ มักส่งผลให้หุ้นยังคงเป็นตราสารที่ตอบโจทย์การลงทุนได้ สะท้อนจากการให้อัตราผลตอบแทนเป็นบวกโดยตลอด ในช่วงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ 3 รอบตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา เพียงแต่ว่าในระยะสั้น ตลาดหุ้นอาจจะยังคงมีความผันผวนจากปัจจัยแวดล้อมที่ยังคงมีความไม่แน่นอนในระดับสูง”