posttoday

หุ้นไทยดิ่งเหว สิ้นหวังรัฐบาลแก้เศรษฐกิจ

21 กุมภาพันธ์ 2563

ดัชนีหุ้นไทยตกต่ำกว่า 1,500 จุด ซึ่งเป็นแนวต้านตั้งรับที่สำคัญทางจิตวิทยา เนื่องจากนักลงทุนไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะแก้วิกฤตเศรษฐกิจไทยให้ผ่านไปได้อย่างรวดเร็ว

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

...............................

การซื้อขายหุ้นไทยวันที่ 20 ก.พ. 2563 ดัชนีหุ้นไทยหลุดต่ำกว่า 1,500 จุด ถือว่ามีนัยสำคัญที่นักลงทุนไม่เชื่อมั่นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลหรือทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 20 ก.พ. 2563 ปิดที่ 1,491.24 จุด ลดลง 14.30 จุด มูลค่าการซื้อขาย 75,546 ล้านบาท ถือว่ามีการซื้อขายกันจำนวนมาก

การตกของดัชนีหุ้นไทยดังกล่าว เป็นการต้อนรับ นายอุตตม สาวนยน รมว.คลัง ที่ยกทีมผู้บริการคลังไปพบนักลงทุน นักวิเคราะห์หุ้น ถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกับนักลงทุนในตลาดหุ้น การพบกันมีตั้งแต่เช้าก่อนตลาดจะเปิดทำการซื้อขาย

หลายฝ่ายคาดหวังว่า การพบกันครั้งนี้จะทำให้ตลาดหุ้นกลับมาตลาดกระทิงวิ่งเป็นบวกได้อีกครั้ง แต่สุดท้ายก็ต้องผิดหวังไปตามๆ กัน เมื่อปรากฎว่าการพูดคุยกับของ รมว.คลัง นอกจากไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในตลาดหุ้นแล้ว ยังเป็นการสร้างกังวลการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลให้กับนักลงทุนเพิ่มขึ้น

ซึ่งจะสะท้อนเห็นได้ว่าตลาดหุ้นไทยวันที่ 20 ก.พ. 2563 เปิดตลาดซื้อขายก็ติดลบต่ำกว่า 1,500 จุดทันที ทั้งในช่วงเช้าและบ่ายที่ก็ไม่สามารถกลับขึ้นมายืนเหนือระดับ 1,500 จุดได้อีกครั้ง

นายอุตตม เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับนักวิเคราะห์และนักลงทุน ที่ ตลท. ว่า นักลงทุน ผู้จัดการกองทุนรายใหญ่ ได้สอบถามถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล 3 เรื่อง

1.สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน

2.มาตรการภาครัฐดูแลเศรษฐกิจในระยะสั้น

3.ผลจากการใช้มาตรการในระยะต่อไป

หุ้นไทยดิ่งเหว สิ้นหวังรัฐบาลแก้เศรษฐกิจ

ซึ่งว่าไปแล้วทั้ง 3 ประเด็น นักลงทุนรู้ดีอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร เพียงแต่ต้องการความเชื่อมั่นจากรัฐบาลเท่านั้นว่า มีสิ่งที่ดีกว่าที่นักลงทุนคาดคิดไว้หรือไม่

แต่อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ ว่าเศรษฐกิจไทยแย่จากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือ 1.5-2.5% หรือ จะขยายตัวได้ 2% โดยมีแนวโน้มขยายตัวได้ 1.5 มากกว่า หากรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณ 2563 ล่าช้า ปัญหาภัยแล้งรุนแรง และปัญหารการระบาดของไวรัสโคโรนา โดยการแถลงเกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งวันนั้นก็ทำให้ตลาดหุ้นไทยซึมบวกได้ไม่ถึง 1 จุด

หลังจากนั้นเกิดอาฟเตอร์ช็อคเมื่อสำนักวิจัยต่างๆ ออกมาคาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะขยายตัวได้ตัวกว่า 2% ไม่ว่าจะเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ให้เศรษฐกิจไทยโต 1.8% กลุ่มสถาบันการเงินทิสโก้ให้โต 1.7% ธนาคารกรุงศรอยุธยาให้โต 1.5% และ บล.ภัทร ในกลุ่มเกียรตินาคิน ให้เศรษฐกิจโตแค่ 1.4% เพราะไม่เชื่อว่ารัฐบาลปลกล็อคแก้ปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า การแก้ปัญหาภัยแล้วรุนแรง และปัญหาการระบาดของไวรัสโคโรนา ให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวเหมือนเดิมได้ในเวลารวดเร็ว

ซึ่งดูเหมือนตลาดหุ้นก็จะตอบรับกับอาฟเตอร์ช็อคดังกล่าวทันทีต่อเนื่อง โดยในการซื้อขายหุ้นในวันที่ 18 ก.พ. ดัชนีหุ้นไทยตกลงไปอีก 13.57 จุด ในวันที่ 19 ก.พ. ตกลงไปอีก 8.14 จุด และ ในวันที่ 20 ก.พ. ตกลงมากที่สุด 14.30 จุด หลังจากนักลงทุนฟัง รมว.คลัง พูดว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ในเดือนมิ.ย. หรือ ก.ค. ของปีนี้ รวมถึงยังไม่แน่ใจว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาเที่ยวเมืองไทยเมื่อไหร่ และที่สำคัญมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ยังศึกษาอยู่ ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้

เมื่อความชัดเจนการบริหารจัดการวิกฤตเศรษฐกิจ มีภาพไม่ชัดเจน มีความไม่แน่นอน ทำให้นักลงทุนในตลาดหุ้นก็ขายหุ้นทิ้งถือเงินไว้รอความชัดเจนดีกว่า ส่งผลให้ตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้ตกลงไปถึง 35 จุดแล้ว

ไม่ใช่นักลงทุนจะไม่เชื่อมั่นกับการพบปะกับ รมว.คลังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ก่อนหน้านี้นักลงทุนในตลาดหุ้นก็ผิดหวังกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ออกมาตรการอะไรออกมาก็ไม่ได้ผลช่วยพยุงเศรษฐกิจให้หยุดทรุดได้ ส่งผลสะเทือนให้นักลงทุนในตลาดหุ้นหวาดผวาขายหุ้นทิ้งมากกว่าซื้อหุ้นเก็บไว้

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ภาคตลาดทุนไม่ได้ต้องการมาตรการดูแลตลาดในระยะสั้นจากภาครัฐ เพราะพ้นจุดที่ต้องใช้มาตรการพยุงตลาดไปนานแล้ว ที่ต้องทำคือสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนในระยะสั้น ที่วันนี้มีความกังวลมากกเกินไป ทำให้ราคาหุ้นไม่สะท้อนปัจจัยระยะยาว ส่วนมาตรการระยะยาว ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนให้มีเม็ดเงินออมเข้าสู่ระบบตลาดทุนมากขึ้น

คำสะท้อนดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าที่ผ่านมารัฐบาลแก้ปัญหาไม่ตรงจุด โดยปัญหาสำคัญคือรัฐบาลคือการเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนไม่ได้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่กว่าการออกมาตราการใหม่ เพราะหากนักลงทุนไม่เชื่อมั่นในตัวรัฐบาล การออกมาตรการอะไรออกมาย่อมไม่ได้ผล

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ออกมาเปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ไม่ดีเอามากๆ อย่าคาดหวังว่าจะเป็นบวกได้ ซึ่งจะมีแต่แย่ลง โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีแรกต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 3/2563 เนื่องจากยังคงมีปัญหารุมเร้ามากกว่าปี 2562

“นายกรัฐมนตรี ท่านไม่รู้พอหรือไม่เข้าใจพอที่จะคุมภาพรวมเศรษฐกิจได้ จะว่าท่านก็ไม่ได้ เพราว่าพื้นฐานท่านคุมทหารมา แต่ประเด็นคือว่ามันต้องฟังคนอื่น ต้องฟังคนที่รู้ ต้องยอมรับฟังความเห็นของคนที่รู้ แล้วเอาความเห็นตรงนั้นมาดำเนินเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้ผมยังไม่เห็นในนายกฯ คนนี้ เป็นอย่างที่อยากให้เป็น” ม.ร.ว. ปรีดิยาธร กล่าว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวด้วยว่า ตอนนี้คนไทยเริ่มว้าเหว่ เวลาเกิดปัญหาเศรษฐกิจ หากรัฐบาลรู้เรื่องมากพอ หรือฟังคนอื่นมากพอ ก็ไม่น่าเป็นห่วง มองไปไม่เห็นว่าจะมีคนที่รู้เรื่องเศรษฐกิจมากพอ จะว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้ เพราะคุมไม่กระทรวงเศรษฐกิจไม่กี่กระทรวงเท่านั้น

จากภาพสะท้อนของ หม่อมอุ๋ย ต้องยอมรับว่า คนไทยต้อนนี้ว้าเหว่ และสิ้นหวังกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลจริงๆ เห็นได้จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ยิ่งวันยิ่งทรุด ขณะที่ตลาดหุ้นก็ยิ่งวันยิ่งตกจนหลุด 1,500 จุด แนวต้านความเชื่อมั่นที่สำคัญ ซึ่งไม่รู้จะดึงขึ้นมาได้หรือตกลงไปมากกว่านี้ หากรัฐบาลยังแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบไร้หัวเรือใหญ่ เป็นเรื่องที่ไม่มีหางเสืออย่างนี้ต่อไป