posttoday

คลังเร่งเบิกจ่ายงบไตรมาสสอง4 แสนล้าน

20 กุมภาพันธ์ 2563

คลังเร่งเบิกจ่ายงบให้ได้ 80% กระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนตลาดทุนไม่สนมาตรการรัฐระยะสั้น เชื่อผ่านจุดต้องพยุงไปแล้ว

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับนักวิเคราะห์และนักลงทุน ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า นักลงทุน ผู้จัดการกองทุนรายใหญ่ ได้สอบถามถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล 3 เรื่อง คือ

1. สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน

2. มาตรการภาครัฐดูแลเศรษฐกิจในระยะสั้น

3. ผลจากการใช้มาตรการในระยะต่อไป โดยเฉพาะในประเด็นความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ใช้ขับเคลื่อนการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งได้ยืนยันไปว่าการเบิกจ่ายปี 2563 จะต้องได้ผลเร็วในระยะสั้น และปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์ระยะยาวด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ 3.2 ล้านล้านบาท ได้แจ้งให้นักลงทุนทราบว่า รัฐบาลมีเวลาใช้แค่ 6 เดือน โดยเฉพาะในส่วนงบลงทุน 6.4 แสนล้านบาท หรือประมาณ 20% ของงบประมาณรายจ่าย จะต้องเบิกจ่ายทันที ซึ่งสำนักงบประมาณแจ้งว่าได้ทำการบ้านแล้วมีงบลงทุน 3.5 แสนล้านบาทที่พร้อมเบิกจ่ายทันที ที่มีผล และอีก 9.6 หมื่นล้านบาท ที่พร้อมจะปล่อยออกไป รวมประมาณ 4 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะเริ่มเข้าสู่ระบบได้ภายในไตรมาส 2/2563ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 2.4 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างเตรียมการ จัดทำทีโออาร์ คาดว่าจะใช้เวลาอีก 45-50 วัน และเบิกจ่ายเข้าสู่ระบบได้ในช่วงไตรมาส 3/2563 ส่วนการเบิกจ่ายงบประจำ จะต้องมีการออกมาตรการกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐ เร่งจัดประชุม สัมมนาเร็วขึ้น จากเดิมที่จะไปเร่งในช่วงปลายปี รวมทั้ง งบประมาณดูแลปัญหาภัยแล้ง ที่อยู่ระหว่างรอกระทรวงมหาดไทย ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ และเริ่มเบิกจ่ายงบช่วยเหลือได้

“เชื่อว่างบประมาณปี 2563 จะสามารถเบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 80% ภายใต้เวลาที่เหลืออย่างจำกัด 6 เดือน ซึ่งคาดว่าภายในไตรมาส 3/2563 จะเบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 70-77% ขณะเดียวกันก็ยังมีงบลงทุนจากรัฐวิสาหกิจอีก 3.5 แสนล้านบาท ที่จะเข้าสู่ระบบได้ทันที 1 แสนล้านบาทในเดือน มี.ค. ส่วนที่เหลือก็จะทำได้ไม่ต่ำกว่า 80% เช่นกัน”

นายอุตตม กล่าวว่า ได้แจ้งนักลงทุนว่าในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว รัฐบาลเตรียมออกมาตรการเพื่อดูแลผลกระทบทั้งในระยะสั้น คู่ขนานไปกับมาตรการดูแลโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะผลกระทบจากปัญหาไวรัสโคโรนา ที่จะต้องมีมาตรการดูแลภาคการท่องเที่ยว แต่จากการประเมิน ยังเชื่อว่าสถานการณ์จะกลับมาคลี่คลายได้ในเดือน มิ.ย.-ก.ค. ระหว่างนี้ก็ต้องเตรียมความพร้อมไว้ เมื่อกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เศรษฐกิจไทยจะได้ฟื้นตัวได้ทันที

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ภาคตลาดทุนไม่ได้ต้องการมาตรการดูแลตลาดในระยะสั้นจากภาครัฐ เพราะพ้นจุดที่ต้องใช้มาตรการพยุงตลาดไปนานแล้ว ที่ต้องทำคือสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนในระยะสั้น ที่วันนี้มีความกังวลมากกเกินไป ทำให้ราคาหุ้นไม่สะท้อนปัจจัยระยะยาว ส่วนมาตรการระยะยาว ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนให้มีเม็ดเงินออมเข้าสู่ระบบตลาดทุนมากขึ้น