posttoday

ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มผันผวน หลังผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้น

22 กุมภาพันธ์ 2563

โดย SCB Chief Investment Office (SCB CIO)

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (3 – 7 ก.พ.) ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนเริ่มคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับเพิ่มขึ้น หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ ส่งสัญญาณการฟื้นตัว

ได้แก่ ดัชนี ISM ภาคการผลิต และภาคบริการ ยอดคำสั่งซื้อภาคโรงงาน และการจ้างงานภาคเอกชน นอกจากนี้ดัชนีฯ ยังได้แรงหนุนจากรายงานที่ว่า จีนจะปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในวงเงิน 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ด้านตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเช่นกัน

หลังบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งในยุโรป รายงานผลประกอบการออกมาแข็งแกร่ง ประกอบกับได้แรงหนุนจากรายงานข่าวที่ว่า นักวิจัยของจีนและอังกฤษ ได้ประกาศความสำเร็จในการคิดค้ายาต้านไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ แม้ว่าในภายหลังองค์การอนามัยโลก (WHO) จะออกมาแถลงยืนยันว่า ยังไม่มียาที่จะใช้รักษาผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวก็ตาม

ในขณะที่ตลาดหุ้นจีน A-share ปรับลดลงอย่างมากในช่วงแรก จากความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ และกำไรภาคอุตสาหกรรมของจีนที่ออกมาชะลอลง

อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ลดช่วงลบลง หลังทางการจีนทยอยออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากไวรัสดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบกว่า 1.6 ล้านล้านหยวน และปรับลดอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน รวมทั้งมีรายงานว่า ทางการจีนมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าชั้นดี (LPR) ในวันที่ 20 ก.พ.นี้ และจะปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของสถาบันการเงิน (RRR) ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ขณะที่ราคาน้ำมันดิบยังปรับลดลงต่อ เนื่องจากความกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลก แม้จะมีรายงานว่า กลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตร กำลังพิจารณาลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมก็ตาม ด้านราคาทองคำปรับลดลงเล็กน้อย เนื่องจากนักลงทุนลดการถือครองในทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังเริ่มคลายความกังวลต่อผลกระทบจากแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ และราคาทองคำยังถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯ ที่เริ่มฟื้นตัว

มุมมองของเราในสัปดาห์นี้

ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน แม้นักลงทุนได้เริ่มคลายความกังวลในระดับหนึ่ง เกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาด หลังทางการมีแนวโน้มออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากไวรัสดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000 ราย (มากกว่าตอนที่เกิดโรค SARS ระบาด) ได้ทำให้นักลงทุนกลับมากังวลต่อผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นฯ อาจได้รับแรงสนับหนุนจาก ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญส่วนใหญ่ และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่จะรายงานในสัปดาห์นี้ ที่มีแนวโน้มออกมาดี ประกอบกับ คาดว่า การแถลงการณ์ของ นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต่อสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจเผชิญปัจจัยกดดันจาก ประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐฯ ที่ยังมีอยู่ โดยวันที่ 11 ก.พ.นี้ จะมีการเลือกตั้งขั้นต้นของตัวแทนพรรคเดโมแครต ในรัฐ New Hampshire เพื่อสรรหาตัวแทนพรรคฯ เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. รวมทั้ง นักลงทุนยังรอติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ และจีน

โดยเฉพาะประเด็นมาตรการคว่ำบาตรทางการค้ากับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี ด้านราคาน้ำมัน มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นบ้าง โดยนักลงทุนรอติดตามว่า กลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตร จะเลื่อนจัดการประชุมเร็วขึ้นจากเดิมในเดือน มี.ค. เป็นวันที่ 14-15 ก.พ.นี้ หรือไม่ และ มีแนวโน้มที่จะปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อช่วยปกป้องราคาน้ำมันไม่ให้ร่วงลงต่อไป

เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

· ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หลังโรงงานหลายแห่งในจีนมีแนวโน้มกลับมาทำการในสัปดาห์นี้

· นายเจอโรม พาวเวล ประธาน Fed มีกำหนดกล่าวแถลงการณ์ ว่าด้วยภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ (11 ก.พ.) และวุฒิสภาของสหรัฐฯ (12 ก.พ.) รวมทั้ง ให้ติดตามถ้อยแถลงสมาชิก Fed และสมาชิกธนาคารกลางยุโรป (ECB)

· ติดตามผลการเลือกตั้งตัวแทนพรรคเดโมแครต ในรัฐ New Hampshire (11 ก.พ.) เพื่อหาตัวแทนพรรค เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

· การทยอยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 4/2019 รวมทั้งการให้มุมมองต่อผลประกอบการในระยะถัดไป

· ประเด็นการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯและจีน โดยให้ติดตามว่า สหรัฐฯจะขยายระยะเวลาผ่อนผันให้แก่บริษัทหัวเว่ย เพิ่มอีก 90 วัน (รอบที่ 3) ในการทำธุรกรรมค้าขายกับบริษัทคู่ค้าในสหรัฐฯ หรือไม่ หลังเส้นตาย 90 วัน รอบที่ 2 จะหมดอายุช่วงกลางเดือน ก.พ.นี้

ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้

ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ GDP ในไตรมาส 4/2019 ของอังกฤษ ยุโรป และเยอรมนี, ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยุโรป, ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิตของจีน, ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้บริโภค ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (โดยมหาวิทยาลัย-มิชิแกน) ของสหรัฐฯ

เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ ถ้อยแถลงของประธาน Fed, ผลการเลือกตั้งตัวแทนพรรค Democrat ในรัฐ New Hampshire และการรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนใน 4Q2019