posttoday

กนง.หั่นดอกเบี้ยเหลือ1%อุ้มเศรษฐกิจเจอพิษไวรัสโคโรนา

05 กุมภาพันธ์ 2563

กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% พยุงเศรษฐกิจทรุด จากไวรัสโคโรนา งบประมาณล่าช้า และภัยแล้งรุนแรง

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 5 ก.พ. 2563 มีมติเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.25% เป็น 1.00% ต่อปี โดยให้มีผลทันที เนื่องจากคณะกรรมการเห็นว่าเศรษฐกิจปี 2563 จะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้เดิม และต่ำกว่าระดับศักยภาพขึ้นมาก จากการระบาดของไวรัสโคโรนา และการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ล่าช้า และภัยแล้งมีความรุนแรง

ทั้งนี้กรอบเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบล่างตลาดทั้งปี เสถียรภาพการเงินเปราะบางมากขึ้นจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ในสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งต้องประสานมาตรการทั้งการเงินและการคลัง

ดังนั้นคณะกรรมการ กนง. เห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะช่วยลดความเสี่ยงจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย รวมทั้งสนับสนุนสภาพคล่องและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้เกิดขึ้นเห็นผลชัดเจน จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้

นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า คณะกรรมการ กนง. เห็นว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้นมากจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดโคโรนา และความล่าช้าของงบประมาณปี 2563 และภัยแล้ง ที่จะส่งผลกระทบกับธุรกิจและการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องจำนวนมาก โดยการท่องเที่ยวมีแนวโน้มลดลงจากที่ประมาณการไว้เดิมมาก การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มลดลง ตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคด้วย

สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการ เพราะความล่าช้าการใช้งบประมาณปี 2563 และมีความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้การบริโภคภาคเอกชนยังได้รับผลกระทบจากรายได้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มชะลดตัวลงมากขึ้น ทั้งจากครัวเรือนภาคบริการ เกษตร และอุตสาหกรรม รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ กนง. ให้ติดตามผลกระทบเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าการเบิกจ่ายของงบประมาณ และภาวะภัยแล้ง ที่อาจรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ รวมทั้งสภาวะการกีดกันทางการค้า และความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูง

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปี 2563 และปี 2564 มีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างตลาดช่วงประมาณการ ตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลงตามแรงกดดันด้านความต้องการซื้อสินค้าที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงราคาพลังงานที่ต่ำกว่าที่คาด จากความต้องการใช้น้ำมันลดลง จากการระบาดของไว้รัสโคโรนา แม้อัตราเงินเฟ้ออาหารสดจะปรับเพิ่มขึ้นบ้างจากภัยแล้ง

ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลาย โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงทรงตัวอยู่ระดับต่ำ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ระดับสูง แต่สินเชื่อธุรกิจปรับลดลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจ

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนแม้ว่าค่าเงินบาทอ่อนค่าลงบ้างเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง แต่ยังอาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย และมีแนวโน้มผันผวน ทั้งนี้ กนง. จะติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน และเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด ท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านต่างประเทศที่มีอยู่สูง รวมถึงให้ติดตามประสิทธิภาพของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื่อให้เงินทุนไหลออก และสนับสนุนให้ ธปท. ดำเนินมาตรการต่อเนื่องร่วมกับภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ระบบการเงินโดยรวมมีความเปราะบางมากขึ้น จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน และธุรกิจเอสเอ็มอี กนง. เห็นว่ามาตรการทางการเงินการคลังต่างๆ ที่ภาครัฐและธปท. ได้ดำเนินการเป็นการช่วยเหลือที่ตรงจุด ทั้งนี้ กนง. จะติดตามผลของมาตรการอย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามการก่อหนี้และพฤติกรรมการชำระหนี้อของภาคครัวเรือนและเอสเอ็มอี พฤติกรรมการหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงของสหกรณ์ออมทรัพย์ การก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ที่อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำกว่าที่ควร

ทั้งนี้คณะกรรมการเห็นว่า ควรใช้มาตรการกำกับดูสถบันการเงิน ทั่งไมพรูเด็นเชียล และ แมคโครพรูเด็นเชียล รวมกันในจังหวะที่เหมาะสม

เมื่อ มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี และภัยแล้ง เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม รวมทั้งจะติดตามปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน