posttoday

ก.ล.ต.เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นตั้ง“กองทุนคุ้มครองผู้ลงทุนในตลาดทุนไทย”

20 พฤศจิกายน 2562

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดงานสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่อง “กลไกการคุ้มครองผู้ลงทุนกับการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน” เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานของประเทศออสเตรเลีย และประเทศมาเลเซีย ร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุน รับข้อร้องเรียนและจัดการข้อพิพาท ตามลำดับ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดงานสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่อง “กลไกการคุ้มครองผู้ลงทุนกับการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน” เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานของประเทศออสเตรเลีย และประเทศมาเลเซีย ร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุน รับข้อร้องเรียนและจัดการข้อพิพาท ตามลำดับ

พร้อมเปิดเวทีเสวนาโดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นต่อแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุนในตลาดทุนไทย ซึ่งถือเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานในการคุ้มครองผู้ลงทุนให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า การคุ้มครองผู้ลงทุนคือภารกิจหลักของ ก.ล.ต. โดย ก.ล.ต. มีระบบรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ลงทุน และมีกระบวนการ
อนุญาโตตุลาการ เพื่อเป็นทางเลือกในการระงับข้อพิพาทระหว่างผู้ลงทุนกับผู้ประกอบธุรกิจ

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการเพิ่มเติมในหลายด้านเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้ลงทุน อาทิ การสร้างความรับรู้เรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (class action) เพื่อช่วยรักษาสิทธิของผู้ลงทุน การปรับปรุงการรับแจ้งเรื่องร้องเรียน 24 ชั่วโมง 7 วัน การพัฒนาแอปพลิเคชัน SEC Check First ให้ผู้ลงทุนใช้ค้นหารายชื่อผู้ให้บริการและผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน ป้องกันการถูกหลอกลวง ตลอดจนมีแนวคิดเรื่องการจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุน ซึ่งจะช่วยให้ตลาดทุนไทยมีกลไกในการคุ้มครองผู้ลงทุนที่มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นอย่างเป็นระบบและครบวงจร เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุน

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) กล่าวว่า แต่เดิมนั้น ผู้ประกอบธุรกิจมีการจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุนร่วมกับทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการดูแลความเสียหายที่เกิดจากข้อพิพาทระหว่างผู้ลงทุนและผู้ประกอบธุรกิจในตราสารที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ดังนั้น การจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุนในตลาดทุนไทย จะมีผลดีต่อการให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมตราสารนอกเหนือจากที่มีอยู่เดิม

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC)กล่าวว่า การสร้างกลไกขึ้นมาคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นไปตามแนวทางในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ที่ผู้ประกอบธุรกิจให้ความสำคัญกับผู้ลงทุนเป็นหลัก (put investor first) ซึ่งจะมาช่วยเสริมให้แนวคิดดังกล่าวมีความชัดเจน เป็นรูปธรรม ครอบคลุมทั้งระบบยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การมีหน่วยงานที่เข้ามาดูแลผู้ลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุนในตลาดทุนไทยจะต้องมีวัตถุประสงค์การดำเนินงานที่ชัดเจน และมีกระบวนการที่เป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย

นายเก่งกล้า รักเผ่าพันธุ์ นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) กล่าวว่า ผู้ลงทุนรายย่อยในตลาดทุนไทยควรได้รับการคุ้มครองอย่างถูกต้องและเหมาะสมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการมีมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาจากการใช้บริการกับผู้ประกอบธุรกิจ และเมื่อปัญหาเกิดขึ้นกับผู้ลงทุนก็ควรมีกลไกที่ช่วยเยียวยาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้ลงทุน โดยจะต้องสอดคล้องกับความเสี่ยงตามแต่ละประเภทผู้ประกอบธุรกิจหรือประเภทผลิตภัณฑ์ที่ผู้ลงทุนต้องเผชิญ ซึ่งการมีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่มีประสิทธิภาพย่อมนำมาซึ่งความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนต่อตลาดทุนไทยในท้ายที่สุด