posttoday

สรรพสามิตเร่งทบทวนขึ้นภาษีบุหรี่40%

16 ตุลาคม 2562

ยสท.อ่วมขึ้นภาษีบุหรี่ 40% ปีหน้า สะเทือนชาวไร่ผู้ปลูกใบยาสูบ ทำให้สรรพสามิตเร่งทวนชะลอการขึ้นภาษีบุหรี่เป็นการด่วน

ยสท.อ่วมขึ้นภาษีบุหรี่ 40% ปีหน้า สะเทือนชาวไร่ผู้ปลูกใบยาสูบ ทำให้สรรพสามิตเร่งทวนชะลอการขึ้นภาษีบุหรี่เป็นการด่วน

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี ในฐานะรองโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า จากการหารือกับผู้ประกอบการยาสูบโดยเฉพาะการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นภาษีบุหรี่จาก 20% เป็น 40% ในวันที่ 1 ต.ค. 2563 เพราะจะทำให้บุหรี่ที่ขายอยู่ซองละ 60 บาท ในปัจจุบัน ต้องขายซองละ 90-100 บาท ทำให้ยอดขายบุหรี่น้อยลงมีการต่อการดำเนินการงานของ ยสท.

"ยสท. บอกว่าไม่ไหว หากปรับขึ้นภาษีบุหรี่ในปีหน้าทันทีจาก 20% เป็น 40% ซึ่งกรมสรรพสามิตจะเร่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้ข้อสรุปคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบว่า จะให้มีการเลื่อนขึ้นภาษีบุหรี่ 40% ไปหรือไม่ หรือ จะให้มีการปรับเพิ่มขึ้่น 5% ทุก 2 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการบุหรี่มีเวลาปรับตัว" นายณัฐกร กล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมสรรพสามิตได้ขยายเวลาการขึ้นภาษีบุหรี่ตามมูลค่าจาก 20% เป็น 40% จากวันที่ 1 ต.ค. 2562 เป็น 1 ต.ค. 2563 เนื่องจาก ยสท. ได้รับผลกระทบยอดขายลดลงจำนวนมาก จนต้องลดการซื้อใบยาสูบจากชาวไร่จนได้รับความเดือดร้อน จนทำหนังสือร้องเรียนกับรัฐบาลอย่างต่อเนื่องให้ยกเลิกการขึ้นภาษีบุหรี่ออกไปก่อน

สรรพสามิตเร่งทบทวนขึ้นภาษีบุหรี่40%

นายณัฐกร กล่าวว่า สรรพสามิตปรับปรุงหลักเกณฑ์ภาษีสรรพสามิตสำหรับยาเส้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกและผลิตยาเส้น ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราภาษียาเส้น เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2562 จากอัตราเดิม 0.005 บาท/กรัม เป็นอัตรา 0.10 บาท/กรัม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1) ปรับลดอัตราภาษีตามปริมาณสำหรับเกษตรกรผู้เพาะปลูก หั่นและจำหน่ายและผู้ผลิตรายย่อยที่มีปริมาณการผลิตเฉลี่ยไม่เกิน 12,000 กิโลกรัมต่อปี ให้เสียภาษีในอัตรา 0.025 บาทต่อกรัม สำหรับจำนวนยาเส้นที่เกิน 12,000 กิโลกรัมต่อปี ให้เสียภาษีในอัตรา 0.10 บาท ต่อกรัม ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวกำหนดให้มีระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 ถึง 31 ธ.ค. 2563 โดยหากพ้นกำหนดในช่วงเวลาดังกล่าวต้องเสียภาษีในอัตรา 0.10 บาทต่อกรัม โดยจากฐานข้อมูลการชำระภาษียาเส้น ปีงบประมาณ 2562 พบว่า จากผู้ผลิตยาเส้นที่เป็นเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อย ที่ผลิตได้เกิน 12,000 กิโลกรัมต่อปี จำนวนเพียง 15 ราย จากทั้งหมด 10,450 ราย โดยทั้ง 15 รายเป็นผู้ผลิตที่อยู่ในจังหวัดหนองคาย เพชรบูรณ์ และชัยภูมิ ในการลดอัตราภาษีสำหรับกรณีดังกล่าวนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกและผลิตยาเส้น รวมถึงผู้ผลิตยาเส้นรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราภาษีดังกล่าว ให้สามารถปรับตัวรองรับกับนโยบายของรัฐบาลด้านสาธารณสุขในการลดการบริโภคยาสูบและยาเส้นในอนาคต

2) ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติม โดยปรับแก้ไขการได้รับสิทธิเสียภาษีในอัตรา 0 ให้รวมถึงผู้ค้าคนกลางเพื่อขายเป็นวัตถุดิบให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบ

3) กรมสรรพสามิตได้มีการประกาศเรื่อง ขยายกำหนดเวลาในการทำบัญชีและงบเดือนและการยื่นงบเดือนแก่ผู้ประกอบการยาสูบประเภทยาเส้นที่ปลูกและหั่นเอง เพื่อขายเป็นวัตถุดิบให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบซึ่งเสียภาษีในอัตราศูนย์ ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระของเกษตรกรและเน้นการอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรรายย่อย

นายณัฐกร กล่าวว่า การขยายเวลาช่วยเกษตรกรผู้ประกอบการยาเส้นออกไป 1 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายเวลาการขึ้นภาษีบุหรี่ 40% ทั้งนี้หากจะมีการขยายเวลาการขึ้นภาษีบุหรี่ออกไปอีก เป็นเรื่องที่ฝ่ายนโยบายจะเห็นชอบต่อไป