posttoday

ธปท.จี้รัฐงัดกฎหมายปราบรายใหญ่ผูกขาดธุรกิจ

30 กันยายน 2562

ธปท.เร่งภาครัฐออกกฎป้องกันธุรกิจรายใหญ่ผูกขาด เอาเปรียบผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้บริโภค

ธปท.เร่งภาครัฐออกกฎป้องกันธุรกิจรายใหญ่ผูกขาด เอาเปรียบผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้บริโภค

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน BOT Symposium 2019 หัวข้อ "พลิกโฉมเศรษฐกิจ พิชิตการแข่งขัน (Competitive Thailand) ว่า เป็นเรื่องที่สำคัญมากในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคต การแข่งขันต้องมีการพัฒนาด้านนวัตกรรม สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศได้ และต้องทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่าภาคธุรกิจของไทยยังกระจุกตัวอยู่กับผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลัก ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ไม่สามารถแข่งขันได้ ตรงนี้เป็นผลกระทบระยะยาวต่อการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ

ทั้งนี้ ภาครัฐมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมและออกแบบการแข่งขันที่จะทำให้ผลิตภาพและศักยภาพของประเทศพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง ผ่าน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1. ภาครัฐจะต้องดูแลไม่ให้ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งเอาเปรียบผู้ประกอบการรายอื่นหรือใช้อำนาจเหนือตลาดกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ บังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดอย่างเข้มงวดและไม่เลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ นโยบายและมาตรการของภาครัฐเองควรมีความเสมอภาค ไม่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งเป็นพิเศษ 2. ภาครัฐต้องเน้นการช่วยเหลือเพื่อเพิ่มผลิตภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีระบบจูงใจ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมของการทำธุรกิจ การให้เงินอุดหนุนหรือให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อลดภาระผู้ประกอบการในระยะสั้น

3. ภาครัฐต้องทบทวนปรับเปลี่ยนกฎระเบียบให้ยืดหยุ่น สอดรับกับสภาวะแวดล้อมและรูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไป เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีต้นทุนต่อหน่วยของการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์หลายอย่างสูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ โดยกฎหมายที่ไม่จำเป็นควรถูกยกเลิก ข้อบังคับที่ล้าหลังควรได้รับการแก้ไขให้เท่าทันกับสภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน และ 4.การแข่งขันจะต้องไม่นำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ผู้บริโภคจะต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม กำไรที่เพิ่มขึ้นต้องมาจากการเพิ่มผลิตภาพ ไม่ใช่มาจากการผลักภาระต้นทุนไปให้ผู้บริโภคหรือมาจากการรวมตัวกันของผู้ประกอบการเพื่อสร้างอำนาจผูกขาด

"ในโลกยุคดิจิทัล การคุ้มครองผู้บริโภคจะต้องรวมถึงการใช้ข้อมูลของผู้บริโภคด้วย ธุรกิจจะต้องไม่อาศัยศักยภาพในการประมวลผลข้อมูลที่สูงกว่าหาประโยชน์จากผู้บริโภคอย่างไม่เป็นธรรม" นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท กล่าวอีกว่า ภาคการเงินเป็นภาคธุรกิจหนึ่งที่นวัตกรรมและการแข่งขันได้เปลี่ยนแปรงรูปแบบการทำธุรกิจไปจากเดิมหลายด้าน ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงในระบบการชำระเงินของประเทศอย่างก้าวกระโดด ผ่านระบบพร้อมเพย์และการใช้คิวอาร์โค้ด ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการชำระเงินหลากหลายประเภททั้งที่เป็นธนาคารพาณิชย์และไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์สามารถใช้ประโยชน์จากมาตรฐานกลางและโครงสร้างพื้นฐานกลางที่เชื่อมโยงกันได้ โดยการแข่งขันที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ประชาชนและธุรกิจขนาดย่อมได้รับความสะดวกในการชำระเงินมากขึ้น