posttoday

ซีไอเอ็มบีหั่นศก.ไทยโตเหลือ2.8%เร่งรัฐกระตุ้นการลงทุน

30 สิงหาคม 2562

สงครามการค้าโลกลามไทยเพิ่ม กระทบลงทุนและการบริโภค จากที่ก่อนหน้านี้กระทบภาคการส่งออก

สงครามการค้าโลกลามไทยเพิ่ม กระทบลงทุนและการบริโภค จากที่ก่อนหน้านี้กระทบภาคการส่งออก

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ความตึงเครียดจากสงครามการค้า ระหว่างสหรัฐกับจีน เริ่มเห็นผลกระทบต่อประเทศไทยแล้ว ส่งผลให้ภาคการลงทุนเอกชนมีแนวโน้มที่จะติดลบในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะภาคการส่งออกมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่อง แต่จะไม่รุนแรงเท่าครึ่งแรกของปี ผู้ประกอบการปรับแผนลดกำลังการผลิต เกิดภาวะเงียบเหงา ส่งผลกระทบต่อมายังภาคการบริโภค การจ้างงานจะมีแนวโน้มลดลง ชั่วโมงการทำงานมีแนวโน้มถูกตัดมากขึ้น

“ธนาคารเชื่อว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐจะช่วยประคองเศรษฐกิจไม่ให้ย่ำแย่ไปมากกว่านี้ ผ่านการประคองการบริโภคระดับล่าง อย่างไรก็ดี สำนักวิจัยฯ มองว่านโยบายที่จะกระตุ้นภาคการลงทุนมีความจำเป็นอย่างมาก ธนาคารหวังจะได้เห็นแรงกระตุ้นภาคการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่นโยบายการเงินมีโอกาสจะได้เห็นมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม ธนาคารคาดการณ์ว่าทางการจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ เพื่อประคองเศรษฐกิจ โดยลดภาระค่าใช้จ่ายภาคเอกชน อีกทั้งจะช่วยประคองผู้ส่งออก โดยกดค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงด้วย” นายอมรเทพ กล่าว

ทั้งนี้ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2562 ลงจาก 3.3% (ที่ประมาณการไว้เดือนมิ.ย.2562) เหลือ 2.8% ด้านค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้จากภาวะปัจจุบัน เพราะแม้วันนี้ นักลงทุนจะให้น้ำหนักกับเฟดโดยเชื่อว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยถึง 4 ครั้ง แต่สำนักวิจัยฯมองสวนทางกับตลาด โดยมองว่าเฟดไม่มีความจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยมากขนาดนั้น มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 3 ครั้ง ซึ่งถ้าเฟดลดดอกเบี้ยเท่ากับที่สำนักวิจัยฯ คาดการณ์ ตลาดจะปรับปรุงมองการลงทุน โดยกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์สกุลดอลลาร์มากขึ้น ผลคือ ค่าเงินบาทและค่าเงินภูมิภาคจะกลับมาอ่อนค่าลงได้เล็กน้อย คาดว่าค่าเงินบาทช่วงปลายปี จะอยู่ที่ 30.9 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ด้านนาย โดนัล ฮานนา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาค กลุ่มซีไอเอ็มบี เปิดเผยว่า ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีนที่ขยายจากสงครามการค้าต่อเนื่องมาเป็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เปรียบเหมือนกับการค่อยๆ ดึงม่านไม้ไผ่ลงมาปิดกั้นความสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิด 5 ประเด็นที่น่าจับตา ได้แก่

1. เทคโนโลยี 5G ในอนาคต สหรัฐและจีนต่างพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองโดยแยกจากกัน สหรัฐก็จะพัฒนาทางดานเทคโนโลยีทางหนึ่ง จีนก็พัฒนาเทคโนโลยีอีกทางหนึ่ง ทำให้ผู้บริโภคต้องเลือกว่าจะใช้เทคโนโลยีของใคร ส่งผลใหต้นทุนสูงขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานต่ำลง อาจจะกระทบกับไทยและอาเซียนได้เราต้องมาดูว่าจะต้องทำอย่างไรในภาวะเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน

2. เศรษฐกิจจีนชะลอลงจากสงครามการค้า แต่ที่เศรษฐกิจจีนกำลังโตตอนนี้เป็นการโตเหนือศักยภาพ ด้วยการอัดฉีดทางการเงินการคลัง จึงมีผลกระทบคือ เงินเฟ้อสูง ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น

3. จีนเร่งโตโดยนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศจนขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จากที่เคยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 10% รวมถึงการท่องเที่ยวของชาวจีนด้วย จากการที่ชาวจีนออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศกันมาก หากจีนจำกัดการนำเข้าและการท่องเที่ยวจะกระทบกับจำนวนชาวจีนที่มาเที่ยวไทย

4. จีนเพียงเติบโตช้าแต่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต จีนมียอดสินเชื่อที่โตสูงเกินจีดีพี หากบริหารจัดการไม่ดี จะมีปัญหาผลกระทบกับไทยและอาเซียนได้ จึงเป็นเรื่องดีที่จีนพยายามรักษาเสถียรภาพเอาไว้ให้เกิดภาวะวิกฤต

5. นักลงทุนนักวิเคราะห์มองว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยลง 4 ครั้ง หรือ 1% ภายใน 12 เดือนข้างหน้า แต่ซีไอเอ็มบีมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ถึงขั้นถดถอย การลดดอกเบี้ยอาจจะไม่ได้แรงเท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ เพราะฉะนั้นโอกาสที่เงินจะไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ก็เป็นไปได้ โอกาสที่ค่าเงินในตลาดเกิดใหม่จะกลับมาอ่อนค่าก็เป็นไปได้ ซึ่งเป็นผลดีกับบาท เพราะบาทแข็งค่อนข้างแรงและทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง เป็นผลดีกับภาคการลงทุน

นอกจากนี้ มีความเสี่ยง 2 ประเด็น ที่ต้องจับตา 1. Brexit ไม่น่ากระทบไทยมากนัก ยกเว้นว่าจะลามไป EU 2. ทรัมป์จะทำอย่างไรในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปีหน้า ถ้าเศรษฐกิจที่ชะลอส่งผลให้คะแนนนิยมแย่ลง ทรัมป์อาจหันไปสู่กับอิหร่านเพื่อเพิ่มคะแนนความนิยมของตัวเอง หรืออาจไปสู้กับราคาน้ำมันทำให้ราคาสูงขึ้นเพื่อเป็นผลดีกับประเทศส่งออกน้ำมันอย่างสหรัฐ
ดังนั้น การปรับลดลงของม่านไม้ไผ่เป็นประเด็นที่ไทยและประเทศอาเซียนต้องระมัดระวัง ต้องพยายามเสริมความสัมพันธ์กันในอาเซียนให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับภาวะของความไม่แน่นอน และเร่งลดต้นทุนพร้อมสร้างประสิทธิภาพการผลิต