posttoday

ไทยพาณิชย์คุมเข้มภาระหนี้ เตรียมขยับอัตรากู้ต่อรายได้ให้ต่ำลง

11 กุมภาพันธ์ 2562

ธนาคารไทยพาณิชย์ คุมความเสี่ยงลูกค้ารายย่อย เล็งดูแลภาระหนี้ต่อรายได้ไม่ให้เกิน 50%

ธนาคารไทยพาณิชย์ คุมความเสี่ยงลูกค้ารายย่อย เล็งดูแลภาระหนี้ต่อรายได้ไม่ให้เกิน 50%

นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า แม้ยุทธศาสตร์จะมุ่งเน้นสินเชื่อที่มีผลตอบแทนสูง แต่ธนาคารยังคงมีแผนปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังโดยเฉพาะการกำหนดกรอบภาระหนี้ต่อรายได้ของผู้กู้แต่ละราย จึงมีแนวคิดให้ภาระหนี้ต่อรายได้ของลูกค้ารายย่อยไม่ควรเกิน 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 60-70% เชื่อว่าจะช่วยควบคุมคุณภาพสินเชื่อให้ดีขึ้น ปัจจุบันหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารอยู่ในระดับต่ำ 2.85% และปีนี้ตั้งเป้าควบคุมไม่ให้เอ็นพีแอลเกิน 3%

อย่างไรก็ดี การลดภาระหนี้ต่อรายได้ สอดคล้องกับความเป็นห่วงหนี้ครัวเรือนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขณะเดียวกัน สมาคมธนาคารไทยกำลังออกหลักเกณฑ์มาตรฐานคำนวณภาระหนี้ต่อรายได้ เป็นเรื่องที่ดีในการบริหารความเสี่ยงการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

“แต่ละธนาคารมีการพิจารณาภาระหนี้ต่อรายได้เป็นหลักในการปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว โดยอัตราจะแตกต่างกันไปตามประเภทสินเชื่อ ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของสินเชื่อนั้นๆ” นางอภิพันธ์ กล่าว

นางอภิพันธ์ กล่าวว่า มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย มีผลกระทบกับการปล่อยสินเชื่อบ้านของธนาคารไทยพาณิชย์ โดยเฉพาะความต้องการกู้บ้านสัญญาที่ 2 และ 3 ในช่วงเวลาที่ธนาคารกำลังลดพอร์ตสินเชื่อบ้านซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีผลตอบแทนต่ำ

ทั้งนี้ ได้เลิกกลยุทธ์แข่งขันแคมเปญดอกเบี้ยต่ำ 3 ปีแรก ลูกค้าอาจรู้สึกว่าดอกเบี้ยธนาคารแพงขึ้น ทั้งที่ดอกเบี้ยกระดานไม่ได้เปลี่ยน ส่งผลให้ลูกค้าเลือกไปใช้ธนาคารอื่นแทน ลดพอร์ตสินเชื่อบ้านโดยปริยาย โดยเริ่มเห็นผลตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว และจะเห็นยอดคงค้างสินเชื่อบ้านลดลงในปี 2563

ดังนั้น ปีนี้คาดว่าอัตราการเติบโตสินเชื่อบ้านทั้งสินเชื่อปล่อยใหม่และยอดคงค้างจะอยู่ที่ 0% โดยสินเชื่อปล่อยใหม่อยู่ที่ 1 แสนล้านบาทเท่ากับปีที่แล้ว ส่วนยอดคงค้างสิ้นไตรมาส 4 ปี 2561 อยู่ที่ 6.44 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่โตเพียง 0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเอ็นพีแอลสินเชื่อบ้าน 2%

นางอภิพันธ์ กล่าวว่า แผนการขยายสินเชื่อที่มีผลตอบแทนสูงอย่างสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน พยายามเปิดทางให้ลูกค้านอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ รวมทั้งจะรุกฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ เช่น แม่มณี หรือผู้ค้าในตลาดสด ที่ไม่มีสเตทเมนต์แต่ได้รับความน่าเชื่อถือจากเจ้าของตลาด สร้างความเชื่อมั่นให้ธนาคารปล่อยกู้ได้มากขึ้น