posttoday

ธพว.ออกพันธบัตร3หมื่นล.

23 สิงหาคม 2561

ธพว.โชว์แผน 2 ปี ออกพันธบัตรระดมเงิน 3 หมื่นล้าน หวังบริหารต้นทุนรับปล่อยกู้คงที่ยาวเสริมแกร่งเอสเอ็มอี

ธพว.โชว์แผน 2 ปี ออกพันธบัตรระดมเงิน 3 หมื่นล้าน หวังบริหารต้นทุนรับปล่อยกู้คงที่ยาวเสริมแกร่งเอสเอ็มอี

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการ ผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า ธนาคารมีแผนออกพันธบัตรธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2 วงเงิน 7,000 ล้านบาท ภายในไตรมาส 4  หรือในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ ขายให้กับนักลงทุนสถาบัน

ทั้งนี้ การออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินฝากมาปล่อยสินเชื่อต่อในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของเอสเอ็มอีแบงก์ที่มาออกเป็นพันธบัตรระยะยาว 3 ปี ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารใช้วิธีการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน มีรัฐวิสาหกิจ บริษัทประกัน และกองทุนที่สนใจแต่ก็ยังเป็นการระดมระยะสั้นแค่ 1-2 ปี แต่การออกพันธบัตรจะทำให้ธนาคารสามารถบริหารต้นทุนทางการเงินที่ยาวขึ้นสอดรับกับการปล่อยกู้ดอกเบี้ยคงที่นานถึง 7 ปีได้ ส่วนดอกเบี้ยที่ระดับ 2.33% ก็จะเอามาเฉลี่ยกับแหล่งเงินอื่นซึ่งค่าเฉลี่ยต้นทุนทางการเงินของธนาคารอยู่ที่ 1.4% จึงทำให้ธนาคารยังบริหารจัดการเรื่องต้นทุนได้

"พันธบัตรที่เตรียมออกครั้งที่ 2 ยังไม่ได้สรุปว่าจะจ่ายอัตราดอกเบี้ยเท่าไร แต่เชื่อว่านักลงทุนจะสนใจ เนื่องจากผลตอบแทนอยู่ในระดับสูงจูงใจ ประกอบกับได้จัดอันดับเครดิตองค์กร จากบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ให้อยู่ในระดับ AAA ถือเป็นระดับสูงสุดเท่ากับเรตติ้งของรัฐบาลไทย จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ผู้ลงทุนเกิดความเชื่อมั่นต่อพันธบัตรของธนาคาร" นายมงคล กล่าว

นอกจากนี้ ธนาคารยังเตรียมแผนออกพันธบัตรต่อเนื่องในปี 2562 โดยจะออกทุกไตรมาส ไตรมาสละ 5,000 ล้านบาท รวมเป็น 2 หมื่นล้านบาทในปีหน้า ส่วนในปี 2561 ออกแค่ 2 รอบนี้ ที่จำนวน 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น รวม 2 ปี คิดเป็นวงเงินออกพันธบัตรรวม 3 หมื่นล้านบาท

ก่อนหน้านี้ ธนาคารได้ทำการออกพันธบัตรครั้งที่ 1/2561 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2564 วงเงิน 3,000 ล้านบาท อายุ 3 ปี ราคาหน่วยละ 1,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.33% ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนอย่างมาก

นายมงคล กล่าวต่อว่า ธนาคารยังไม่มีแผนจะเปิดรับฝากเงินจากประชาชนทั่วไป แม้ในกฎหมายจะเปิดช่องให้ทำได้ เนื่องจากพันธกิจของธนาคารคือการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา จึงมีความเสี่ยงมากกว่า เพราะต้องทำตามนโยบายของรัฐ จึงต้องการมุ่งเรื่องการปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีมากกว่า