posttoday

ช่องว่างรวยจนพุ่ง!สศช.พบปี’58เหลื่อมล้ำห่างกัน22เท่า

03 ธันวาคม 2559

สังคมไทยยังเหลื่อมล้ำรุนแรง คนรวยคนจนมีรายได้ต่างกัน 22 เท่า เสี่ยงยากไร้ซ้ำซาก 26.9 ล้าน คนแต่คนจนที่มีรายได้ไม่ถึง 3,000 บาทมีเฉียด 5 ล้านคนเท่านั้น

สังคมไทยยังเหลื่อมล้ำรุนแรง คนรวยคนจนมีรายได้ต่างกัน 22 เท่า เสี่ยงยากไร้ซ้ำซาก 26.9 ล้าน คนแต่คนจนที่มีรายได้ไม่ถึง 3,000 บาทมีเฉียด 5 ล้านคนเท่านั้น

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ณ สิ้นปี 2558 ยังคงรุนแรงขึ้น เป็นผลจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ทำให้คนเข้าถึงการพัฒนาทักษะและได้ผลตอบแทนที่แตกต่างกันเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ สัดส่วนประชากรที่มีรายได้สูงสุดคิดเป็น 10% ของประชากรทั้งหมด กลุ่มนี้มีรายได้สูงกว่าประชากรที่มีรายได้ต่ำสุดถึง 22 เท่า ซึ่งถือเป็นช่องว่างที่สูงและยังต้องได้รับการพัฒนาให้ต่อเนื่อง ขณะที่ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินนั้น พบว่า บัญชีเงินฝาก 0.1% ของบัญชีทั้งหมด มีเงินฝากรวมกันถึง 49.2% ของเงินฝากทั้งหมด การถือครองที่ดินของกลุ่มประชากร 10% ที่มีรายได้สูงสุดถือครองที่ดินอยู่ 61.5% ส่วนประชากรอีก 90% ถือครองที่ดินรวมกัน 38.5% รวมทั้งยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในคุณภาพของบริการทั้งการศึกษาและสาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม คนจนในประเทศไทยหรือกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 2,644 บาท/เดือน ลดลงเหลือ 4.85 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 7.2% ของประชากรทั้งหมด จากปี 2557 มีจำนวน 7.1 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 10.53% ของประชากรทั้งหมด หรือลดลง 2.25 ล้านคน

นอกจากนี้ แม้ความยากจนจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ยังมีกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงที่กลับลงไปอยู่ในกลุ่มยากจนต่อไปอีก หากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ มีจำนวน 26.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 40% ของประชาชนที่มีรายได้น้อยที่สุด โดยกลุ่มเกือบจนหรือมีรายได้สูงกว่า 2,644 บาท/เดือน แต่ต่ำกว่า 3,173 บาท/เดือน มีอยู่ 5.6 ล้านคน ส่วนกลุ่มที่มีรายได้สูงขึ้น แต่ไม่เกิน 5,344 บาท/เดือน มีจำนวน 16.5 ล้านคน

“กลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการยกระดับตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่จะต้องมีทั้งการสร้างโอกาส อาชีพ และการมีรายได้ที่มั่นคงขึ้น รัฐบาลต้องช่วยเหลืออุดหนุนและลดรายจ่าย นอกจากนี้ อาจจะต้องออกกฎหมายลดความเหลื่อมล้ำและการสนับสนุนการพัฒนาตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” นายปรเมธี กล่าว

สำหรับภาวะสังคมประจำไตรมาส 3/2559 (ก.ค.-ก.ย.) พบว่า อัตราการว่างงานอยู่ที่ 3.62 แสนคน ทรงตัวอยู่ที่ 0.94% แต่มีสัญญาณดีขึ้นในระยะต่อไป