posttoday

ผิดชำระหนี้แบงก์รัฐพุ่ง ส่วนใหญ่กลุ่มกู้ซื้อบ้าน-รถยนต์

24 ตุลาคม 2559

แบงก์รัฐกุมขมับ เดือน มิ.ย.ผิดชำระหนี้เพิ่มพรวด 28% จากไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่กู้ซื้อบ้าน รถยนต์

แบงก์รัฐกุมขมับ เดือน มิ.ย.ผิดชำระหนี้เพิ่มพรวด 28% จากไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่กู้ซื้อบ้าน รถยนต์

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การผิดชำระหนี้ที่เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือแบงก์ที่รับฝากเงิน 6 แห่ง ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยหนี้ที่ผิดชำระ 1-3 เดือน ล่าสุดเดือน มิ.ย. 2559 อยู่ที่ 1.76 แสนล้านบาท เทียบกับเดือน มี.ค. 2559 อยู่ที่ 1.38 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 4 หมื่นล้านบาท หรือ 28%

ทั้งนี้ การผิดชำระหนี้ส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล เช่น การผิดชำระหนี้เงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย กู้เพื่อซื้อรถยนต์ และการบริโภคใช้จ่ายส่วนตัว เป็นต้น การผิดชำระหนี้ดังกล่าวจะทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของแบงก์รัฐ 6 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามไปด้วย

สำหรับหนี้เอ็นพีแอลของแบงก์รัฐ 6 แห่ง ล่าสุดเดือน มิ.ย. 2559 อยู่ที่ 9.24 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค. 2559 ประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยธนาคารได้เร่งเจรจากับลูกหนี้ที่ผิดชำระหนี้ให้กลับมาชำระหนี้ เพื่อไม่ให้ผิดชำระหนี้เกิน 3 เดือน จนตกชั้นกลายเป็นหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ภาพรวมการดำเนินงานแบงก์รัฐทั้งหมด เดือน มิ.ย. มีสินเชื่อ 4.16 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.24% จากเดือนก่อนหน้า ด้านเงินรับฝากมี 4.27 ล้านล้านบาท ขยายตัว 6.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 1.0% จากเดือนก่อนหน้า ระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือบีไอเอส 12.5% เพียงพอต่อการดำเนินงานในระยะต่อไป

นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ได้สั่งการให้ฝ่ายบริหารเร่งรัดเรื่องการปล่อยสินเชื่อกับการติดตามเรื่องหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันที่คนไทยทั้งประเทศอยู่ในความโศกเศร้า ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว อาจจะส่งผลกระทบถึงลูกค้าบางกลุ่ม ทำให้มีรายได้ลดลง เช่น กลุ่มที่ทำอาชีพบริการ และอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ จึงแนะนำให้ลูกหนี้ ธอส.ที่มีปัญหา สามารถเข้ามาติดต่อเพื่อขอปรับโครงสร้างกับธนาคารได้