posttoday

สปส.จ้าง5บลจ.บริหารกองทุนเพิ่มผลตอบแทน

25 กันยายน 2556

อุตสาหกรรมกองทุนอู้ฟู่ ประกันสังคมเล็งจ้างเอกชนบริหารเงินเพิ่ม ปรับแผนเพิ่มสินทรัพย์เสี่ยง 36%

อุตสาหกรรมกองทุนอู้ฟู่ ประกันสังคมเล็งจ้างเอกชนบริหารเงินเพิ่ม ปรับแผนเพิ่มสินทรัพย์เสี่ยง 36%

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในอนาคต สปส. มีแผนที่จะเพิ่มจำนวนเงินที่จะจ้างเอกชนบริหารให้มากขึ้นจากปัจจุบัน ที่จัดตั้งเป็นกองทุนส่วนบุคคล และว่าจ้างบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บริหารมูลค่ารวม 5.7 หมื่นล้านบาท จากจำนวนเงินกองทุนของ สปส. ที่มีอยู่ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2556 สปส. ลงนามในสัญญาจ้าง บลจ. 5 ราย ได้แก่ บลจ.กสิกรไทย ธนชาต กรุงไทย เอ็มเอฟซี และไทยพาณิชย์ ร่วมบริหารเงินกองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพ รายละ 9,000 ล้านบาท รวมเป็น 4.5 หมื่นล้านบาท โดยมีระยะเวลาบริหาร 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. นี้

“เงินจำนวนนี้ เดิมเป็นเงินที่ สปส. บริหารเอง และสัดส่วนที่จะนำเงินออกมาให้เอกชนบริหารมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ในขณะนี้” นายจีรศักดิ์ กล่าว

นายจีรศักดิ์ เปิดเผยว่า ทั้ง 5 บลจ. จะต้องบริหารเงินให้ได้ผลตอบแทนไม่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ตามนโยบายการลงทุนที่กำหนดให้ลงทุนในตราสารหนี้มากกว่า 80% และหุ้นไม่เกิน 20% ซึ่งในปีใดที่ผลตอบแทนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน บลจ.จะลดค่าธรรมเนียมในการบริหารลง และจะยกเลิกสัญญาบริหารหากทำผลตอบแทนย้อนหลัง 3 ปีต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

“อย่างไรก็ตาม ค่าธรรมเนียมเป็นเพียงส่วนหนึ่งในหลักเกณฑ์ที่ สปส. ใช้คัดเลือกบริษัทเอกชนที่เข้ามาบริหารเงินกองทุน” นายจีรศักดิ์ กล่าว

ก่อนหน้านี้ สปส. จัดสรรเงินจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท ให้ บลจ.กสิกรไทย และ ธนชาต บริหารแห่งละ 6,000 ล้านบาท ซึ่งจะครบสัญญาการบริหารในกลางปีหน้า

นอกจากนี้ สปส. ยังเตรียมปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อแยกหน่วยงานด้านการลงทุนออกมาเป็นองค์กรอิสระ เพื่อความคล่องตัวในการบริหารเงิน ซึ่ง นายจีรศักดิ์ คาดว่า จะเริ่มต้นได้ในปี 2557 โดยเมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการ สปส. อนุมัติให้เพิ่มจำนวนพนักงานด้านการลงทุนเป็น 44 ตำแหน่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ 20 ตำแหน่ง และอนุมัติเพิ่มอัตราเงินเดือนให้ใกล้เคียงกับภาคเอกชน

นายวิน พรหมแพทย์ หัวหน้างานลงทุน สำนักบริหารการลงทุน สปส. กล่าวว่า ในแผนการลงทุน 5 ปี ของ สปส. มีแผนจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น อสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพิ่มขึ้นเป็น 36% จากปัจจุบันที่กำหนดสัดส่วนไว้ไม่เกิน 20% และสินทรัพย์ที่มีความมั่นคง ที่กำหนดไว้ 80% ในปัจจุบันจะลดเหลือ 64%

“การปรับสัดส่วนลงทุนดังกล่าวน่าจะทำให้กองทุนมีผลตอบแทนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 5.5% จาก 4.5% ในปัจจุบัน ขณะที่ในแต่ละปี สปส. จะมีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท” นายวิน กล่าว