posttoday

การวางแผนการเงินหลังวัยเกษียณ

11 กรกฎาคม 2556

โดย...สาธิต บวรสันติสุทธิ์ CPF

โดย...สาธิต บวรสันติสุทธิ์ CPF

เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญไปบรรยายในโครงการปัจฉิมนิเทศบุคลากรเกษียณอายุงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ของมหาวิทยาลัยมหิดล คำถาม 2 คำถามที่คนวัยเกษียณต้องการคำตอบสำหรับการวางแผนการเงินหลังวัยเกษียณก็คือ

  • มาตรฐานการใช้ชีวิตจะเป็นอย่างไร
  • คาดว่าจะมีอายุยาวนานเท่าไรหลังเกษียณ
  • มาตรฐานการใช้ชีวิตจะเป็นอย่างไร

โดยหลักมาตรฐานของการมีชีวิตวัยเกษียณที่ดี ก็คือ การที่เรามีคุณภาพชีวิตหลังเกษียณดีเท่ากับคุณภาพชีวิตก่อนเกษียณ ซึ่งหมายถึงว่า ถ้าก่อนเกษียณ เราใช้ชีวิตในการกินอยู่อย่างไร หลังเกษียณก็ควรมีคุณภาพการใช้ชีวิตอย่างเดียวกัน

แต่ที่เป็นคำถามกันมากก็คือ แล้วอย่างนี้เราควรมีเงินสำหรับการใช้จ่ายในช่วงชีวิตหลังเกษียณเท่าไหร่ดี ตามมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลก ก็บอกเหมือนกันว่า รายได้หลังเกษียณควรจะประมาณ 70% ของรายได้ก่อนเกษียณ ซึ่งผมเองก็สงสัยมาตลอดว่า “ทำไมต้อง 70% เป็น 50% หรือ 90%” จนเมื่อได้อ่านรายงานวิจัยค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยของคนไทยก่อนวัยเกษียณเทียบกับหลังเกษียณ ถึงได้เข้าใจ

จากตารางประกอบ จะเห็นว่าคนในวัยหลังเกษียณ หากต้องการคงมาตรฐานการดำรงชีพเช่นเดียวกับวัยก่อนเกษียณจะต้องมีเงินสำหรับรองรับค่าใช้จ่ายประมาณ 72% ของค่าใช้จ่ายในช่วงวัยก่อนเกษียณ โดยสามารถแบ่งค่าใช้จ่ายได้เป็น 3 ประเภท คือ

ค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย ได้แก่ ค่าอาหาร เพราะยังไงเราก็ต้องกิน 3 มื้ออยู่เหมือนเดิม ฯลฯ

ค่าใช้จ่ายที่ปรับลดลงหลังเกษียณ ได้แก่ ค่าเสื้อผ้า ก็เราไม่ต้องใส่เสื้อผ้าสวยๆ ให้ใครดูอีกแล้ว ค่าเดินทางก็ลดลงเพราะไม่ต้องเดินทางไปทำงาน ค่าที่อยู่อาศัย เพราะไม่จำเป็นต้องอาศัยในตัวเมืองเพื่อใกล้ที่ทำงาน สามารถมาอยู่อาศัยในย่านชานเมืองที่อากาศดี ราคาถูกกว่าได้ และภาษีที่ปรับลงเหลือ 0% แสดงว่าคนส่วนใหญ่หลังเกษียณไม่ได้ทำงาน หรือทำงานแต่ไม่ได้เสียภาษี (ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะคนไทยเรามีเกือบ 65 ล้านคน มีคนที่ยื่นแบบแสดงเงินได้เพื่อเสียภาษีประมาณ 10 ล้านคน แต่มีคนที่เสียภาษีจริงๆ แค่ 2-3 ล้านคนเท่านั้น) เป็นต้น

ค่าใช้จ่ายที่ปรับเพิ่มขึ้นหลังเกษียณ ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาลปรับเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลเป็นค่าใช้จ่ายที่น่ากังวลมากที่สุดของผู้เกษียณ เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าค่าใช้จ่ายจะเป็นเท่าไหร่ และต้องจ่ายเมื่อไหร่ แต่ก็บอกได้ว่าค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลจะเป็นค่าใช้จ่ายหลักของผู้เกษียณ เหตุผลเพราะตามธรรมชาติร่างกายเราจะเริ่มเสื่อมเมื่ออายุใกล้ๆ 30 ปี และเสื่อมไปทุกปี ปีละ 0.8% จนถึงอายุ 60 ปี ก็จะเสื่อมเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 1% และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนหลังอายุ 65 ปี อัตราการเสื่อมเพิ่มขึ้นเป็น 1-5% เราจึงมักจะพบเห็นกันว่า ผู้สูงอายุที่อายุเริ่มมากขึ้น ร่างกายจะเสื่อมอย่างรวดเร็วเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น โดยช่วงอายุ 60-70 ปี การเปลี่ยนแปลงจะค่อยเป็นค่อยไปช่วงอายุ 71-80 ปี การเปลี่ยนแปลงจะเห็นชัดขึ้น และเมื่ออายุ 81 ปีขึ้นไป การเปลี่ยนแปลงจะยิ่งเห็นชัดเจนมากขึ้น

เคยมีรายงานวิจัยหาค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลหลังเกษียณมาเหมือนกัน ว่า ค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลในช่วง 2 ปีสุดท้ายของชีวิตจะอยู่ประมาณ 98% ของค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลตลอดชีวิต จึงเห็นได้ว่า ค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลนี่ไม่น้อยเลยนะครับ

ดังนั้น สำหรับผู้ที่มีสวัสดิการด้านรักษาพยาบาลแม้ในช่วงหลังเกษียณจึงถือได้ว่าเป็นผู้ที่โชคดีมากๆ แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีสวัสดิการด้านนี้ ก็สามารถสร้างสวัสดิการของตนเองได้ โดยการซื้อประกันสุขภาพ แต่ก็อย่างว่าแหละครับ ค่าเบี้ยประกันสุขภาพมักจะสูงมาก ทางที่ดีเราควรหาทางป้องกันดูแลสุขภาพของเราอย่าให้มีปัญหาจะดีกว่า