posttoday

พักเงินที่หุ้น Blue Chip ทยอยซื้อ 1,450

11 เมษายน 2556

สวัสดีครับทุกท่าน บทความในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้แนะนำให้นักลงทุนนำเงินมาพักไว้ที่หุ้น Blue Chip

โดย...สุกิจ อุดมศริริกุล

สวัสดีครับทุกท่าน บทความในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้แนะนำให้นักลงทุนนำเงินมาพักไว้ที่หุ้น Blue Chip โดยแนะนำ KTB, PTTGC, CPN, ITD และ AIT ผลปรากฏว่ามีเพียง AIT ที่ปรับตัวขึ้นสวนทางตลาดฯ ได้ ด้าน KTB, PTTGC ลดลงน้อยกว่าตลาดฯ ส่วน ITD, CPN ลดลงมากกว่าตลาดฯ เนื่องจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งถือว่าลดลงต่อเนื่องหลังจากซื้อสุทธิสะสมเพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุดในเดือน เม.ย. 2555 หรือคิดเป็นประมาณ 1% ของมูลค่าตลาดรวม

ด้านภาพรวมตลาดฯ พบว่า ดัชนีกำลังลดลงมาที่ระดับที่ผมประเมินว่าเป็นกรณีเลวร้ายที่สุด คือ 1,4701,450 จุด ทั้งนี้ผมยังคงเชื่อมั่นว่าระดับดังกล่าวเหมาะสมสำหรับการซื้อเพื่อการลงทุน เนื่องจาก 1) บริเวณดังกล่าวต่ำกว่าเป้าหมายดัชนี ณ สิ้นปี 2556 ที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ที่ 1,700 จุด อยู่ 17% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่มากพอสมควร 2) ผมเองเคยใช้ SET Index ที่ 1,450 จุด เป็นเป้าหมายดัชนีของปีนี้ จากการประเมินระดับ PER ที่เหมาะสมสำหรับผลการดำเนินงานปี 2556 ที่ 13.5 เท่า ซึ่งไม่ได้รวมสภาพคล่องที่เกิดขึ้นจากมาตรการของ BOJ ซึ่งทำให้ผมประเมินว่า ระดับดังกล่าวถือว่าเป็นมูลค่าที่แท้จริงของตลาดหุ้นไทย 3) ระดับ 1,450 จุด ลดลงมาจากดัชนีสูงสุดที่ 1,600 จุด แล้วเกือบ 10% ซึ่งจากสถิติในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาซึ่งมีความเสี่ยงหลายเรื่อง พบว่า ดัชนีที่ลดลง 10% มักจะมีการฟื้นตัวได้เสมอ ดังนั้น ผมจึงยังคงแนะนำให้นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นในบริเวณดังกล่าวในหุ้นตัวเดิมที่แนะนำไว้ คือ KTB, PTTGC, CPN , ITD และ AIT

ผมขอขยายความต่อในเรื่องพฤติกรรมการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในช่วงเดือน เม.ย. ที่เพิ่งซื้อขายไปเพียง 6 วันทำการ แต่มีมูลค่าขายสุทธิแล้วประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยหุ้นที่ถูกขายมากที่สุด ผ่านกระดาน NVDR ได้แก่ KBANK, PTT, SCC, BBL และ AOT คำถาม คือ หุ้นดังกล่าวถือว่ามีปัจจัยพื้นฐานแย่ลงหรือไม่ คำตอบ คือ ไม่ แต่มีโอกาสที่จะถูกขายทำกำไรได้ หากประเมินจากการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดย KBANK +14% SCC +40% BBL +17% AOT +52% ยกเว้น PTT ที่ราคาลดลง ดังนั้นจึงเป็นการยืนยันได้ว่าการลดลงของหุ้น Blue Chip เป็นโอกาสของการซื้อ

ประเด็นต่อมา คือ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ แต่ทำไมค่าเงินบาทแข็งค่าเกิน 29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ผมคิดว่า คำตอบง่ายๆ คือ เงินต่างชาติไม่ได้ไหลออก แต่มีโอกาสไหลไปที่ตลาดตราสารหนี้ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีมีเงินทุนไหลเข้าไปแล้วประมาณ 3 แสนล้านบาท หรือวันละ 4,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทเริ่มเข้าสู่จุดที่เสี่ยงมากขึ้นแล้ว หาก ธปท.ตัดสินใจในการออกมาตรการดูแลในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมามากถึง 5.5% จากปี 2555 จะมีผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้อย่างมาก เพราะอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติขายทำกำไรเพื่อรับกำไร 2 ต่อ โดยเฉพาะกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มากถึง 5.5% ซึ่งจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวขึ้นซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนในการระดมทุนของภาคธุรกิจและกระทบต่อเงินลงทุนของนักลงทุนสถาบัน โดยเฉพาะบริษัทประกัน

ประเด็นที่ผมอยากจะทิ้งท้ายในสัปดาห์นี้ คือ การที่หุ้นลงในช่วงนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากวันหยุดสงกรานต์ด้วย ซึ่งทำให้นักลงทุนในประเทศชะลอการซื้อขาย เพื่อดูประเมินสถานการณ์ต่างๆ ให้ชัดเจน โดยเฉพาะความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะตึงเครียดสุดในวันที่ 15 เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทยปิดทำการพอดี ดังนั้น หากไม่เกิดอะไรขึ้น เชื่อว่าตลาดหุ้นหลังจากเทศกาลสงกรานต์ก็มีโอกาสฟื้นตัวขึ้นได้ ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าคงไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะเกาหลีเหนือจะกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบทันทีหากเริ่มทำสงครามก่อน

สุขสันต์วันสงกรานต์...สวัสดีปีใหม่ไทย... แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

ทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนตัวของผมเอง