posttoday

สินเชื่อแบงก์รัฐโตกระฉูด

16 กรกฎาคม 2555

แบงก์รัฐสินเชื่อทะยาน หลังปล่อยกู้สนองนโยบายประชานิยม ยันควบคุมคุณภาพ

แบงก์รัฐสินเชื่อทะยาน หลังปล่อยกู้สนองนโยบายประชานิยม ยันควบคุมคุณภาพ

สินเชื่อแบงก์รัฐโตกระฉูด

ยอดสินเชื่อของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาขยายตัวสูงเกินคาด โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีสินเชื่อเพิ่ม 1.23 แสนล้านบาท ขณะที่ธนาคารออมสินมีสินเชื่อเพิ่มขึ้น 1.3 แสนล้านบาท จากการปล่อยกู้อย่างต่อเนื่อง

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ชี้แจงว่า งวดสิ้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา มียอดการปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้นถึง 1.23 แสนล้านบาท ขยายตัว 13.69% ทำให้สินเชื่อธนาคารรวมขยายตัวเพิ่มเป็น 8.99 แสนล้านบาท แต่ก็ถือเป็นการขยายตัวอย่างสมเหตุสมผลและมีคุณภาพ

นายลักษณ์ กล่าวว่า สินเชื่อที่เติบโตขึ้นมาจากการสนับสนุนสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังในฤดูกาลผลิต 2555 ที่ใช้เงินร่วม 1.6 แสนล้านบาท

“สินเชื่อที่ปล่อยในโครงการรับจำนำข้าว คิดว่าไม่น่ามีปัญหา และหากมีผลขาดทุน รัฐบาลจะขอมติคณะรัฐมนตรีจัดสรรงบประมาณมาชดเชยให้แก่ ธ.ก.ส.อยู่แล้วจึงไม่น่าเป็นห่วง” นายลักษณ์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการปล่อยสินเชื่อแก่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อเพิ่มราคาอ้อยให้ชาวไร่อ้อยตันละ 154 บาท ตามมติคณะรัฐมนตรี รวมเป็นจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท และจนถึงขณะนี้มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 8,000 ล้านบาท ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินเชื่อของ ธ.ก.ส.เติบโตได้อย่างดี

สำหรับความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินเชื่อนั้น นายลักษณ์ยืนยันว่าไม่น่าเป็นห่วง เพราะรัฐบาลมีมาตรการดูแลราคาสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิดทั้งต้นทางและปลายทาง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่สามารถชำระหนี้ได้ โดยขณะนี้ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ยังไม่สูงขึ้นจนผิดปกติ มีแค่ 5.34% ของสินเชื่อรวม

นายลักษณ์ยืนยันว่าธนาคารไม่ได้เป็นแหล่งซุกหนี้ของรัฐบาล เพราะมีหลักเกณฑ์ในการดำเนินงานที่สามารถตรวจสอบได้ โดยการดูแลนโยบายของรัฐบาล ธ.ก.ส. จะสนับสนุนงบเท่าที่สามารถทำได้ ส่วนที่เกินนอกเหนือจากนั้นให้กระทรวงการคลังเข้ามาชดเชยหรือเพิ่มทุนให้ ซึ่งจะอยู่ในแผนก่อหนี้ของประเทศและปรากฏเป็นหนี้สาธารณะ

แหล่งข่าวจากธนาคารออมสิน ระบุว่า งวดสิ้นเดือน มิ.ย. ธนาคารปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นสุทธิ 1.3 แสนล้านบาท ขยายตัวประมาณ 10% จากสินเชื่อคงค้างเมื่อสิ้นปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ 1.35 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ หลักการปล่อยสินเชื่อของธนาคารเป็นไปตามการบริหารสภาพคล่องให้สอดคล้องกับเงินฝากที่เข้ามามาก ประกอบกับมีการปล่อยสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะการเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม

“เมื่อเงินออมมีจำนวนมาก เราก็ต้องปล่อยสินเชื่อให้สอดคล้องกัน และการพิจารณาสินเชื่อของเราก็รัดกุม ไม่มีใครอยากให้เสียหาย” แหล่งข่าวเปิดเผย

ก่อนหน้านี้ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงความเป็นห่วงการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน เนื่องจากภาพรวมไตรมาสแรกสินเชื่อทั้งระบบโตสูงถึง 16% จึงให้เจ้าหน้าที่ติดตามการปล่อยสินเชื่ออย่างใกล้ชิด