posttoday

เป็นหนี้ท่วมหัว เอาตัวอย่างไรให้รอด

08 สิงหาคม 2562

ทางสุดท้ายถ้ายังไม่ไหว ควรติดต่อสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อเจรจาประนอมหนี้ ลดภาระการผ่อน ขอลดคิดดอกเบี้ย ขยายระยะเวลา หรือขอลดยอดหนี้

ทางสุดท้ายถ้ายังไม่ไหว ควรติดต่อสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อเจรจาประนอมหนี้ ลดภาระการผ่อน ขอลดคิดดอกเบี้ย ขยายระยะเวลา หรือขอลดยอดหนี้

*****************************

คอลัมน์ เงินทองของใกล้ตัว โดย... ดร.ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ ศูนย์ข้อมูลการเงิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

“หนี้สิน” ถือเป็นประเด็นการเงินที่สำคัญ หากเคลียร์หนี้ไม่ได้ การออมเงินเพื่ออนาคตวัยเกษียณหรือเป้าหมายอื่นๆ ก็จะเป็นเรื่องยากตามไปด้วย

หลังจาก ศูนย์ข้อมูลการเงิน เปิดให้บริการเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีสมาชิกติดต่อขอคำปรึกษาเรื่องการจัดการหนี้เป็นจำนวนมาก แต่ละท่านมีความรุนแรงของภาระหนี้สินแตกต่างกันไป บางท่านยังอยู่ในระดับที่พอแก้ไขได้ด้วยการคุมค่าใช้จ่าย แต่ก็มีอีกหลายท่านที่ไม่อาจเยียวยาด้วยวิธีปกติไหว ศูนย์ข้อมูลการเงินจึงสรุปแนวทางจัดการหนี้แบบเป็นลำดับเพื่อให้สมาชิกนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม

สิ่งสำคัญประการแรกของการจะปลดหนี้คือ การสร้างกำลังใจและทัศนคติเชิงบวก ให้เกิดขึ้น ถึงแม้จะท้อหรือเครียดแค่ไหน หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าการผิดนัดชำระหนี้เป็นคดีแพ่ง ซึ่งมีกระบวนการทางกฎหมายรองรับไว้อยู่แล้ว มีข้อกำหนดที่ให้ความเป็นธรรมกับทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ และการเปิดโอกาสให้มีการเจรจาทั้งสองฝ่าย โดยในเรื่องการบังคับคดีนั้น เจ้าหนี้จะต้องส่งเรื่องขอให้ศาลมีคำพิพากษา และหากทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้ เจ้าพนักงานของกรมบังคับคดีจะดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์ของลูกหนี้เพื่อขายทอดตลาดต่อไป อย่างไรก็ดี กฎหมายให้ความคุ้มครองผู้เป็นลูกหนี้โดยมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการยึดหรืออายัดทรัพย์ไว้ เช่น

• ไม่สามารถอายัดเงินเดือน เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ของลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการได้

• ห้ามยึดทรัพย์ประเภทเครื่องนุ่งห่มหลับนอน เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้สอยส่วนตัว โดยประมาณไม่เกินประเภทละ 20,000 บาท

• ห้ามยึดทรัพย์ประเภทสัตว์ สิ่งของ เครื่องมือเครื่องใช้ประกอบอาชีพตามที่จำเป็น รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท

• หากลูกหนี้มีความจำเป็นต้องนำเงินไปใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าเลี้ยงดูคนในอุปการะ หรืออื่นๆ สามารถแสดงหลักฐานเพื่อขอให้ศาลลดอัตราการยึดหรืออายัดลงเพื่อให้สมควรกับการดำรงชีวิตของลูกหนี้ได้

นอกจากนี้ กระบวนการดังกล่าวเป็นคนละขั้นตอนกับการดำเนินคดีล้มละลาย ดังนั้น ลูกหนี้จึงยังพอมีหนทางในการปลดหนี้และกลับมามีสถานะการเงินเป็นปกติอยู่

เมื่อตั้งสติได้แล้วสิ่งที่ควรทำลำดับต่อมาคือ แจกแจงรายละเอียดหนี้สิน ได้แก่ ประเภทหนี้ ยอดหนี้คงค้าง ยอดการผ่อนชำระขั้นต่ำ อัตราดอกเบี้ย เพื่อจะได้ประเมินและหาแนวทางการจัดการหนี้ที่เหมาะสมต่อไป เราเคยพบบางกรณีที่แจ้งว่าตนเองวิตกกังวลกับภาระหนี้สินมาก แต่เมื่อลองคำนวณดูแล้วพบว่ายอดผ่อนชำระขั้นต่ำโดยรวมอยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้ ดังนั้น หากตั้งใจลดรายจ่ายให้ดีแล้วก็มีโอกาสที่จะปลดหนี้ทั้งหมดได้ ความวิตกกังวลนั้นจึงเป็นเรื่องเกินเหตุ

แนวทางจัดการหนี้สินควรใช้เทคนิค เล็งเป้ากำจัดหนี้ทีละตัว ซึ่งจะมุ่งไปที่หนี้สินที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงสุดก่อน หรือหนี้สินที่มียอดคงค้างต่ำสุดก่อน ก็ย่อมขึ้นอยู่กับสถานการณ์ หากเป็นหนี้หลายประเภทและมีอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกัน เช่น หนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล และหนี้บ้าน ควรกำจัดหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงสุดก่อน

หากเป็นประเภทเดียวกันซึ่งดอกเบี้ยไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เช่น หนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ซึ่งดอกเบี้ยอยู่ในช่วงร้อยละ 18 ถึง 28 ต่อปี ควรปิดหนี้ที่มียอดคงค้างต่ำสุดก่อน วิธีการนี้จะเป็นสร้างกำลังใจให้ตัวเราเห็นว่าหนี้เริ่มหมดลงไปทีละตัวแล้ว ซึ่งจะเป็นพลังผลักดันให้ปลดหนี้ตัวต่อไปได้อีก ทั้งนี้ แนะนำว่าขอให้พยายามรักษาระดับการจ่ายหนี้ขั้นต่ำกับหนี้ตัวอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจากการผิดนัดชำระหนี้ด้วย

การเล็งเป้ากำจัดหนี้ให้มีประสิทธิผลนั้น สิ่งสำคัญคือต้องลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงทันที วิธีนี้อาจทำให้เกิดความไม่สะดวกในการดำเนินชีวิตอยู่บ้างแต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ ซึ่งอาจกินเวลาประมาณ 3 ถึง 6 เดือนแล้วแต่กรณี โดยในระหว่างนี้อาจพิจารณาเจรจาขอปรับลดอัตราดอกเบี้ย กับเจ้าหนี้ปัจจุบันเป็นการชั่วคราว หรือติดต่อสถาบันการเงินแห่งใหม่เพื่อทำการรวมหนี้ ซึ่งจะช่วยแปลงหนี้ระยะสั้นจากเจ้าหนี้หลายรายให้เป็นหนี้ระยะยาวกับเจ้าหนี้รายเดียว อย่างไรก็ดี การรวมหนี้อาจไม่สามารถใช้ได้ในทุกกรณีขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระหนี้ของตัวลูกหนี้เองและนโยบายของสถาบันการเงิน

ในกรณีที่มีภาระหนี้สินพะรุงพะรัง ก็อาจต้องใช้ยาแรงในการปลดหนี้ เช่น ตัดใจขายสินทรัพย์ที่ไม่จำเป็นและไม่มีผลต่อการประกอบอาชีพออกไปบ้าง เริ่มจากสินทรัพย์ที่จะไม่กระทบต่อการดำรงชีพมากนัก เช่น ของสะสม เครื่องประดับบางชิ้น รวมทั้งการหาอาชีพเสริมประเภทที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากนัก เช่น การรับบรรยายให้ความรู้ นายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์ ตัวแทนประกัน ตัวแทนจำหน่ายสินค้า หรือการขายของออนไลน์ เป็นต้น

หากสุดท้ายแล้วยังไม่ไหว ก็ควรติดต่อสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้เพื่อเจรจาประนอมหนี้ ซึ่งเป็นการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเพื่อช่วยลดภาระการผ่อนในแต่ละเดือนลง ไม่ว่าจะเป็นการขอให้คิดดอกเบี้ยในอัตราปกติ ขอขยายระยะเวลา หรือขอลดยอดหนี้ เป็นต้น อย่างไรก็ดี การเจรจาไม่ใช่ว่าจะได้ผลสำเร็จทุกรายเพราะขึ้นอยู่กับประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาของลูกหนี้ รวมทั้งดุลพินิจของเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน