posttoday

ปัญหา Disconnect ของมหาวิทยาลัยไทย

28 พฤษภาคม 2562

แม้ว่าประเทศไทยจะมีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ขึ้นมาใหม่ แต่การผลิตบัณฑิตยังมีปัญหาไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงานที่แท้จริง

แม้ว่าประเทศไทยจะมีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ขึ้นมาใหม่ แต่การผลิตบัณฑิตยังมีปัญหาไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงานที่แท้จริง

**************************

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

กระทรวงชื่อใหม่ของประเทศไทยที่มีชื่อยาวๆ ว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา กระทรวงใหม่นี้เป็นการควบรวมหน่วยงานจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (ซึ่งแยกออกมาจากกระทรวงศึกษาธิการ) รวมกับหน่วยงานกระทรวงวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งกับหน่วยงานผู้ให้ทุนวิจัยหลักอีกสองที่ซึ่งได้แก่ 1.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) (ขื่อเดิมคือสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ) และ 2.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยเดิม) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดบูรณาการของการสร้างระบบนวัตกรรมและการวิจัยและการผลิตบุคคลากรของประเทศไว้ด้วยกัน

ทั้งนี้ โครงสร้างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจะมี 4 กลุ่มงาน คือ

กลุ่มที่หนึ่ง เป็นกลุ่มงานนโยบายและวางแผน งบประมาณ ทุนวิจัย (ทั้งทุนวิจัยทั้งด้านวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์)

กลุ่มที่สอง ได้แก่กลุ่มสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยในกลุ่มนี้จะเน้นงานวิจัย ดาวเทียม ดาราศาสตร์ นิวเคลียร์ ซินโครตรอน จะมีหน่วยงานอย่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า

กลุ่มที่สาม ได้แก่กลุ่มมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัย ทั้งวิจัยพื้นฐาน วิจัยสู่อนาคต และวิจัยประยุกต์ ครอบคลุมทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ และ

กลุ่มที่สี่ ได้แก่กลุ่มมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ ซึ่งก็คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏที่มีทั่วประเทศ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาตามภูมิสังคมในแต่ละพื้นที่

จากงานศึกษาของธนาคารโลก (The World Bank) ที่มีชื่อว่า "Putting Higher Education to Work: Skills and Research for Growth in East Asia" ได้ระบุถึงปัญหาของสถาบันอุดมศึกษาไว้ว่า ภาคอุดมศึกษาเป็นหน่วยงานที่ "ตั้งอยู่โดดเดี่ยว" โดยไม่ได้มีการเชื่อมต่อ (Disconnect) อะไรกับใครเลย จึงส่งผลต่อการสร้างศักยภาพในการแข่งขันของมหาวิทยาลัย โดยในรายงานระบุว่า ภาคอุดมศึกษาไม่ได้เชื่อมต่อใน 5 ด้าน ได้แก่

1. ไม่ได้ Connect ไปสู่ผู้ใช้งานบัณฑิต - ดังจะเห็นได้จากปัญหาความไม่สอดคล้องทางการศึกษา (Educational Mismatch) ที่บัณฑิตไม่ได้จบสาขาหรือมีทักษะตามที่ตลาดแรงงานต้องการ บัณฑิต จำนวนมากตกงาน ในขณะที่องค์กรกลับประสบปัญหาขาดแคลนคนในบางสาขา นอกจากนี้ การเชื่อมต่อในลักษณะของระบบสหกิจศึกษา (Industry-University Linkage) เองก็ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ดังนั้นจึงส่งผลทำให้มหาวิทยาลัยไม่ได้ผลิตคนที่ตอบสนองต่อความต้องการในตลาดแรงงานโดยตรง

2. ไม่ได้ Connect ไปสู่ผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย – ซึ่งเป็นปัญหาว่างานวิจัยส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยไทยมักขึ้นหิ้ง และไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง จากงานศึกษาของธนาคารโลกเองยังระบุว่า ภาคเอกชนไทยมีการพึ่งพางานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพียงแค่ร้อยละ 2 (ของงานวิจัยที่ใช้ในภาคเอกชน) เท่านั้น ในส่วนของการทำงานวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางวิชาการและยกขีดความสามารถในการแข่งขันด้านวิชาการของประเทศเองก็ยังพบว่า อาจารย์ของมหาวิทยาลัยยังผลิตงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในต่างประเทศในปริมาณที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีระดับของการพัฒนาที่ใกล้เคียงกัน

3. ไม่ได้ Connect ไปสู่หน่วยงานผู้ให้ทุนและกับสถาบันวิจัยต่างๆ ที่มีอยู่ – ดังจะเห็นได้ถึงงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยกับหน่วยงานวิจัยต่างๆ มีการทำออกมาที่ซ้ำซ้อนกันมาก นอกจากนี้ การให้ทุนจากบางแห่งยังเป็นการให้ทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ได้นำไปสู่งานวิจัยที่มีคุณภาพจริง

4. ไม่ได้ Connect ไปสู่มหาวิทยาลัยด้วยกัน - ดังจะเห็นได้จากการที่ถึงแม้มหาวิทยาลัยไทยจะมีความร่วมมือด้านหลักสูตรกับมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากก็ตาม แต่ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศด้วยกันเองยังมีน้อยมาก จึงส่งผลให้การมีหลักสูตรร่วมกันสอนที่นักเรียนสามารถเรียนได้มากกว่าหนึ่งมหาวิทยาลัยเองก็ยังมีไม่มาก เนื่องจากแต่ละมหาวิทยาลัยมีทัศนคติของการแข่งขันกันมากกว่าที่จะร่วมมือกัน

5. ไม่ได้ Connect ไปสู่โรงเรียนที่จะต้องส่งเด็กมาเรียนต่อ - ดังจะเห็นได้จากการที่เด็กจำนวนมากไม่ได้มีความรู้ถึงสาขาที่ตนต้องการเรียนต่อมากนัก เด็กต้องเลือกเรียนตามค่านิยมหรือเลือกเรียนในสาขาที่ตนเองไม่ได้สนใจจริง

ด้วยปัญหา Disconnect ดังกล่าว จึงส่งผลทำให้มหาวิทยาลัยเป็นองค์กรที่แน่นิ่งและเปลี่ยนแปลงยาก โลกมีการเปลี่ยนแปลง แต่มหาวิทยาลัยก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงตาม ดังนั้นการควบรวมกระทรวงนี้จึงเป็นเพียงบันไดขั้นแรกในการลดปัญหา Disconnect ของมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานวิจัยและหน่วยงานผู้ให้ทุนเท่านั้น (ด้านที่ 3) แต่ก็ยังไม่ได้หมายความว่า กระทรวงใหม่นี่จะช่วยให้มหาวิทยาลัยจะสามารถพ้นสภาพการหลุดจากเกาะออกมาได้ โดยเฉพาะเมื่อโลกเทคโนโลยีเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก

ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยจะมีทักษะตามความต้องการจากตลาดแรงงานได้จริง และยังไม่แน่ชัดว่างานวิจัยหรือนวัตกรรมที่ถูกสร้างจะนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงเช่นกัน

นอกจากนี้ นวัตกรรมที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางด้านวิทยาศาสตร์ เช่น งานวิจัยทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่จะช่วยในการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนนั้นจะได้รับการสนใจมากน้อยเพียงใด

ดังนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่กระทรวงใหม่นี่จึงควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการส่งมอบงานวิจัยหรือนวัตกรรมที่ผลิตออกมาให้สามารถสร้างประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ (Commercialization) หรือมีตัวชี้วัดในการสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนและสังคมให้ได้ ซึ่งในส่วนนี้คงเป็นความท้าทายที่จะยกระดับมหาวิทยาลัยให้สามารถทั้งเป็นผู้สร้างคน สร้างงานวิจัย และส่งมอบคนและงานวิจัยนั้นให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศได้จริง