posttoday

มูลค่าเงินสด ขุมทรัพย์ในกรมธรรม์ประกันชีวิต

09 ตุลาคม 2560

โดย...ศิวัฒน์ สิงหสุตกร นักวางแผนการเงินและที่ปรึกษาด้านประกันอิสระ

โดย...ศิวัฒน์ สิงหสุตกร นักวางแผนการเงินและที่ปรึกษาด้านประกันอิสระ

ในการซื้อประกันชีวิตสักกรมธรรม์ เราอาจจะคิดว่าสิ่งที่เราได้รับคือผลประโยชน์ของแบบประกัน ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ตอนมีชีวิต เช่น เงินคืนในปีต่างๆ (สำหรับแบบประกันที่มีเงินคืน เช่น แบบสะสมทรัพย์ หรือแบบบำนาญ) และเงินครบสัญญา หรือผลประโยชน์ตอนเสียชีวิต ซึ่งก็คือความคุ้มครองชีวิตที่เราจะได้รับ ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ หรือที่ตัวแทนเสนอขายที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้เพียงแค่นั้น

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในกรมธรรม์เล่มหนึ่ง เราสามารถที่จะบริหารจัดการกรมธรรม์ เพื่อให้ได้ผลประโยชน์ที่หลากหลายขึ้นกว่าเดิมได้ จากสิ่งที่เรียกว่า “มูลค่าเงินสดกรมธรรม์” (Cash Value) ที่เรามีอยู่ในกรมธรรม์ของเรา

มูลค่าเงินสดกรมธรรม์นั้นเป็นมูลค่าที่เกิดขึ้น จากการที่เราจ่ายค่าเบี้ยประกัน และบริษัทประกันชีวิตได้นำค่าเบี้ยส่วนที่เหลือ หลักจากหักค่าธรรมเนียมในการบริหารกรมธรรม์ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการประกันชีวิตเรียบร้อยแล้ว ไปลงทุนบริหารจัดการให้ได้ผลตอบแทนกลับมา บริษัทก็จะแบ่งผลตอบแทนส่วนหนึ่ง กลับมาให้เราอยู่ในกรมธรรม์ ทุกปีที่เราจ่ายเบี้ยประกัน ซึ่งถ้ายิ่งเราจ่ายเบี้ยนาน หรือใกล้ครบระยะเวลาจ่ายเบี้ยที่กำหนดมากเท่าไร มูลค่าเงินสดก็จะถูกสะสมอยู่ในกรมธรรม์เรามากขึ้นเท่านั้น (ดังนั้น ในปีแรกๆ กรมธรรม์อาจจะยังมีมูลค่าเงินสดอยู่น้อย หรือไม่มีเลย ทำให้ถ้ารีบเวนคืน ปิดกรมธรรม์ก่อน เราจะขาดทุนเทียบกับเบี้ยที่จ่ายมาอย่างแน่นอน)

หากกรมธรรม์ของเราเริ่มมีมูลค่าเงินสดถึงระดับหนึ่งแล้ว เราจะสามารถเลือกบริหารจัดการกรมธรรม์ได้หลายวิธี ดังนี้

1.เวนคืนมูลค่าเงินสดกรมธรรม์

คือ การเลือกหยุดจ่ายเบี้ยประกัน แล้วขอเวนคืนเงินมูลค่าเงินทั้งหมดคืนมา วิธีนี้ทำให้เราได้เงินก้อนหนึ่งกลับคืนมา (เท่ากับมูลค่าเงินสดทั้งหมดที่มีอยู่ในกรมธรรม์) หากเราไม่มีความจำเป็นหรือไม่ต้องการการคุ้มครองจากประกันชีวิตกรมธรรม์ฉบับนั้นแล้ว ซึ่งเมื่อเวนคืนแล้ว จะถือเป็นการปิดกรมธรรม์ สัญญาประกันชีวิตเป็นอันสิ้นสุดทันที

2.เปลี่ยนกรมธรรม์เป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ

คือ การหยุดจ่ายเบี้ยประกัน แล้วขอใช้สิทธิที่ทำให้กรมธรรม์ยังมีการคุ้มครองชีวิตต่อไปจนครบสัญญาเหมือนเดิม และเมื่อครบสัญญาก็จะได้รับเงินครบสัญญาก้อนหนึ่ง แต่มูลค่าความคุ้มครองชีวิตและเงินครบสัญญาที่จะได้อาจจะลดลงจากเดิม (ขึ้นอยู่กับมูลค่าเงินสดที่มีอยู่)

3.แปลงกรมธรรม์เป็นการประกันภัยแบบขยายเวลา

คือ การหยุดจ่ายเบี้ยประกัน แล้วขอใช้สิทธิที่ทำให้กรมธรรม์ยังมีการคุ้มครองชีวิตต่อไป โดยที่มูลค่าความคุ้มครองชีวิตเท่าเดิม แต่ระยะเวลาที่คุ้มครองชีวิตอาจจะไม่ครบสัญญาเหมือนเดิม (ซึ่งจะคุ้มครองต่อไปอีกกี่ปี มีเงินคืนทันทีก้อนหนึ่งหลังจากใช้สิทธิ หรือไม่เงินคืนเมื่อครบสัญญาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับมูลค่าเงินสดที่มีอยู่)

4.กู้เงินจากมูลค่าเงินสด

เมื่อกรมธรรม์มีมูลค่าเงินสดระดับหนึ่ง เราสามารถแจ้งบริษัทประกัน เพื่อขอกู้เงินจากมูลค่าเงินสดที่เรามีอยู่ในกรมธรรม์ได้ หากมีความจำเป็น โดยจะกู้ได้สูงสุดไม่เกินมูลค่าเงินสดที่มีอยู่ และถูกคิดดอกเบี้ยตามอัตราที่บริษัทประกันกำหนด (สูงกว่าธนาคารเล็กน้อย) โดยที่ผลประโยชน์ต่างๆ ของกรมธรรม์ก็ยังมีผลอยู่ตามเดิม แต่หากมูลค่าเงินกู้บวกดอกเบี้ยค้างชำระ มีมูลค่ารวมกันสูงกว่ามูลค่าเงินสดเมื่อไหร่ เราจะถูกปิดกรมธรรม์ทันที

นอกจากการขอกู้ยืมตามเจตนาของเราแล้ว หากเราไม่จ่ายค่าเบี้ยประกันปีต่อ บริษัทประกันก็จะใช้สิทธิกู้เงินจากมูลค่าเงินสดในกรมธรรม์มาจ่ายเป็นค่าเบี้ยปีต่อแทนให้เราโดยอัตโนมัติ ทำให้กรมธรรม์ยังคงมีผลบังคับอยู่เหมือนเดิม จนกว่ามูลค่าเงินกู้บวกดอกเบี้ยค้างชำระ มีมูลค่ารวมกันสูงกว่ามูลค่าเงินสดที่เหลืออยู่ ก็จะถูกบังคับปิดกรมธรรม์ ยกเว้น เราจะกลับมาชดใช้หนี้สินในการกู้ยืมให้เรียบร้อย กรมธรรม์ถึงจะกลับมามีผลบังคับใช้เหมือนเดิม

จะเห็นได้ว่า การมีมูลค่าเงินสดในกรมธรรม์ ทำให้เรามีทางเลือกมากมายที่จะบริหารจัดการกรมธรรม์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยกตัวอย่างเช่น หากเรารู้ว่าเราต้องทำประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองภาระทางการเงินที่มีอยู่ (เช่น ค่าเลี้ยงดูและค่าเล่าเรียนลูก หรือภาระหนี้สิน) แต่ภาระการเงินเหล่านั้นย่อมลดลงตามกาลเวลาหากเรายังมีชีวิตอยู่ต่อไป ทำให้มูลค่าคุ้มครองชีวิตของเราควรจะลดตามภาระการเงินเหล่านั้น แต่ถ้าเราทำประกันชีวิตฉบับเดียว เราอาจจะไม่สามารถขอลดวงเงินคุ้มครองชีวิตได้เรื่อยๆ ดังนั้น เราอาจจะใช้ความรู้ในการบริหารมูลค่าเงินสด ด้วยการทำประกันชีวิตมากกว่า 1 กรมธรรม์ แล้วค่อยๆ ทยอยใช้สิทธิกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ เพื่อลดความคุ้มครองลง ตามความจำเป็นทางภาระการเงินที่เหลืออยู่ ก็จะช่วยให้เราสามารถออกแบบความคุ้มครองชีวิตให้สอดคล้องกับภาระการเงินที่มีอยู่ได้ดีขึ้นกว่าการเลือกทำประกันชีวิตแค่กรมธรรม์เดียวแบบทั่วไป

เมื่อรู้ประโยชน์ของมูลค่าเงินสดกรมธรรม์เช่นนี้แล้ว ก็อย่าลืมกลับไปสำรวจมูลค่าเงินสดกรมธรรม์ที่เรามีอยู่ ณ ปัจจุบันในแต่ละกรมธรรม์ที่เรามีอยู่ (ดูได้จากหน้าตารางมูลค่าเงินสดกรมธรรม์ ในกรมธรรม์แต่ละฉบับ) เพื่อดูว่าเราจะสามารถบริหารจัดการมูลค่าเงินสดที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ยังไง โดยอาจปรึกษาร่วมกับตัวแทนประกันชีวิตของเราด้วยก็ได้ครับ