posttoday

4 วิธีสร้างเงินออมฉุกเฉิน!

21 กันยายน 2560

“เคยคิดไหมว่า ในวันที่คุณป่วย คุณอยากจะได้รับการรักษาพยาบาลรูปแบบไหน”


“เคยคิดไหมว่า ในวันที่คุณป่วย คุณอยากจะได้รับการรักษาพยาบาลรูปแบบไหน”

“รู้ไหมว่า การป่วยครั้งหนึ่ง อาจจะทำให้ชีวิตล้มละลายได้”

“เคยสำรวจไหมว่า การเข้าโรงพยาบาลเอกชนแต่ละครั้ง ต้องใช้เงินเท่าไร”

ชีวิตตั้งอยู่บนความไม่ประมาท เคยตั้งคำถามกับตัวเองหรือไม่ว่า ถ้าป่วยหรือต้องใช้เงินฉุกเฉิน จะหยิบเงินจากส่วนไหนหรือกระเป๋าไหนมาใช้ เรื่องของเงินฉุกเฉินที่สร้างความป่วนให้กับนักออม วิธีแก้คือการสร้างกระเป๋าฉุกเฉินเตรียมไว้ เพื่อที่ว่าเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือเหตุจำเป็นต้องใช้เงินเป็นการเร่งด่วน คุณจะได้หยิบเงินจาก “กระเป๋า” ใบนี้มาใช้ได้ โดยไม่ทำลายแผนการออมระยะยาว

ยังจำวัยเด็กได้ไหม เมื่อต้องไปโรงพยาบาลเรากลัวอะไรมากที่สุด คำตอบยอดฮิตน่าจะเป็นเข็มฉีดยา แต่เมื่อโตขึ้นก็จะรู้ว่า ค่ารักษาพยาบาลน่ากลัวกว่าอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายสำหรับโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงมาก ยิ่งเป็นโรคร้ายแรงและต้องมีการรักษาอย่างต่อเนื่อง แม้มีเงินเก็บออมไว้แค่ไหน ก็ยากจะเพียงพอ แล้วจะทำอย่างไรดี อ๋อ นึกออกแล้ว สร้างกระเป๋าเงินสำรองฉุกเฉินกันดีกว่า ไม่ยากเลย

1.แยกบัญชีเงินออมฉุกเฉิน

การเก็บเงินออมเอาไว้เผื่อเอาไว้ใช้ในยามเจ็บป่วยถือเป็นก้าวแรกที่เราควรทำ เพราะไม่มีใครรู้ล่วงหน้าได้หรอกว่า วันไหนเราจะต้องใช้เงินก้อนนี้ หากไม่ได้วางแผนและออมเงินเอาไว้ เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องหยิบยืมเงินคนอื่น ทำให้เกิดหนี้สินและดอกเบี้ยจากการกู้ยืมตามมา แล้วถ้าเราเจ็บป่วยมากจนทำงานไม่ได้ ไม่รู้จะมีโอกาสกลับมาทำงานใช้หนี้ได้เมื่อไหร่ หนี้สินก็จะยิ่งพอกพูนเข้าไปอีก

2.ตรวจสอบประวัติสุขภาพของครอบครัว

เริ่มต้นด้วยการสำรวจข้อเสนอและเงื่อนไขความคุ้มครองสุขภาพของบริษัทประกันต่างๆ ในขณะเดียวกันก็ตรวจประวัติการเจ็บป่วยของตัวเองและญาติพี่น้อง เพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากพันธุกรรม จากนั้นมองหาประกันสุขภาพที่ครอบคลุมโรคภัยไข้เจ็บที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้

3.คำนวณทุนประกันสุขภาพ

การคำนวณทุกประกันสุขภาพทำได้ไม่ยาก เริ่มจากการตรวจสอบและประเมินจากค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลที่เราใช้เป็นหลัก จากนั้นให้บริษัทประกันพิจารณาทุนประกันให้ โดยให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่างๆ เช่น

- วงเงินคุ้มครองสูงสุดต่อปีและวงเงินค่าใช้จ่ายต่อโรคต่อ 1 ครั้ง

- ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาลสูงสุดต่อวัน

- ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป

- ค่าห้อง ICU กรณีฉุกเฉิน

- ค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น การผ่าตัด วิสัญญีแพทย์

- ค่าธรรมเนียมแพทย์เฉพาะทาง และค่าใช้จ่ายของแพทย์ในการเยี่ยมไข้

- ค่ารักษาพยาบาลกรณีอุบัติเหตุ

- ค่าชดเชยรายได้ในขณะที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

- ค่าชดเชยกรณีเสียชีวิตจากโรคร้ายแรงต่างๆ

4.เลือกและทำประกันให้เหมาะสม

หลายคนคาดฝันถึงกรมธรรม์ที่ดีที่สุด แต่คำแนะนำก็คือ การเลือกบริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด เนื่องจากหากเลือกให้ประกันคุ้มครองการเจ็บป่วยในวงเงินค่าใช้จ่ายที่สูง ทุนประกันก็จะสูงตาม และค่าเบี้ยประกันนี้ก็อาจจะกลายเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป เมื่อพิจารณาสัดส่วนเทียบกับรายรับรายจ่ายทั้งหมด ดังนั้น จึงควรวางแผนทางการเงินให้ดีและเหมาะสม เพื่อให้ตัวเราเองสามารถส่งเงินค่าเบี้ยประกัน เพื่อการคุ้มครองอย่างต่อเนื่องตามที่ตั้งใจไว้

ไม่มีใครต้องการให้ชีวิตเกิดปัญหาสุขภาพจนต้องล้มหมอนนอนเสื่อเข้าโรงพยาบาล ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ดังนั้น ทุกคนจึงควรสำรองเงินฉุกเฉินไว้เผื่อมีความจำเป็นต้องใช้ รวมทั้งควรทำประกันเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงเรื่องสุขภาพ ด้วยทุนประกันที่เหมาะสมกับค่าใช้จ่าย ภายใต้วงเงินที่สามารถรับผิดชอบได้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อวางแผนเรื่องเงินสำรองได้ลงตัว ก็ไม่ต้องกลัวหรือต้องกังวลใดๆ เกี่ยวกับเหตุไม่คาดฝัน หรือค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระหว่างทางของชีวิตอีก เรื่องป่วยใครจะห้าม สิ่งที่ทำได้คือการจำกัดความเสี่ยงเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ตั้งงบสำรองเงินฉุกเฉินของเราเองส่วนหนึ่ง ซื้อประกันสุขภาพส่วนหนึ่ง อย่าลืมออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีด้วย

ดีกว่าเยอะ...เชื่อสิ! 

ขอบคุณข้อมูล : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย