posttoday

ของเล่น มหาเศรษฐี ยิ่งมี ยิ่งรวย!!!

26 มีนาคม 2559

หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วพาไปสำรวจทำเลน่าลงทุนในสายตาของมหาเศรษฐีกันมาแล้ว

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์ [email protected]

หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วพาไปสำรวจทำเลน่าลงทุนในสายตาของมหาเศรษฐีกันมาแล้ว สัปดาห์นี้ก็ยังคงเกาะติดอยู่ที่ The Wealth Report 2016 โดย ไนท์แฟรงค์ กันเหมือนเดิม แต่คราวนี้จะพาไปรู้จักกับ “ของเล่น” ของมหาเศรษฐีทั่วโลกว่า พวกเขานิยมเล่นอะไรกัน

และแน่นอนว่า ของเล่นของมหาเศรษฐีเหล่านี้ไม่ธรรมดา แถมของเล่นหลายอย่างกลับยิ่งทำให้รวยมากขึ้นไปอีก

แบ่งใจให้ของสะสม

ถ้ายังจำกันได้ ในบรรดาสินทรัพย์ที่ “เศรษฐีพันล้าน” หรือมหาเศรษฐีที่มีสินทรัพย์ หรือความมั่งคั่งมากกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐ (Ultra High Net Worth Individual : UHNWIs) ทั่วโลกแบ่งเงินไปลงทุนนั้น จะมี “ของเล่น” หรือของสะสมรวมอยู่ด้วย

แม้ว่าอาจจะเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เพราะแยกมหาเศรษฐีออกเป็นรายภูมิภาค พวกเขามีทรัพย์สินที่เป็นของสะสมอยู่ตั้งแต่ 1% ของสินทรัพย์รวม ไปจนถึง 4% ของสินทรัพย์รวม หรือเฉลี่ยทั่วโลกก็ประมาณ 2% ของสินทรัพย์รวม

แต่ถ้าคิดเป็นมูลค่าที่มหาเศรษฐีแต่ละคนถือครอง “ของเล่น” หรือของสะสมกันอยู่ก็แค่ 10-40 ล้านบาทเท่านั้นเอง

ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มหาเศรษฐี 26% ได้เพิ่มการลงทุนในของสะสม ขณะที่ 58% บอกว่าพวกเขาไม่ได้เปลี่ยนแปลงสัดส่วนการลงทุนในของสะสมเลย และอีก 16% บอกว่าพวกเขาลดสัดส่วนของสะสมลง

นอกจากนี้ เมื่อไนท์แฟรงค์ ร่วมกับ เวลท์-เอ็กซ์ ไปถามคนที่ดูแลทรัพย์สินให้กับมหาเศรษฐีทั่วโลกว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า “ลูกค้ามหาเศรษฐี” ของพวกเขาจะลงทุนอะไรเพิ่มขึ้นบ้าง ซึ่งแม้ว่า “ของสะสม” จะไม่ใช่คำตอบที่มีคนตอบมากที่สุด แต่มีถึง 36% ที่บอกว่าในอีก 10 ปีข้างหน้ามหาเศรษฐีจะยังลงทุนในของสะสมเพิ่มขึ้นอีก

และเมื่อล้วงลึกลงไปดูลูกค้ามหาเศรษฐีในแต่ละภูมิภาคจะเห็นว่า มหาเศรษฐีชาวยุโรป มีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มการลงทุนในของสะสมมากถึง 43% รองลงมาเป็นอเมริกาเหนือ 42% แอฟริกา 41% และรัสเซียบวกกับเครือรัฐเอกราช 40%

ขณะที่มหาเศรษฐีชาวเอเชียและออสตราเลเซีย (ได้แก่  ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และหมู่เกาะใกล้เคียงในมหาสมุทรแปซิฟิก) ที่อาจจะให้ความสำคัญกับ “ของเล่น” ไม่มากเท่า แต่ก็ตั้งใจจะลงทุนเพิ่ม 28% และ 21% ตามลำดับ

อะไรที่ทำให้มหาเศรษฐีเหล่านี้แบ่งใจ แบ่งทรัพย์สินมาลงทุนในของสะสม ซึ่งไนท์แฟรงค์และเวลท์-เอ็กซ์ ก็ได้คำตอบว่า เหตุผลในการสะสมส่วนใหญ่ คือ ของสะสม หรือของเล่น ที่พวกเขามีอยู่มันสามารถเป็น “สัญลักษณ์แสดงสถานะ” ของพวกเขาได้เป็นอย่างดี และรองลงมาจะเป็นคนที่บอกว่า สะสมเพราะความชอบส่วนตัว

ในขณะที่ยังมีมหาเศรษฐีอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งมองของสะสมในมุมของการลงทุนอย่างแท้จริง เพราะให้เหตุผลในการซื้อของสะสมว่า

1.เพื่อกระจายการลงทุน ซึ่งมหาเศรษฐีทั่วโลกให้เหตุผลนี้เฉลี่ย 42% ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการลงทุน ที่เรา “ไม่ควรใส่ไข่ไว้ในตะกร้าเดียวกัน” โดยที่มหาเศรษฐีชาวแอฟริกาให้น้ำหนักกับเหตุ
ผลนี้มาถึง 59% รองลงมาเป็นอเมริกาเหนือ 58% และตะวันออกกลาง 56%

2.เพราะเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้ โดยมีมหาเศรษฐีให้เหตุผลนี้เฉลี่ย 22% ซึ่งในจำนวนนี้น่าจะมีส่วนหนึ่งที่คิดว่า การลงทุนในสิ่งของที่จับต้องได้น่าจะเป็นการถ่วงน้ำหนักกับการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินที่ไม่สามารถจับต้องได้ และหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันกับสินทรัพย์ทางการเงิน สินทรัพย์ที่จับต้องได้เหล่านี้จะเปลี่ยนเป็นเงินสดแทนได้ (ซึ่งถือเป็นการกระจายการลงทุนเช่นกัน)

3.ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับการลงทุนประเภทอื่น แม้ว่ามหาเศรษฐีทั่วโลกจะให้น้ำหนักกับเหตุผลเรื่อง “ผลตอบแทน” จากของสะสมเพียง 15% แต่สำหรับมหาเศรษฐีชาวยุโรปจะให้ความสำคัญกับผลตอบแทนมากถึง 29% ซึ่งหากนำไปเชื่อมโยงกับคำตอบของมหาเศรษฐีชาวยุโรป 43% ที่ตั้งใจจะเพิ่มการลงทุนในของสะสม ก็น่าจะพอเดาได้ว่า พวกเขาน่าจะพอใจผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนของสะสม

ของเล่น มหาเศรษฐี ยิ่งมี ยิ่งรวย!!!

 

และดูเหมือนว่าของสะสมจะให้ผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่องจริงๆ เพราะถ้าดูจากผลดำเนินงาน Knight Frank Luxury Investment Index (KFLII) แบ่งตามประเภทสินทรัพย์ จะเห็นว่าโดยรวมแล้วใน 10 ปีที่ผ่านมาของสะสมที่เป็นของหรูหราราคาสูงสามารถให้ผลตอบแทนได้ถึง 200% โดยที่รถยนต์คลาสสิกให้ผลตอบแทนนำโด่งไปถึง 490% ขณะที่งานศิลปะ เหรียญกษาปณ์ และไวน์ ให้ผลตอบแทน 226%, 232% และ 241% ตามลำดับ

ของสะสมโดนใจ

ใน The Wealth Report 2016 แบ่งของสะสมเพื่อการลงทุนที่โดนใจมหาเศรษฐีทั่วโลกออกเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ 

1.งานศิลปะและของโบราณ

2.รถยนต์และจักรยานยนต์คลาสสิก

3.นาฬิกาหรู

4.ไวน์ชั้นดี

5.เครื่องประดับและอัญมณี

6.โลหะมีค่า

7.แสตมป์และเหรียญกษาปณ์

ของสะสมที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ งานศิลปะและของโบราณ โดยผู้ตอบแบบสอบถามมากถึง 74% ที่บอกว่าลูกค้ามหาเศรษฐีของพวกเขาสะสมอยู่ พร้อมกับคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า งานศิลปะและของโบราณก็จะยังได้รับความนิยมจากมหาเศรษฐีเหล่านี้เช่นเดิม แม้ว่าจะลดลงเล็กน้อย แต่ก็ยังอยู่อันดับหนึ่ง

รถยนต์และจักรยานยนต์ ได้รับความนิยมมาเป็นอันดับสอง โดยมีลูกค้ามหาเศรษฐี 46% สะสมอยู่ แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้า ความนิยมสะสมรถยนต์และจักรยานยนต์จะลดลง ตกไปอยู่อันดับสาม เหลือเพียง 29%

นาฬิกาก็เช่นเดียวกัน ที่แม้จะได้รับความนิยมอยู่ที่อันดับสามในปัจจุบัน แต่อีก 10 ปีข้างหน้า อันดับความนิยมจะหล่นฮวบไปอยู่ที่อันดับห้า หรือ 24% 

แต่ของสะสมที่จะมาแรงในอีก 10 ปีข้างหน้า คือ ไวน์ เพราะขยับจากอันดับสี่ 33% ในปัจจุบัน ไปเป็นอันดับสอง หรือ 32% ซึ่งการสะสม หรือลงทุนไวน์ชั้นดีนั้นสามารถให้กำไรงามกับนักลงทุนได้ แต่มหาเศรษฐีที่จะชื่นชอบการสะสมไวน์มากที่สุดกลับไม่ใช่มหาเศรษฐีในทวีปยุโรปที่เป็นแหล่งผลิตไวน์ชั้นเลิศ แต่เป็นมหาเศรษฐีชาวแอฟริกาและละตินอเมริกา

ในขณะที่อัญมณีและเครื่องประดับ มีความนิยมอยู่พอสมควรไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยไม่ได้โดดเด่นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต และน่าแปลกใจว่า มหาเศรษฐีในแอฟริกา จะลดความนิยมในการสะสมที่อัญมณีและเครื่องประดับลงอย่างมากจาก 24% เหลือ 6% 

ไม่ว่าจะในตอนนี้หรืออีก 10 ปีข้างหน้า การสะสมโลหะมีค่า แสตมป์ และเหรียญ ก็ดูจะได้รับความนิยมน้อย โดยเฉพาะแสตมป์และเหรียญ ที่มีมหาเศรษฐีสะสมอยู่เพียง 4-5% เท่านั้น และในบางภูมิภาคไม่เลือกที่จะสะสมของสะสมในกลุ่มนี้เลย อาจจะเป็นเพราะมูลค่าของมันไม่มากนัก ทำให้ถูกมองข้ามไป

แต่ไม่ว่าพวกเขาจะนิยมสะสมอะไรมากขึ้น หรือน้อยลง ของสะสมก็จะยังเป็นสินทรัพย์อีกประเภทหนึ่งที่มหาเศรษฐีทั่วโลกจะมีติดพอร์ตไว้เสมอ

ไม่รวย (จริง) ซื้อไม่ได้

อยากให้ลองหลับตาคิดว่า ถ้าวันนี้เราเป็น “เศรษฐีพันล้าน” เราจะซื้อของหรูหราราคาแพง ที่อาจจะถูกมองว่า เป็นของฟุ่มเฟือย และถ้าไม่รวยจริง ไม่สามารถซื้อได้ “ของเล่น” ชิ้นนั้นของเราจะเป็นอะไร เรือยอชต์ เครื่องบินเจ็ตส่วนตัว รถหรู เครื่องเพชร งานศิลปะของศิลปินระดับโลก นาฬิกาชั้นเยี่ยม

มหาเศรษฐีในแต่ละภูมิภาคจะคิดถึงของเล่นในแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งเวลท์-เอ็กซ์ ทำดัชนีขึ้นมาอันหนึ่งเรียกว่า Luxury Spending Index โดยสำรวจจากเศรษฐีพันล้านทั่วโลกว่า พวกเขาชอบซื้อของหรูหราราคาแพงประเภทไหนกันบ้าง โดยดูจากความเป็นเจ้าของสินทรัพย์เหล่านี้ ได้แก่ เรือยอชต์ เครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ของสะสม (เช่น เครื่องเพชร งานศิลปะ นาฬิกา ไวน์ ของโบราณ) และรถหรูมูลค่าเกิน 1 แสนเหรียญสหรัฐ หรือ 3.5 ล้านบาท

เวลท์-เอ็กซ์ พบว่ามหาเศรษฐีในแถบแปซิฟิกและมหาเศรษฐีชาวยุโรปชอบซื้อเรือยอชต์มากที่สุด เกินหน้ามหาเศรษฐีภูมิภาคอื่นไป 2-3 เท่าตัว โดยดัชนีนำโด่งไปถึง 342 สำหรับมหาเศรษฐีในแถบแปซิฟิก และ 216 สำหรับมหาเศรษฐีชาวยุโรป

“ในกลุ่มเรือยอชต์ขนาดใหญ่ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 มียอดขายเพิ่มขึ้น 40% จากปี 2557” เวลท์-เอ็กซ์ ระบุ พร้อมกับบอกอีกว่า จุดหมายปลายทางของประชาชนชาวมหาเศรษฐีเหล่านี้ยังไม่ได้อยู่แค่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและแคริบเบียนอีกแล้ว แต่ออกมาไกลถึงแอนตาร์กติกและเอเชีย

การเป็นเจ้าของเรือยอชต์ นอกจากจะเป็นเครื่องแสดงฐานะที่ชัดเจนมากแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้อีกด้วย โดยตัวแทนขายเรือยอชต์ในต่างประเทศโฆษณาว่า การเป็นเจ้าของเรือยอชต์ 5 ปี สามารถสร้างรายได้ได้ถึง 9% ต่อปี

เมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในประเทศไทยมีเรือยอชต์ประมาณ 2,000 ลำ ส่วนใหญ่จะเป็นเรือยอชต์ส่วนตัว 

“การล่องเรือยอชต์เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมของตลาดไฮเอนด์ ดังนั้น จึงมีการใช้จ่ายสูงกว่ากิจกรรมการท่องเที่ยวอื่น โดยกว่า 80% ของค่าใช้จ่ายต่อทริป คือ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนที่เหลือเป็นค่าจ้างกัปตันเรือและลูกเรือ ค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าใช้จ่ายเกี่ยวเนื่องกับกีฬาทางน้ำ เช่นดำน้ำ ตกปลา ซึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการนำเรือออกไปแล่นในทะเล”

นอกจากนี้ เจ้าของเรือยอชต์จะมีการใช้จ่ายรายปีและรายเดือน โดยค่าใช้จ่ายรายปี เช่น ค่าสมาชิกมารีน่าราย 1 ปี 3 ปี 5 ปี สำหรับการดูแลความปลอดภัย ความสะอาด และการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวก รวมทั้งมีค่าประกันเรือที่ค่าเบี้ยประกันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขความคุ้มครองและวงเงินเอาประกัน

ส่วนค่าใช้จ่ายรายเดือน เช่น ค่าน้ำและค่าไฟตามขนาดเรือและจำนวนหน่วยการใช้งาน ซึ่งราคาต่อหน่วยขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างมารีน่าและเจ้าของเรือ ค่าบริการทำความสะอาด บริการซ่อมบำรุง 

แต่เจ้าของเรือยอชต์อาจจะมีรายได้จากการให้เช่าเรือ โดยจะดำเนินการผ่านบริษัทนายหน้า โดยราคาเช่าเรือยอชต์แต่ละลำขึ้นอยู่กับความยาวของเรือ ระยะเวลา และฤดูกาลท่องเที่ยว เช่น ราคาเช่าเรือยอชต์ขนาด 85 ฟุต จำนวน 1 วันในช่วงไฮซีซั่น ค่าเช่าอยู่ที่ 2.2 แสนบาท/วัน รวมกัปตันและลูกเรือ

แต่ถ้าเป็นมหาเศรษฐีชาวแอฟริกันจะนิยมซื้อเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวมากที่สุด ดัชนีสูงถึง 200 สวนทางกับมหาเศรษฐีชาวเอเชียไม่นิยมมากนัก มีเพียงแค่ 28 เท่านั้น ในขณะที่มหาเศรษฐีชาวยุโรป ชอบซื้อของสะสมมากที่สุด แต่ถ้าเป็นรถยนต์หรูแล้วละก็ ดัชนีพุ่งพรวดในแทบทุกภูมิภาค

เห็นมหาเศรษฐีมี “ของเล่น” แบบนี้แล้ว เราก็ต้องไม่น้อยหน้า หาของสะสมมาใส่ไว้ในพอร์ตบ้าง อย่างน้อยก็เพื่อกระจายการลงทุนออกไปบ้าง โดยเริ่มสะสมตามความชอบ สะสมตามกำลัง ไม่แน่ว่า ของสะสมมูลค่าน้อยๆ ในมือเราวันนี้อาจจะเพิ่มค่าได้เป็นสิบเท่าตัวในอีก 10 ปีข้างหน้าก็ได้

...ใครจะไปรู้!!!