posttoday

"เจนมี" ผลิดเทคโนโลยีเปลี่ยนนักการตลาดต้องจับจุดรับมือ

12 ธันวาคม 2556

หลังจากเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคใช้ชีวิตอยู่กับมือถือเกือบตลอด 24 ชั่วโมง จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีการใช้ฟีเจอร์และยอดขายสมาร์ทโฟนติดอันดับ 2 ของโลก

หลังจากเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคใช้ชีวิตอยู่กับมือถือเกือบตลอด 24 ชั่วโมง จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีการใช้ฟีเจอร์และยอดขายสมาร์ทโฟนติดอันดับ 2 ของโลก

สำหรับแอพพลิเคชั่นที่ผู้บริโภคคนไทยนิยมใช้มากที่สุดอันดับ 1 จะเป็นในส่วนของโซเชียลมีเดีย ตามด้วยเอนเตอร์เทนเมนต์ และการแชตผ่านสังคมออนไลน์ วิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจวอยซ์ หรือการใช้โทรศัพท์คุยกัน และการส่งข้อความหากัน (เอสเอ็มเอส) เติบโตลดลง

วิชัย พรพระตั้ง รองประธานธุรกิจโทรคมนาคม บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ เปิดเผยว่า ทุกวันนี้ผู้บริโภคมีเวลาในการใช้ชีวิตเหมือนเดิม คือ 7 วัน 24 ชั่วโมง แต่รูปแบบการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปหลังจากมีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวแปร ส่งผลให้การทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันมีทั้งความเป็นส่วนตัวและส่วนรวม เนื่องจากการเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟนทำให้ผู้บริโภคมีนิสัยชอบโชว์และแชร์มากขึ้น

จากความนิยมของสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันการแข่งขันของตลาดสมาร์ทโฟนมีความรุนแรง และเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค จะเห็นได้จากความหลากหลายของสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่นำเข้ามาทำตลาด

ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี กล่าวว่า จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ในส่วนของผู้ประกอบการต้องเริ่มปรับตัวเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิตอล เพราะปัจจุบันคนไทยใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น แต่ไม่ได้ใช้เพื่อธุรกิจ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นโอกาสการพัฒนาธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในโลกดิจิตอล

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตของผู้บริโภค ส่งผลให้ปัจจุบันการใช้ชีวิตการทำงานกับเรื่องส่วนตัวเริ่มแยกกันไม่ออก ดังนั้นนักการตลาดจึงควรทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง เพื่อพัฒนาธุรกิจให้สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุดและตลอดเวลา (Anywhere Anytime)

กีรณา ชีวชื่น รองผู้อำนวยการสายงานไวร์เลสคอนเทนต์ และแอพพลิเคชั่น บริษัท ทรูมูฟ กล่าวว่า ตอนนี้ทุกอย่างในประเทศไทยค่อนข้างมีความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นเน็ตเวิร์ก ดีไวซ์ หรือคอนเทนต์ ด้วยเหตุนี้จึงอยากให้คนที่อยู่ในวงการตลาดเข้ามาทำงานด้านการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจเปลี่ยนแปลงทันความต้องการของผู้บริโภค

ทั้งนี้ ในฐานะที่เป็นโอเปอเรเตอร์รายหนึ่ง หากผู้ประกอบการต้องการให้ช่วยเหลือในด้านไหนก็ยินดี เพื่อให้ผู้บริโภคคนไทยมีเทคโนโลยีและแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาด้วยคนไทยด้วยกันเอง

นอกจากนี้ กลุ่มผู้บริโภคที่น่าจับตามองและต้องปรับตัวให้ทันภายหลังจากเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ คือ กลุ่มเจนมี หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความชื่นชอบในตัวเทคโนโลยี เนื่องจากกลุ่มคนดังกล่าวเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยี เพราะพฤติกรรมส่วนตัวชอบโชว์ ชอบแชร์เรื่องส่วนตัว และมีความเป็นตัวเองสูง

ด้าน ขนิษฐา ตั้งวรพจน์วิธาน ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนองค์กร บริษัท อินเทล ประเทศไทย กล่าวว่า หากนักการตลาดสามารถจับจุดของกลุ่มเจนมีได้ จะทำให้การทำการตลาดมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น เพราะกลุ่มเจนมี มีการสื่อสารที่รวดเร็ว และมีสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์กขนาดใหญ่ ดังนั้นกลยุทธ์ที่นำมาใช้ควรพัฒนาให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเจนมี โดยเฉพาะการเพิ่ม “ทางเลือก” หรือ “ชอยส์” เนื่องจากเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคดังกล่าว เพราะพฤติกรรมกลุ่มเจนมี ต้องการทางเลือกมากขึ้น

แม้ว่ากลุ่มเจนมีจะมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แต่ขณะเดียวกันนักการตลาดก็ต้องระมัดระวังการทำตลาดด้วย เพราะกลุ่มเจนมีจะมีความจงรักภักดีต่อแบรนด์ (แบรนด์รอยัลตี้) ลดลง เนื่องจากกลุ่มเจนมี จะมีความต้องการแสวงหา หรือเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า เพื่อให้ตัวเองมีสิ่งที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับคนอื่นๆ ที่มีกัน

จากปัจจัยทั้งหมดนี้ นักการตลาดจึงควรพัฒนาแบรนด์ที่ให้กลุ่มเจนมีสามารถเชื่อมโยงระหว่างกันได้โดยเฉพาะในกลุ่มเพื่อน ขณะเดียวกันควรทำให้แบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย และใส่ใจในตัวผู้บริโภค หากทำสิ่งเหล่านี้ได้ก็จะได้ใจกลุ่มเจนมีไปเต็มๆ