posttoday

ใครมองอย่างไรกับทิศทาง FED ขึ้นดอกเบี้ย

07 กุมภาพันธ์ 2565

10 เรื่องต้องรู้ ใครมองอย่างไรกับทิศทาง FED ขึ้นดอกเบี้ย วิเคราะห์ 3 ปัจจัยเสียงต่อจากนี้

1. คงไม่ต้องบอกว่าตลาดปี 2022 จะผันผวนแค่ไหน หลังการประชุม FED ครั้งแรกของปีก็ทำให้ตลาดตีความแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยกันยกใหญ่ โดย FED ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมีนาคมนี้ ท่ามกลางสภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเกินกรอบที่ตั้งไว้ ขณะที่พัฒนาการการจ้างงานเป็นไปตามเป้าหมาย จากถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่มีแนวโน้ม Hawkish มากขึ้น ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยถึง 5 ครั้งภายในปีนี้ จากเดิมที่มองไว้ 4 ครั้ง ยิ่งไปกว่านั้นตลาดก็คาดการณ์ไปอีกว่าอาจจะขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.5% แทนที่จะเป็น 0.25% ในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้

2. ด้านปฏิกิริยาตอบสนองของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ 2 ปีพุ่งขึ้นทันที จาก 0.97% ก่อนการประชุม มาอยู่ที่ 1.15% หลังการประชุม แต่บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ 5 ปี และ 10 ปีขยับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่ตลาดหุ้น ดัชนี NASDAQ ที่ประกอบด้วยหุ้นกลุ่ม Growth ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักก็รีบาวด์ได้ดีหลังผลการประชุม โดยตลาดเล็งเห็นว่าการขึ้นดอกเบี้ยที่รุนแรง และรวดเร็วกว่าคาดได้รับรู้ราคาไปเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ดี เรามองว่าการรีบาวด์รอบนี้อาจเป็นเพียงชั่วคราวและในระยะสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากความไม่แน่นอนยังคงสูง

3. นักวิเคราะห์ของ Goldman Sachs ก็มีการปรับคาดการณ์ทันทีหลังรู้ผลการประชุม จากเดิมที่มองว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งเป็น 5 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในปี 2022 คือ ในเดือนมีนาคม พฤษภาคม กรกฎาคม กันยายน และธันวาคม ซึ่งจะทำให้คาดการณ์ดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2022 อยู่ที่ 1.25-1.5% นอกจากนี้ Goldman Sachs ก็มองว่า FED จะเริ่มลดขนาดงบดุลลงในเดือนมิถุนายนควบคู่กันไปด้วย ส่วนในปีหน้า ก็คาดว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 3 ครั้ง และคาดว่าท้ายที่สุดดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯจะอยู่ที่ 2.5-2.75% ในปี 2024

4. ด้าน JP Morgan ก็เช่นกัน ที่มีการปรับเพิ่มคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยจาก 4 ครั้งเป็น 5 ครั้ง ขณะที่ปรับลดคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยในปี 2023 จาก 4 ครั้งเหลือ 3 ครั้ง ทั้งนี้ JP Morgan มองว่าโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งเดียวถึง 0.5% นั้นเกิดขึ้นได้ยาก โดยหากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงมาก JP Morgan มองว่า FED จะเพิ่มจำนวนครั้งการขึ้นดอกเบี้ยแทนมากกว่า ทั้งนี้ หากกลับไปดู ครั้งสุดท้ายที่ FED ขึ้นดอกเบี้ยทีเดียว 0.5% ก็คือตอนเดือนพฤษภาคม 2000 เลยทีเดียว

5. ด้าน Capital Economics มองว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้น้อยกว่าเจ้าอื่นที่ 4 ครั้ง ตามมาด้วยการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2023 อีก 4 ครั้ง และจบด้วย 1 ครั้งในปี 2024 ทำให้คาดการณ์ดอกเบี้ยระยะยาวของ FED อยู่ที่ 2.25-2.5% ทั้งนี้ เพราะ Capital Economics ให้ความเห็นว่าปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อที่สูงนั้นจะไม่กดดันให้ FED ขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรง เพราะควรพิจารณาทิศทางเศรษฐกิจต่อจากนี้ด้วย

6. ปัจจัยเสี่ยงต่อการตัดสินใจของ FED เกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยมีอยู่ 3 ปัจจัยด้วยกัน ข้อแรกคงหนีไม่พ้นเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่จะยังคงยืนอยู่เหนือเป้าหมายของ FED ที่ 2% ต่อจากนี้ หลังเงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐฯพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปีแตะระดับ 7% เมื่อเทียบปีต่อปีในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น และ ปัญหาคอขวดห่วงโซ่อุปทานที่ยังคงส่งผลกระทบอยู่ แม้ว่าเรามองว่าเงินเฟ้อในปีนี้จะค่อยๆ ลดลง แต่เรายังคงต้องจับตาดูส่วนประกอบของเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่เป็นเงินเฟ้อระยะยาวอย่างราคาที่พักอาศัย ราคาน้ำมัน และค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

7. ความเสี่ยงที่สอง คือ ประเด็นเรื่องเพดานหนี้สหรัฐฯ หรือระดับหนี้ภาครัฐฯ ที่ปรับสูงขึ้นตลอดมาโดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2017 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ โดยดอกเบี้ยขาขึ้นก็ย่อมหมายถึงภาระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น ซึ่ง FED จะต้องเอาปัจจัยนี้เข้ามาประกอบการตัดสินใจด้วย การขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรงจึงยากขึ้นนั่นเอง

8. ความเสี่ยงสุดท้าย คือ แนวโน้ม GDP สหรัฐฯ ในปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวลดลง แม้ว่า GDP ไตรมาส 4 ปี 2021 ของสหรัฐฯ จะออกมาขยายตัวดีที่ 6.9% เมื่อเทียบปีต่อปี แต่เป็นเพราะสัดส่วนกว่า 2 ใน 3 มาจากสินค้าคงคลังที่สูงขึ้นจากการที่ผู้คนจับจ่ายใช้สอยในช่วงปลายปี รวมถึงความกังวลว่าการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนจะส่งผลต่อการขนส่ง และอาจทำให้สินค้าขาดแคลน นอกจากนี้ ฐานการขยายตัวของ GDP สหรัฐฯในปี 2021 ก็สูงมาก อัตราการขยายตัวเมื่อเทียบปีต่อปีในปีนี้จึงจะชะลอตัวลงอย่างแน่นอน

9. อีกหนึ่งประเด็นที่อยากจะพูดถึง คือ ข้อมูลย้อนหลังในอดีตของดัชนี S&P500 ในช่วงการขึ้นดอกเบี้ยครั้งก่อนๆ ของ FED ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1970 จะพบว่าในช่วง 3 เดือนก่อนหน้าก่อนการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของวัฏจักร ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มักปรับตัวลง ตามมาด้วยช่วงตลาดเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ หรือ Sideway ในช่วง 3 เดือนหลังการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก จนตลาดจะกลับมารีบาวด์ได้ดีในช่วงหลัง 3 เดือนไปแล้ว อย่างไรก็ดี ข้อมูลนี้เป็นเพียงข้อมูลค่าเฉลี่ยจากข้อมูลในอดีตเท่านั้น ซึ่งสถานการณ์แต่ละครั้งย่อมแตกต่างกันออกไป

10. โดยรอบนี้ เรามองว่าอาจมีความยากลำบากขึ้นสำหรับตลาดหุ้นสหรัฐฯ เนื่องจากดัชนี S&P500 เองก็ให้ผลตอบแทนรวมที่เป็นบวกในระดับ Double-digit มาถึง 3 ปีติดต่อกันแล้ว คือ ปี 2019 ที่ +31.5%, ปี 2020 ที่ +18.4% และ ปี 2021 ที่ +28.7%