posttoday

หลังยุคโควิดเรายังควร WFH ต่อไหม?

12 ตุลาคม 2564

พนักงานจำนวนหนึ่งคุ้นชินและมีความสุขกับการทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home (WFH) เนื่องจากลดเวลาและค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางและสามารถมีเวลาดูแลลูกและครอบครัวได้เพิ่มขึ้น

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัศนีย์ สติมานนท์ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) www.econ.nida.ac.th ; [email protected]

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดจะยังคงดำเนินอยู่ หลายประเทศมีความพยายามที่จะให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ โดยเพิ่มจำนวนการฉีดวัคซีนเพื่อบรรเทาความรุนแรงของโรคหากได้รับเชื้อเข้าไปในร่างกาย ในประเทศสหรัฐอเมริกาหลายบริษัทให้พนักงานกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ อย่างไรก็ตาม หลายท่านที่ติดตามข่าวอาจทราบแล้วว่า คนอเมริกันซึ่งเป็นพนักงานประจำจำนวน 4 ล้านคนได้ลาออกจากงานในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาเนื่องจากหลากหลายสาเหตุ

ประการแรก พนักงานจำนวนหนึ่งคุ้นชินและมีความสุขกับการทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home (WFH) เนื่องจากลดเวลาและค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางและสามารถมีเวลาดูแลลูกและครอบครัวได้เพิ่มขึ้น ทำให้ลาออกจากงานเดิมและหางานใหม่ที่บริษัทอนุญาตให้ WFH ได้ ประการที่สอง ความเครียดที่สะสมจากการทำงานที่ไม่สามารถแบ่งเวลาสำหรับการทำงานและเวลาส่วนตัวได้ จนเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) ส่งผลให้ต้องการลาออก ประการที่สาม พนักงานบางคนมีเวลาทบทวนเป้าหมายในชีวิตและเปรียบเทียบเป้าหมายกับงานที่ทำในปัจจุบันมากขึ้น จากนั้นจึงทำการปรับทักษะของตนเพื่อให้ได้ทำงานที่สอดคล้องกับเป้าหมาย อาทิ พนักงานบางคนลงเรียนคอร์สออนไลน์เพื่อให้ตนเองมีทักษะใหม่ ๆ และเลือกสมัครงานในสายอาชีพและบริษัทใหม่ที่มีวิถีการทำงานที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์และเป้าหมายที่ต้องการ สาเหตุนี้อาจทำให้พนักงานไม่เพียงแต่เปลี่ยนบริษัทที่ตนต้องการทำงานด้วย แต่เป็นการเปลี่ยนอาชีพหรือสายงาน ประการที่สี่ พนักงานอาจต้องการเปลี่ยนงานตั้งแต่ก่อนหรือระหว่างการแพร่ระบาดของไวรัสแล้ว แต่เกรงว่าอาจหางานยากในช่วงของการแพร่ระบาด โดยสาเหตุที่อยากเปลี่ยนงานอาจมาจากวัฒนธรรมขององค์กร หรือวิธีปฏิบัติของบริษัทต่อพนักงานในช่วงการแพร่ระบาดของโรค และประการสุดท้าย พนักงานบางคนยังคงเกรงว่าตนอาจได้รับเชื้อไวรัสจากที่ทำงานและนำมาแพร่ให้กับสมาชิกในครอบครัวได้ ทั้งนี้ พนักงานที่ลาออกหลายคนตัดสินใจด้วยเหตุผลหลายประการประกอบกัน

นายจ้างต้องปรับตัวอย่างไร ? ทำไมนายจ้างยังอยากให้กลับไปทำงานที่ออฟฟิศเช่นเดิมแม้การ WFH อาจทำให้บริษัทประหยัดค่าใช้จ่ายบางส่วนได้ ?

จากการสำรวจผู้บริหารระดับสูงทั่วโลกกว่า 3,000 คน พบว่า ผู้บริหารคิดว่า ทักษะการบริหารที่ตนมีลดประโยชน์ลงมากกว่าช่วงที่ยังไม่มีการแพร่ระบาดของไวรัสถึงร้อยละ 71.7 โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะการสื่อสาร โดยผู้บริหารต้องการประยุกต์ใช้ทักษะการสื่อสารแบบต่อหน้า (face-to-face communication) ที่ตนเองมีมาเป็นทักษะการสื่อสารแบบเสมือนจริง (virtual communication) ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นให้ลูกน้องเกิดความคิดสร้างสรรค์ การแสดงความห่วงใย หรือการเจรจาต่อรองเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจกับคู่ค้า นอกจากนี้ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยชิคาโก และมหาวิทยาลัย Essex พบว่า คนที่ WFH ใช้เวลาทำงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เพื่อทำงานเท่าเดิม จากการสำรวจและงานวิจัยที่กล่าวมาเห็นได้ว่า WFH นั้นมีข้อจำกัดที่ลดประสิทธิภาพในการทำงานอย่างมีนัยสำคัญ

ควรสร้างสมดุลระหว่างความต้องการของนายจ้างและลูกจ้างอย่างไร ?

จากการสำรวจคนทำงานในสหรัฐอเมริกาหลายครั้งพบว่า คนอเมริกันต้องการไปทำงานที่ออฟฟิศสัปดาห์ละ 3 วันในขณะที่ต้องการ WFH 2 วัน ทั้งนี้ การ WFH จะสามารถเอื้ออำนวยให้พนักงานที่มีครอบครัวสามารถจัดเวลาในการดูแลครอบครัวได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม พนักงานรุ่นใหม่ยังคงต้องการโอกาสในการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานรวมทั้งการได้รับคำแนะนำในการทำงาน ดังนั้น การสอบถามความต้องการของพนักงาน และการบริหารจัดการวันทำงานภายหลังสถานการณ์โควิดเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะทำให้องค์กรสามารถดึงดูดหรือรักษาพนักงานที่มีความสามารถให้ทำงานกับองค์กรของตน หลายองค์กรได้เริ่มทดลองให้มีการทำงานสัปดาห์ละสี่วัน เช่น Unilever ในนิวซีแลนด์ Microsoft ในญี่ปุ่น ซึ่งพบว่า การปรับการทำงานเช่นนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน นอกจากนี้ยังพบว่าบางบริษัทขายสำนักงานใหญ่เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุน โดยมีการจัดการให้พนักงานประชุมในสถานที่ชั่วคราวเมื่อต้องการการระดมความคิด

จากที่อธิบายข้างต้นนั้นจะเห็นได้ว่า พนักงานบางส่วนได้มีการปรับตัวและปรับมุมมองความคิด เปลี่ยนลำดับความสำคัญระหว่างการแบ่งเวลาให้กับครอบครัวและงาน ส่งผลให้องค์กรต้องให้ความสำคัญกับ ความยืดหยุ่นเรื่องเวลาการทำงานเพิ่มมากขึ้นโดยยังคงรักษาหรือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รวมทั้งรักษาความสัมพันธ์ของคนในองค์กร ทุกกลยุทธ์และการปรับตัวมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หรือ ได้อย่างเสียอย่าง ขึ้นอยู่กับลักษณะงาน ลักษณะความต้องการของคนในองค์กร และวัฒนธรรมขององค์กร หากองค์กรไหนปรับตัวได้รวดเร็วโอกาสในการดึงดูดคนเก่งมีความรู้ความสามารถก็เพิ่มขึ้น และทำให้โอกาสทำกำไรเพิ่มขึ้นเช่นกัน ... รูปแบบเวลางานภายหลังยุคโควิดอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ... คำถามที่ว่า ทำไมต้อง “ไป” ทำงาน เก้าโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น สัปดาห์ละห้าวัน อาจเป็นคำถามในใจของใครหลายคน แล้วองค์กรของคุณเตรียมตอบคำถามนี้แล้วหรือยัง