posttoday

คาด ธปท. คงดอกเบี้ยนโยบาย พยุงเศรษฐกิจจากพิษโควิด

27 กันยายน 2564

ค่าบาทต้องติดตามคือการประชุม กนง. ในวันพุธนี้ โดยตลาดคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากแรงกดดันจากโควิด-19 ลดลง

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money… week) โดย...กฤติกา บุญสร้าง สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.00-33.80 ในสัปดาห์นี้ ปัจจัยสำคัญภายในประเทศที่ต้องติดตามคือการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันพุธนี้ โดยตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากแรงกดดันจากโควิด-19 ลดลง และมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองแล้ว นอกจากนี้ ต้องติดตามการประกาศดุลบัญชีเดินสะพัดไทย ซึ่งติดลบติดต่อกันเป็นระยะเวลา 9 เดือนแล้ว

ด้านต่างประเทศ สหรัฐฯ จะประกาศตัวเลขการใช้จ่ายและรายได้ส่วนบุคคลในเดือนสิงหาคม ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นจากรายงานในครั้งก่อนหน้า รวมถึงต้องจับตามองยอดขายสินค้าคงทนในเดือนสิงหาคมที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากเดือนก่อนเช่นเดียวกัน ในขณะที่ทางฝั่งยุโรปจะเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อเบื้องต้นในเดือนกันยายน ความเชื่อมั่นผู้บริโภค และอัตราการว่างงาน ซึ่งจะสะท้อนถึงอัตราการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปในช่วงที่ผ่านมา

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 20-23 กันยายน 2564 เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง ไปแตะระดับสูงสุดที่ 33.60 บาท จากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าและแรงกดดันเงินทุนไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทย ด้วยความกังวลต่อการที่รัฐบาลไทยขยายกรอบหนี้สาธารณะจาก 60% เพิ่มเป็น 70% ต่อจีดีพี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 ก่อให้เกิดความกังวลต่อปริมาณพันธบัตรรัฐบาลไทยที่เพิ่มขึ้น ด้านรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายเมธี สุภาพงษ์ สนับสนุนการขยายกรอบหนี้สาธารณะเป็น 70% ต่อจีดีพี โดยมองว่าเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และทำให้รัฐมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นในการดำเนินนโยบาย ทั้งนี้ นายเมธีประเมินว่าความเสี่ยงด้านการคลังยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากกรอบหนี้สาธารณะใหม่ไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงเกินไป และการกู้เงินส่วนมากมาจากแหล่งเงินทุนภายในประเทศเป็นหลัก นอกจากนี้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้เหลือเพียง 0.8% จาก 3.0% และปรับลดจีดีพีในปีหน้าเหลือ 3.9% จาก 4.5%

ด้านค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จากการที่เฟดส่งสัญญาณจะลดคิวอีในเร็วๆนี้และสิ้นสุดภายในกลางปี 2022 ในขณะที่สมาชิกเฟดหลายท่านให้น้ำหนักกับการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้าเพิ่มมากขึ้นที่ 9-9 เสียง เท่ากับสมาชิกเฟดที่มีมุมมองในการคงดอกเบี้ย ด้านเงินเฟ้อ เฟดประเมินว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.2% ในปี 2022 และ 2023 และอยู่ที่ 2.1% ในปี 2024 ส่งสัญญาณว่าเงินเฟ้อจะอยู่เหนือระดับเป้าหมาย 4 ปีติดต่อกัน ในขณะที่ปรับลดคาดการณ์จีดีพีในปีนี้จาก 7.0% เป็น 5.9% เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ระลอกล่าสุด ประกอบกับตลาดยังอยู่ในภาวะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากความกังวลต่อความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของจีน นอกจากนี้ ยังคงมีความเสี่ยงจากกรอบหนี้สาธารณะสหรัฐฯ โดยล่าสุด สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ โหวตผ่านร่างยกเว้นกรอบหนี้สาธารณะไปจนถึงธันวาคม 2022 และอยู่ระหว่างการรอพิจารณาจากวุฒิสภาในขั้นถัดไป

ด้านนโยบายการเงิน อีซีบีมีแนวโน้มจะเพิ่มขนาดโครงการคิวอีปกติภายหลังจากโครงการคิวอีพิเศษภายใต้ชื่อ PEPP สิ้นสุดลง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป แม้เศรษฐกิจยุโรปจะฟื้นตัวได้ดีกว่าคาดการณ์ในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศคงดอกเบี้ยนโยบายและวงเงินคิวอีไว้ที่ระดับเดิม และพร้อมผ่อนคลายเพิ่มเติมหากจำเป็น ด้านจีนคงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นระยะเวลา 17 เดือน โดยเงินกู้ 1 ปี และ 5 ปี อยู่ที่ 3.85% และ 4.65% ตามลำดับ นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีนอัดฉีดเงินเข้าระบบ 1.2 แสนล้านหยวน เพื่อผ่อนคลายความกังวลของตลาดที่มีต่อความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์

เงินบาทปิดตลาดที่ 33.25 ในวันศุกร์ที่ 23 กันยายน 2564 ณ เวลา 17.00 น.