posttoday

เสียงอีกด้านจากฝั่งผู้คนที่ค้าขาย

23 สิงหาคม 2564

ยิ่งกู้ยิ่งตาย ดอกเบี้ยแพงรายรับไม่พอ หมุนดอกจนทบต้นแน่ ๆ จริงใจหน่อย ฝ่ายนโยบายลงมาจากหอคอยกันหน่อย มาดูหน้างานจริง ปัญหาจริง...

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่าย ๆ ตอนที่ 37/2564 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

ผู้เขียนไปเห็นข้อความในเฟซบุ๊กเพื่อนแท้ร้านอาหาร ซึ่งเขียนจั่วนำเกี่ยวกับการหาสภาพคล่องมายันกับสถานการณ์วิกฤติ?โรคระบาดโควิด-19 ในเวลานี้ จึงขอนำมาสะท้อนให้เห็นอีกด้านของคนค้าขายที่กำลังต่อสู้ในสนามรบความอยู่รอดเวลานี้ ขออนุญาตปรับถ้อยคำบางจุดให้สุภาพลงมานะครับ แต่ยังคงความหมายและเป้าหมายที่ต้องการสื่อสารแบบเดิม ข้อความคือ...

เมื่อผู้ประกอบการอ่านข่าวนี้

เหมือนชีวิตมีความหวัง

แต่เมื่อเดินเข้าธนาคารเพื่อขอกู้

ชีวิตสิ้นหวังทันที!

แต่ละนโยบาย แต่ละมาตรการ

สักแต่ออกมา แต่ไม่ลงไปดูหน้างานจริง

ว่าแต่ละแบงก์ แต่ละสาขา ทำตามไหม

สุดท้ายก็ยังยึดเงื่อนไขเดิม ๆ

คุณสมบัติเข้ม ๆ ที่ไม่มีทางกู้ได้

เช่น ดูสถานะทางบัญชี

ดูทำไมก็รู้ว่าติดลบแน่ ๆ

บอกเครดิตบูโรผ่อนปรน

แต่ของจริงก็ยังเป็นด่านสำคัญ

อยากให้ลงมาดูว่า

ของจริงคนที่เดือนร้อนใครกู้ได้บ้าง

ได้กี่ราย คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์

ตอนนี้ผู้ประกอบการไปกู้นอกระบบบ้าง

กู้บัตรเครดิตบ้าง กู้สินเชื่อบุคคลบ้าง

ซึ่งบอกเลยว่า ตายแน่นอน

ยิ่งกู้ยิ่งตาย ดอกเบี้ยแพงรายรับไม่พอ

หมุนดอกจนทบต้นแน่ ๆ

จริงใจหน่อย

ฝ่ายนโยบายลงมาจากหอคอยกันหน่อย

มาดูหน้างานจริง ปัญหาจริง...

เมื่อผู้เขียนตามลงไปอ่านคำแนะนำและความเห็นก็พบว่า มีทั้งบ่น เหน็บแนม กระแทก แซะ แต่ไม่ได้สนใจผ่านเลยไป มุ่งหาสิ่งที่ดี ๆ ในความเห็น ก็พบว่ามีความเห็นน่าสนใจบางท่านดังนี้นะครับ

ท่านผู้แนะนำ : ถ้าจะเข้ามาช่วยกิจการให้เดินต่อกันได้ เงื่อนไขควรจะเป็นว่า

- จดทะเบียน x ปี

- ยังเปิดกิจการอยู่

- เสียภาษีมาตลอด จนถึงเดือน xxxxx

- เครดิตบูโร ไม่เสีย ตั้งแต่เดือน xxxxx

แค่นี้ก็พอ

รัฐหรือทางการเองก็มีข้อมูลก็มีครบอยู่แล้ว

ทั้งข้อมูลสถานะกิจการและ ข้อมูลเสียภาษี

แค่ บุคคล/บริษัท ยื่นเรื่องขอเข้าโครงการรับความช่วยเหลือ เซ็นเอกสาร 2-3 ใบ ให้ยอมเช็กเครดิตบูโร จบ ลดขั้นตอนเอกสาร

จะได้เดินหน้ากันต่อไวๆ

จากสิ่งที่ผู้เขียนได้อ่าน พอจะสรุปได้ว่า ถ้าจะช่วยร้านอาหารให้เดินธุรกิจต่อไปได้ ต้องมองแบบนี้ก่อน

1. ต้องช่วยให้รอดไปก่อน อย่าเพิ่งกลัวหนี้เสียที่จะเกิด เพราะคนค้าขายก็พยายามสู้ พยายามรักษากิจการสุดๆ ดังนั้นความเสี่ยงสูงแน่ การจะคิดว่าจะให้กู้อย่างไรหนี้เสียจะเกิดขึ้นน้อยคงไม่ใช่คำตอบ โจทย์คือจะต้องเสียหายเท่าใดถ้าจะช่วย ส่วนที่มีการค้ำประกันจากสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะเพียงพอหรือไม่

2. เกณฑ์การประเมินจะยึดเอาว่า เป็นคนในระบบที่มีการจดแจ้งกับทางภาครัฐหรือไม่ มีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนหรือไม่ว่าใครเป็นใคร มีตำแหน่งแห่งที่ในการประกอบกิจการ มีประวัติการเสียภาษีในช่วงปีก่อนเกิดโรคระบาดหรือไม่ เสียภาษีไปเท่าใดในช่วงก่อน แล้วเวลานี้ขายลดลงไปเหลือเท่าไหร่ เอาแบบแสดงรายการเสียภาษีมาเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่การพยายามเค้นคนขอกู้ว่า จะมีข้อมูลมาสนับสนุนให้สบายใจว่าจะมีรายได้ในอนาคตมาพอชำระหนี้ การพยายามประเมินสมมติฐานการสร้างรายได้มันไม่มีทางทำได้เพราะเดี๋ยวมีมาตรการปิด เปิด ที่ไม่แน่นอน

3. เกณฑ์ของการนำเอาข้อมูลจากเครดิตบูโรไปใช้ในการพิจารณา ควรมองอย่างน้อย 3 จุดคืออย่างนี้นะครับ

3.1 ในปี 2562 ทั้ง 12 เดือนลูกหนี้รายนี้ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ในทุกบัญชีที่เขามีอยู่เลย

3.2 ในปี 2563 เขาเริ่มมีการค้างชำระเดือนไหน หลังการประกาศ lock down ระยะหนึ่งหรือไม่ หรือว่าผ่านระยะหนึ่งแต่มาเจอกับ mini lock down รอบเชื้อเดลต้าถึงเริ่มการค้างชำระ ทีนี้พอมีการค้างชำระแล้วมีการพลิกกลับมาบางเดือนหรือไม่ หรือไหลเลยจากการค้าง เกิน 30 วันเป็น ค้างเกิน 60 วัน เป็นค้างเกิน 90 วันจนเป็น NPL ลักษณะการค้างชำระเป็นอย่างไร

3.3 สถานะในปัจจุบันของลูกหนี้รายนี้คืออะไรในบัญชีสินเชื่อที่เขามีอยู่เดิมก่อนการขอกู้ใหม่ เช่น

(1) สถานะปัจจุบันปกติ แต่เคยค้างในอดีตบางเดือน

(2) สถานะค้างเกิน 90 วัน

(3) สถานะมีการค้างชำระแต่ยังไม่เกิน 90 วัน

(4) สถานะอยู่ระหว่างดำเนินการทางกฎหมาย

การกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะมีสิทธิสมัครเข้าโครงการจึงมีมิติเพียง มีตัวตนกับระบบทะเบียนภาครัฐ มีการยื่นเสียภาษีจะต่ำจะสูง จะถูกจะตรงไม่ว่ากัน และมีลักษณะการค้างชำระเป็นอย่างไรในปัจจุบัน

พอผ่านเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว สามารถจะพิจารณาให้กู้ได้หรือไม่ว่า ให้กู้ 50% ของค่าเช่าร้าน + 70% ของค่าจ้างคนงาน + 100% ของค่าน้ำค่าไฟฟ้า แต่ไม่เกิน 50% ของยอดภาษีที่จ่ายมาในช่วงปี 2562 + 2563 อย่างนี้เป็นต้น ท่านผู้อ่านคิดว่าจะใช้สูตรใดก็แล้วแต่ จะขยับสูตรอย่างไรก็ได้ครับ เป็นแนวคิดให้ลองพิจารณากันครับ เพื่อจะได้ไม่ต้องให้พี่ ๆ ผู้คนที่ค้าขาย ประกอบธุรกิจร้านอาหารมาต่อว่าแต่ได้ช่วยกันส่วนหนึ่ง ซึ่งก็คงไม่ใช่ทั้งหมด แต่มันจะดีกว่าหรือไม่กับการทำสิ่งใหม่เพื่อหวังผลใหม่ให้เกิด มากกว่าความพยายามทำสิ่งเก่าซ้ำ ๆ ซ้ำ ๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์แบบใหม่

ขอบคุณมากครับ