posttoday

การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในอนาคต

03 สิงหาคม 2564

โดย เสาวลักษณ์ คำวิลัยศักดิ์

บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)

วิวัฒนาการทางเศรษฐกิจของจีนมีต่อเนื่องและปัจจุบันกำลังปฎิรูปโครงสร้างสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy) ทำให้จีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ภายใต้ยุทธศาสตร์แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ "MADE IN CHINA 2025" เปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากเน้นปริมาณเป็นเน้นคุณภาพโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตสินค้าและบริการทั้งการบริโภคเพื่อใช้ในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ มุ่งสู่นวัตกรรม สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน และคำนึงถึงการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยยึดหลัก “Green Economy” 

การเติบโตอย่างมีคุณภาพและทันสมัยจำเป็นต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่กับนวัตกรรม รัฐบาลจีนจึงให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงและส่งเสริมอุตสาหกรรมพื้นฐานและห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ภาคอุตสาหกรรมของจีนกำลังเปลี่ยนผ่านจากการผลิตด้วยเครื่องจักรร่วมกับแรงงาน เป็นการผลิตอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์  และเพื่อลดการพึ่งพิงภายนอกประเทศด้านห่วงโซ่อุปทาน จึงมีเป้าหมายที่จะผลิตเซมิคอนดักเตอร์ 100% ภายในปี 2030 นอกจากนี้ เป้าหมายการเดินหน้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของจีน ทำให้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม และตั้งเป้าให้เศรษฐกิจดิจิทัลเพิ่มขึ้นเป็น 10% ของจีดีพีภายในปี 2025 ด้วยการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี 5.0 ทั้งเทคโนโลยี 5G, ปัญญาประดิษฐ์ (AI),   Internet of Things, Smart Cities และ Semiconductors ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุนของทั้งภาครัฐและเอกชนที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้

คุณภาพชีวิตที่ดีและความปลอดภัยของประชาชนเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของรัฐบาลจีน ซึ่งนโยบายการเพิ่มรายได้ เพิ่มสวัสดิการด้านสังคม และการยกระดับสู่สังคมเมือง ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันรายได้ประชากรต่อหัวโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 38 เท?าภายในช?วง 4 ทศวรรษเป็น 12,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหัว จะเป็นปัจจัยหนุนการบริโภคในประเทศ มีการคาดการณ์ว่าในปี 2030 การบริโภคภาคครัวเรือนจีนจะสูงถึง 47% ของจีดีพี  ซึ่งรูปแบบการบริโภคของประชาชนจีนในปัจจุบันมีทั้งระบบออฟไลน์ และรูปแบบการค้าแบบออนไลน์ (E-Commerce) เพื่อรองรับกับจำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตที่มากขึ้นกว่า 1,000 ล้านราย ในขณะเดียวกันรัฐบาลจีนให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยในชีวิตและสุขภาพประชากร ปัจจุบันโครงสร้างประชากรจีนกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รัฐบาลจีนตั้งเป้าอายุขัยเฉลี่ยของประชากรเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี เป็น 78 ปี  สะท้อนถึงความก้าวหน้าของระบบบริการสุขภาพตามนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และยารักษาโรค และประชากรที่อายุยืนยาวขึ้นจะมีแนวโน้มค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้น 

จีนให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มีความพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยตั้งเป้าไว้ที่ 18% ของจีดีพี ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพื่อที่จะเป็นประเทศที่ “ปลอดคาร์บอน” (Carbon Neutrality) ให้ได้ภายในปี 2060 นำไปสู่แผนส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน การขนส่งด้วยยานยนต์ไฟฟ้า ในปัจจุบัน จีนเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยส่วนแบ่งการตลาดกว่า 55% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก

การติดตามนโยบายเศรษฐกิจและสังคมของจีนจะช่วยให้นักลงทุนที่สนใจหรือกำลังลงทุนในประเทศจีนสามารถเลือกลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากนโยบายที่รัฐบาลส่งเสริม  ได้แก่  อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค  บริการสุขภาพ เทคโนโลยี อุตสาหกรรมการผลิต และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม การพัฒนาย่อมมาคู่กับการควบคุมและการตรวจสอบ ในช่วงที่ผ่านมามีความเสี่ยงด้านการกำกับดูแล (Regulatory risks) จากรัฐบาลจีน ซึ่งอาจจะทำให้อุตสาหกรรมหรือบริษัทที่ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบ ดังนั้น นักลงทุนจะต้องติดตามการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าจะกระทบกับบริษัทหรืออุตสาหกรรมที่ลงทุนมากน้อยเพียงใด เพื่อที่จะปรับพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ หรืออาจมอบหมายให้มืออาชีพบริหารการลงทุนแทน โดยเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีประสบการณ์การลงทุนในตลาดหุ้นจีน  มีการบริหารเชิงรุก สามารถคัดเลือกหุ้นที่มีคุณภาพดี โดยพิจารณาจากผลการดำเนินงานในอดีต เพื่อให้เงินทำงานสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน