posttoday

ลงทุนตรงด้วย ETF ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ

02 สิงหาคม 2564

ในปัจจุบันการลงทุนในต่างประเทศเป็นที่นิยมขึ้นมาก นักลงทุนไทยจำนวนไม่น้อยได้กระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นสหรัฐฯ ฮ่องกง หรือ เวียดนาม โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นต่างประเทศตรงที่ผ่านตัวกลางคือ บริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทย นอกจากการลงทุนในหุ้นรายตัวที่ผม หรือทีม BLS Global Investing ของหลักทรัพย์บัวหลวงเคยกล่าวถึงในบทความก่อน ๆ หรือช่องทางอื่นๆ แล้ว ยังมีการลงทุนอีกช่องทางหนึ่งที่เป็นที่นิยมมากในต่างประเทศ แต่อาจยังถูกพูดถึงไม่มากในประเทศไทย นั่นก็คือ การลงทุนในต่างประเทศด้วย ETFETF

ในปัจจุบันการลงทุนในต่างประเทศเป็นที่นิยมขึ้นมาก นักลงทุนไทยจำนวนไม่น้อยได้กระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นสหรัฐฯ ฮ่องกง หรือ เวียดนาม โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นต่างประเทศตรงที่ผ่านตัวกลางคือ บริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทย นอกจากการลงทุนในหุ้นรายตัวที่ผม หรือทีม BLS Global Investing ของหลักทรัพย์บัวหลวงเคยกล่าวถึงในบทความก่อน ๆ หรือช่องทางอื่นๆ แล้ว ยังมีการลงทุนอีกช่องทางหนึ่งที่เป็นที่นิยมมากในต่างประเทศ แต่อาจยังถูกพูดถึงไม่มากในประเทศไทย นั่นก็คือ การลงทุนในต่างประเทศด้วย ETFETF

ETFETF เป็นเครื่องมือในการกระจายการลงทุนอ้างอิงดัชนีที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เนื่องจากสามารถซื้อขายได้แบบ Real-time เสมือนหุ้น ใช้เงินลงทุนไม่มาก และมักจะมีค่าธรรมเนียมการจัดการต่ำกว่ากองทุนรวมทั่วไป โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ etfgi.com ณ วันที่ 31 พ.ค. 64 เผยว่า ETF ทั่วโลกมีมูลค่าสินทรัพย์ ภายใต้การจัดการ (AUM) ราว 289 ล้านล้านบาท และมีจำนวน ETF ที่จดทะเบียนทั้งหมด 7,770 ตัวทั่วโลก ขณะที่มูลค่า AUM ของ ETF ในสหรัฐฯ อยู่ที่ราว 200 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 70% ของมูลค่า AUM ของ ETF ทั่วโลก โดยมีจำนวน ETF ที่จดทะเบียน 2,364 ตัว

นอกจากนี้ ETF ประเภทตราสารทุน (Equity ETF) ในสหรัฐฯ มีขนาด AUM 167 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็นสัดส่วนถึง 84% ของ ETF ทั้งหมดในสหรัฐฯ โดยหากนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนพ.ค.64 มีเงินลงทุนไหลเข้า Equity ETF ถึง 8.7 ล้านล้านบาท มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนถึง 12.2 เท่า ชี้ถึงนักลงทุนให้ความสนใจลงทุนผ่าน ETF มากขึ้น หลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ อยู่ในช่วงขาขึ้น

ใน 1 ปีที่ผ่านมา Equity ETF ในสหรัฐฯ มีให้เราเลือกซื้อขายมากกว่า 1,800 ตัว ซึ่งยังสามารถแบ่งแยกย่อยได้เป็นอีกหลายประเภท เช่น แบ่งตามนโยบายการลงทุนแบบ Passive และ Active แบ่งตามประเทศ หรือ อุตสาหกรรมที่ลงทุน นอกจากนี้ ยังมี ETF ที่มีลักษณะพิเศษ เช่น Inverse ETF คือ ETF ที่สร้างผลตอบแทนสวนทางกับดัชนีอ้างอิง หรือ พูดง่าย ๆ ก็คล้ายกับการ Short ETF นั่นเอง ขณะที่ Leveraged ETF คือ ETF ที่สามารถสร้างผลตอบแทนทวีคูณ 2 หรือ 3 เท่า จากดัชนีอ้างอิง ดังนั้น Leveraged ETF จึงเหมาะกับนักลงทุนสายซิ่งที่คาดหวังผลตอบแทนมากกว่าดัชนีอ้างอิง แต่ก็มาพร้อมระดับความผันผวนที่สูงขึ้นเช่นกัน โดยผมขอพูดถึงและยกตัวอย่าง ETF ในแต่ละประเภทข้างต้น ดังนี้

1. Passive และ Active ETF: กว่า 96% ของ ETF ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นประเภท Passive โดยส่วนที่เหลือ 4% เป็นประเภท Active ซึ่งจะเห็นได้ว่า ETF ส่วนใหญ่ยังคงเป็นแบบ Passive เนื่องจากลักษณะทั่วไปของ ETF คือ การลงทุนอ้างอิงตามดัชนีที่แตกต่างกันออกไป โดย Passive ETF ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คือ SPDR S&P 500 ETF Trust (SPY) ซึ่งอ้างอิงดัชนี S&P 500 มีขนาด AUM ถึง 12 ล้านล้านบาท และมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายรวม (Expense Ratio) ที่ 0.09% ต่อปี (ข้อมูล ณ วันที่ 6 ก.ค. 64) บริหารโดย State Street Global Advisors บริษัทจัดการกองทุน ETF ระดับโลก ผู้บริหาร SPDR Gold Shares (GLD) ETF ทองคำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเช่นกัน อย่างไรก็ดี ยังมี ETF อีกหลายตัวที่อ้างอิงดัชนี S&P 500 แต่มี Expense Ratio ที่ต่ำกว่า เช่น iShares Core S&P 500 ETF (IVV) และ Vanguard S&P 500 ETF (VOO) ซึ่งทั้งคู่มี Expense Ratio เพียง 0.03% ต่อปีเท่านั้น ขณะเดียวกัน Active ETF ในสหรัฐฯ เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น หลังนักลงทุนหลายคนต้องการผลตอบแทนที่มากกว่าดัชนีอ้างอิง หรือ ชื่นชอบสไตล์การลงทุนของผู้บริหาร ETF เป็นพิเศษ เช่น บรรดา ETF ของ ARK ที่บริหารโดย Cathie Wood CEO ของบริษัท เป็นต้น

2. ETF ที่อ้างอิงการลงทุนตามประเทศ/อุตสาหกรรม: มีให้เลือกทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น iShares MSCI Japan ETF (EWJ) ที่อ้างอิงดัชนี MSCI Japan ประเทศญี่ปุ่น, iShares MSCI China ETF (MCHI) ที่อ้างอิงดัชนี MSCI China ประเทศจีน หรือ iShares MSCI Brazil ETF (EWZ) ที่อ้างอิงดัชนี MSCI Brazil ประเทศบราซิล ขณะที่หากใครสนใจการลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงไปยังรายอุตสาหกรรมก็มีมากมายเช่นกัน เช่น iShares Global Healthcare ETF (IXJ) ที่อ้างอิงการลงทุนในหุ้นการแพทย์ทั่วโลก หรือ iShares Global Consumer Staples ETF (KXI) ที่อ้างอิงการลงทุนในหุ้นสินค้าบริโภคจำเป็นทั่วโลก เป็นต้น

3. Inverse/Leveraged ETF: สำหรับ ETF ที่มีลักษณะพิเศษอย่าง Inverse และ Leveraged ETF มีอยู่หลายตัวที่รวมลักษณะพิเศษทั้งสองอย่างใน ETF ตัวเดียวกัน ยกตัวอย่าง เช่น ProShares UltraPro Short QQQ (SQQQ) ที่สร้างผลตอบแทนตรงข้ามกับดัชนี NASDAQ-100 ด้วยอัตราทวีคูณ 3 เท่า ซึ่ง SQQQ ถือเป็น Inverse และ Leveraged ETF ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยขนาด AUM ราว 5.7 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี ETF จำพวกนี้ มักมี Expense Ratio สูง โดยของ SQQQ อยู่ที่ 0.95% ต่อปี เนื่องจากมีความซับซ้อนสูงและเหมาะสำหรับการซื้อขายภายในวันมากกว่าถือยาว อีกทั้งในกรณีของ Inverse ETF นักเก็งกำไรต้องพิจารณาในเรื่องการคำนวณผลตอบแทนให้ดี เพราะกอง ETF มักจะมีการ reset ค่าใหม่ทุกสิ้นวันกล่าว

โดยสรุป นักลงทุนสามารถใช้ ETF เป็นเครื่องมือในการลงทุน เพื่อกระจายความเสี่ยงได้ดี หรือแม้แต่การใช้เป็นเครื่องมือในการเก็งกำไร โดยภาพรวมตลาดและตัวอย่าง ETF ที่ผมกล่าวถึงข้างต้น แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของตลาด ETF ในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งผมมองว่าจะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องทุกปี เห็นได้จากอัตราการเติบโตของขนาด AUM ของ ETF ทั่วโลกที่เฉลี่ยปีละ 24% ใน 5 ปีที่ผ่านมา ยิ่งตอกย้ำว่า ETF เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการลงทุนที่น่าสนใจและมีประสิทธิภาพที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม ทั้งนี้ผู้อ่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก www.bualuang.co.th/globalinvesting ครับ