posttoday

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วย “การกระจายการฉีดวัคซีน” ให้มีประสิทธิภาพ

28 กรกฎาคม 2564

การฉีดวัคซีนที่ทำอยู่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ได้ช่วยในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้มาก เพราะวัคซีนไม่พอแล้วและการจัดสรรยังไม่เป็นระบบที่เป็นปัญหาร้ายมากกว่า

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ศาสตราจารย์ ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[email protected] และ ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ www.econ.nida.ac.th; [email protected]

จากปัญหาในการกระจายวัคซีนพร้อมกับการระบาดที่ส่งผลทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มจากหลักร้อยต่อวัน เป็นหลักพันต่อวัน จนกระทั่งเป็นหลักหมื่นต่อวัน ทำให้ทุกภาคส่วนทุกวันนี้มีข้อเสนอที่หลากหลายไปสู่ภาครัฐในการพยายามมุ่งเน้นในการจัดหาวัคซีน (ที่มีคุณภาพและสามารถป้องกันการติดเชื้อได้จริง)

แต่แท้จริงแล้ว ปัญหาของการฉีดวัคซีน ไม่ได้มีปัญหาเฉพาะวัคซีนมีจำนวนไม่เพียงพอแต่เพียงอย่างเดียว แต่ปัญหาที่ใหญ่ยิ่งกว่าก็คือ “การจัดสรรการฉีดวัคซีนที่มีอยู่เองก็เป็นการจัดสรรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ” หรือสามารถกล่าวได้ว่า ปัญหาในการกระจายวัคซีนนั้นจริงๆ แล้วเป็นปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ (Economics Problems) แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้มีนักเศรษฐศาสตร์แม้แต่คนเดียวที่ได้นั่งอยู่ในกรรมการพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชุดนี้ที่ตั้งขึ้นมาโดย ศบค. เลย และเมื่อไม่มีนักเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจระบบกลไกตลาด (Market Mechanism) ของการกระจายวัคซีนเข้าคอยช่วยเหลือ ก็ไม่ต้องแปลกใจอะไรที่ประสิทธิภาพของการกระจายวัคซีนถึงบิดเบี้ยวและเละตุ้มเป๊ะอย่างที่เห็นๆ กันอยู่

ปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ได้รับการแก้ไขในการกระจายวัคซีนก็คือ “การที่ภาครัฐกำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Target Group) ที่ผิด เอาง่ายๆ เราขอแบ่งกลุ่มของประชาชนตามตัวแปรประชากรใน 3 แบบโดยขอใช้ตัวแทนด้วยอักษรภาษาอังกฤษดังนี้

แบบที่ 1: เราสามารถแบ่งประชาชนออกเป็น 3 กลุ่ม ตามอายุ คือ

- ประชากรกลุ่ม A มีอายุน้อยกว่า 18 ปี,

- ประชากรกลุ่ม B คือมีอายุระหว่าง 18-59 ปี, และ

- ประชากรกลุ่ม C คือมีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

แบบที่ 2: เราสามารถแบ่งประชาชนตามความสามารถด้านการดูแลตัวเองตามสุขอนามัยได้เป็นสามกลุ่มได้แก่

- ประชากรกลุ่ม D คือกลุ่มที่ทำไม่ได้ดี (ใส่แมสเฉพาะในที่สาธารณะ เวลาจะเข้างานก็หยิบขึ้นมาจากคอ มือแปะข้างนอกแมสเป็นประจำ ใส่แมสซ้ำ ไม่สนในล้างเจล หรือไม่มีตังซื้อเจลมาพกกับตัว),

- ประชากรกลุ่ม E คือกลุ่มที่ทำได้ดี (ระวังตัวสม่ำเสมอ ไม่ใช้มือจับที่หน้าแมส เปลี่ยนแมสเป็นประจำ ล้างมือด้วยสบู่เมื่อสัมผัสกับความเสี่ยง) และ

- ประชากรกลุ่ม F. คือกลุ่มที่ทำได้ดีมาก (มือวางอันดับ 1 เหมือนกลุ่ม E เพิ่มเติมคือ ล้างทุกสิ่งอย่าง เมื่อกลับถึงบ้านหรือทำความสะอาดของทุกสิ่งที่สั่งให้มาส่งที่บ้าน ฉีดพ่นฆ่าเชื้อที่บ้าน ไม่ยอมออกจากบ้าน คิดเสมอว่าคนอื่นคือตัวเชื้อโรค และเป็นกลุ่มที่มีอาการเครียดมาก)

แบบที่ 3: เราสามารถแบ่งประชาชนตามลักษณะงานคือ

- ประชากรกลุ่ม G คือกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์/ผู้ดูแลผู้ป่วยด่านหน้า มีความเสี่ยงสูง

- ประชากรกลุ่ม H คือ กลุ่มคนใช้แรงงาน ทำงานหน้างานที่จำเป็นต้องพบคนหลากหลายและจำนวนมาก(เช่น แม่ค้าในตลาด คนขับแท็กซี่/แกร๊ป พนักงาน 7-11 รปภ. คนกวาดถนน ช่างประปา ช่างไฟ คนงานก่อสร้าง คนในชุมชนแออัด ฯลฯ

- ประชากรกลุ่ม I คือกลุ่มพนักงานองค์กรรัฐ เอกชน ที่สามารถทำงาน (Work from Home) ได้อย่างสบายๆ

- ประชากรกลุ่ม J คือ กลุ่มคนที่ทำงานที่บ้าน แม่บ้าน ผู้ดูแลเด็ก คนชรา คนทำธุรกิจออนไลน์

- ประชากรกลุ่ม K คือกลุ่มเด็กนักเรียนที่จำเป็นต้องไปโรงเรียน แต่ถูกสั่งให้อยู่บ้านเพื่อเรียนออนไลน์ และ

- ประชากรกลุ่ม L. กลุ่มเด็กเล็กกว่าอนุบาลที่ยังไม่ต้องเข้าโรงเรียน

ทั้งนี้แน่นอนว่า ในแต่ละกลุ่ม 1-3 ประเภทข้างต้นอาจมีการไขว้กันได้ อยู่ที่ว่าเราจะจำแนกเขาด้วยวิธีการใด (อายุ, ลักษณะงาน, หรือทักษะในการป้องกันตัวเองให้ปราศจากการติดเชื้อ)

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วย “การกระจายการฉีดวัคซีน” ให้มีประสิทธิภาพ

สาเหตุที่เราบอกว่า รัฐยังไม่สามารถจัดสรรการฉีดวัคซีนที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นก็เพราะว่า “รัฐแบ่งกลุ่มเป้าหมายการฉีดวัคซีนออกเป็นกลุ่มตามอายุเท่านั้น” ซึ่งสาเหตุอาจเป็นเพราะอายุเป็นเรื่องทางกายภาพที่แพทย์คุ้นชินกับการวิเคราะห์โอกาสความเสี่ยง แต่เรื่องวัคซีนและการติดโรค มีเรื่องของพฤติกรรมเกี่ยวข้องด้วยอย่างมาก ปีกว่าๆที่ผ่านมาเราควรทราบว่าจริงๆ แล้ว

1. คนเสี่ยงติดเชื้อและเป็นผู้ที่แพร่กระจายเชื้อจริงๆ แล้วคือกลุ่ม A B มากกว่ากลุ่ม C

2. คนมีความเสี่ยงติดเชื้อและเป็นพาหะคือกลุ่ม D มากกว่ากลุ่ม E และ F. และ

3. กลุ่ม G, H, K คือกลุ่มที่ไม่สามารถทำงาน Work from Home ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่ม I, J, และ L ดังนั้นนโยบายล้อคดาวน์จึงสามารถควบคุมกลุ่ม I, J, และ L ได้เท่านั้น แต่ไม่ได้ผลกับกลุ่ม G, H, และ K ล้อคทุกครั้งก็เจ็บทุกครั้ง ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้นมามาก

4. นอกจากนั้น การล้อคดาวน์ที่ผ่านมาไม่มีผลกระทบกับการทำงานของกลุ่ม G, H, และ K (วัยรุ่น) เพราะด้วยพฤติกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมคนเหล่านี้ยังคงทำงานหรือเที่ยวเล่น ซึ่งโดยมากกลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่ม D. ที่ดูแลตัวเองได้ไม่ดีอาจเนื่องจากไม่มีความรู้มาก หรือไม่มีทรัพยากรเวลาและกำลังทรัพย์ในการซื้อหน้ากาก ล้างเจล รักษาระยะห่าง หากนึกภาพไม่ออก ลองแอบดูเด็กปั๊มแคะขี้มูก เกาก้น แล้วดึงแมสมาใส่ตอนมีลูกค้า หรือไปดูบ้านพักคนงานที่อยู่กินกันกัน 3-4 คนในห้องนอน 3 x 4 เมตร ไม่ได้มีห้อง Home Isolation เหมือนคนกลุ่ม F ที่โดยทั่วไปจะเป็นกลุ่มที่สบายที่สุดในช่วงล็อกดาวน์

จากสถิติการติดเชื้อล่าสุดพบว่า ผู้ติดเชื้อคือคนวัยแรงงาน คนทำงานเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด ในขณะที่คนที่เสียชีวิตก็อยู่ในกลุ่มนี้ก็เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ในขณะที่คนแก่สูงวัยถูกเก็บไว้ที่บ้าน และจะติดก็ต่อเมื่อคนกลุ่มนี้นำไปแพร่เชื้อที่บ้าน (โดยเฉพาะบ้านที่แออัด) ดังนั้นการใช้การกำหนดกลุ่มเป้าหมายบนระบบความรู้เดิมๆ ตามข้อ 1 คือให้คนสูงวัยก่อน (ต่อจากบุคลากรทางการแพทย์) จึงไม่ได้ช่วยลดการแพร่ระบาดแต่อย่างใด แต่ตรงกันข้าม มันยังทำให้การแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มที่เป็นพาหะหลักอย่างกลุ่ม B, G, H, และ K คือกลุ่มที่ได้วัคซีนน้อยที่สุด

สำหรับเด็กนักเรียน (กลุ่ม K) รัฐประกาศเรียนออนไลน์ไปเรื่อยๆ อันส่งผลทำให้การเรียนรู้และพัฒนาการทรัพยากรสำคัญของชาติถดถอยมาเกือบ 2 ปีแล้ว และแน่นอนว่ากลุ่มนี้คือกลุ่มที่ไม่มีใครคิดถึง โดยอาจจะเนื่องมาจากเขาไม่ใช่ Target group ในแบบที่ 1 และผู้กำหนดมาตรการเองก็อาจจะไม่ได้เดือดร้อนอะไร เพราะท่านอาจจะแก่เกินที่จะมีลูกอยู่ในวัยนี้แล้ว แต่แท้จริงแล้ว เด็กนักเรียนกลุ่ม K นี้ก็เป็นกลุ่มหลักอีกกลุ่มที่ มีแนวโน้มที่จะเอาเชื้อไปติดคนที่บ้าน (คิดหรือว่าช่วงล็อกดาวน์เด็กจะอยู่ที่บ้านทุกคนจริง หรือจะนั่งเรียนออนไลน์กันทั้งหมดจริง)

ในขณะที่ กลุ่มที่ปลอดภัยมากที่สุด ดูแลตัวเองได้ดีที่สุดได้รับวัคซีนแล้วและกำลังพูดถึงวัคซีนเข็มสามอย่างเคร่งเครียด! แบบว่า ฉันได้ 2 เข็มแล้ว แต่ฉันต้องไม่ติดเชื้อและมีกำลังทรัพย์ในการจอง Moderna จากภาคเอกชน หรือถ้ารวยๆ มาก ๆ ก็บินไปฉีด Pfizer ที่อเมริกาให้จบเรื่องไป

นี่คือวัฒนธรรมของไทย ที่มีการแบ่งชั้นวรรณะและมีระบบชนชั้นที่น่ารังเกียจบนความเป็นจริงที่ว่าไวรัสไม่ดูฐานะ แต่ไวรัสตัวนี้ “คนจนติดได้ไวกว่าเพราะสภาพแวดล้อมความจำเป็น และคนรวยจะไม่รอดเพราะคนจนที่ทำงานให้หน้างานเขาไม่รอด!”

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วย “การกระจายการฉีดวัคซีน” ให้มีประสิทธิภาพ

ข้อมูลง่ายๆ ทั้งหมดนี้ กำลังชี้เป้าไปที่ข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐกำลังจัดสรรวัคซีนไปยังกลุ่มที่ผิดพลาด พอติดมากขึ้นก็สั่งล็อคดาวน์ พอมากขึ้นอีกหน่อยก็มีนโยบายเยียวยาเป็นระยะๆ แต่ไม่เคยมองที่ต้นตอของปัญหาว่า ทำอย่างไรจะฉีดวัคซีนได้ตรงเป้า (Right Target) เพื่อลดการแพร่ระบาดเป็นหลัก และแน่นอนว่า เมื่อจำนวนการแพร่ระบาดลดลง จำนวนผู้เสียชีวิตก็ย่อมลดลงตามมาด้วย

ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้อง

1. จัดระเบียบความสำคัญ (Priority) การฉีดวัคซีนใหม่ตามกลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มของการเป็น “พาหะสูง” เสียก่อน ซึ่งอาจแตกต่างจากมุมมองของ ศบค. (ที่คุมด้วยแพทย์) ที่มักไปเลือกที่ไปที่กลุ่มผู้สูงอายุ แต่ถ้าถามผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่นๆ เช่น นักระบาดวิทยา, นักวิทยาศาสตร์, หรือนักเศรษฐศาสตร์ เขาน่าจะตอบว่าตอนนี้หากจัดการ “พาหะ” ไม่ได้ คน (โดยเฉพาะผู้สูงอายุ) ก็มีโอกาสที่จะเสียชีวิตมากขึ้น

2. ฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าเป็นอันดับแรก ต่อมาให้เร่งกำหนดกลุ่มเป้าหมายโดยเน้นที่กลุ่ม H, K และกลุ่ม B ให้เร็วที่สุด (อันนี้สำคัญ) โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาดสูง

3. เมื่อเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายตามข้างต้นแล้ว ให้หาวัคซีนคุณภาพสูง (เช่น Pfizer หรือ Moderna) ให้กลุ่ม H, K, B. ให้เกิดการต้านสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้มากที่สุด คนทำงานโรงงาน, ร้านอาหาร, แม่ค้าในตลาดต้องได้ฉีดวัคซีนดีก่อน, น้องพนักงานร้านสะดวกซื้อต้องได้ฉีด, นักเรียนต้องได้ฉีดเพื่อจะได้ไปโรงเรียน ฯลฯ ไม่ใช่เก็บวัคซีนไว้ให้ผู้สูงวัยที่อยู่แต่บ้าน ถ้ากลุ่มนี้ไม่เอาเชื้อไปติด ผู้สูงวัยท่านก็ปลอดภัยด้วย

4. หากจัดหาวัคซีนใหม่คุณภาพสูงอย่าง Pfizer หรือ Moderna ให้กับกลุ่มในข้อ 2 และ 3 ไม่ได้ อย่างน้อยขอให้จัดการระบบสต้อควัคซีนใหม่ จัดเข็มสองที่กันไว้มาฉีดเป็นเข็มแรกให้กลุ่มเสี่ยงก่อน

5. ในกรณีของเด็กนักเรียน (กลุ่ม K) ที่มีอายุระหว่าง 12-17 ปี ขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 5,567,725 คน ถ้าไม่สามารถจัดสรร Pfizer ให้ได้ (เพราะเป็นวัคซีนเดียวที่สามารถฉีดให้เด็กในกลุ่มอายุนี้ได้) ขอให้ใช้ Sinovac ที่กำลังถูก “ด้อยค่า” และมีแนวโน้มจะเหลือเกินฉีดให้กลุ่มนักเรียน (12-17 ปี) นี้ก่อน เพราะปลอดภัยและสามารถป้องกันได้ดีในระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ช่วยลดการแพร่ระบาดจากประชากรกลุ่มนี้ได้ (ประเทศจีนใช้ Sinovac ฉีดเด็กที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไปแล้ว)

ดังนั้น ในการประกาศล้อคดาวน์ประเทศในแต่ละครั้ง ภาครัฐควรตระหนักว่า การล็อกดาวน์แต่ละครั้งมันมี “ต้นทุน” ที่สูงมาก และอาจจะไม่ได้ช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้จริง แต่ถ้าล็อกดาวน์และเร่งระดมการฉีดวัคซีนให้ตรงกลุ่มเป้าหมายตามที่ระบุไว้ข้างต้นด้วย ไม่เช่นนั้นการล็อดดาวน์ที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงแค่การยื้อเวลาเท่านั้น

สุดท้ายนี้ มีคำถามคาใจที่อยากถามคนท่านผู้อ่าน รวมไปถึงคนคิดนโยบายที่ ศบค. ว่า “ท่านคิดอย่างไรกับการนำวัคซีนคุณภาพดี เช่น โมเดอร์น่า ไฟเซอร์ ไปฉีดให้คนทำงาน แม่บ้าน คนกวาดถนน คนขับแกร๊ป แม่ค้าในตลาด ฯลฯ ก่อนที่จะฉีดให้กับท่านเอง” ขอให้ตอบในแว๊บแรกที่ท่านคิด

คำตอบของท่านจะบอกเองว่า ท่านอยู่ในกลุ่มไหน (A ถึง L) และจะบอกให้ท่านทราบเองว่า เพราะเหตุใด “การฉีดวัคซีนที่กำลังทำอยู่ถึงเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ” และไม่ได้ช่วยในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้มากเท่าที่ควรจะเป็น