posttoday

จับ 4 ธีมสร้างกำไรใน China Megatrends

12 กรกฎาคม 2564

การปรับฐานของตลาดหุ้นจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 จากความกังวลต่อการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดจากธนาคารกลางจีน รวมถึงการที่ภาครัฐได้เข้ามากำกับดูแลบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีหลายบริษัทของจีน เพื่อลดการผูกขาดทางการค้า ได้ส่งผลให้ Valuation ดัชนีของตลาดหุ้นจีนยังคงซื้อ-ขายในระดับ Fwd PE เพียงแค่ประมาณ 15 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่า Valuation ของดัชนีตลาดหุ้นของสหรัฐฯ ที่มีค่า Fwd PE สูงถึงราว 22 เท่า สะท้อนให้เห็นว่า Valuation ของดัชนีตลาดหุ้นจีน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่อันดับ 2 ของโลกยัง “มีส่วนลด” อย่างมาก เมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นของเศรษฐกิจเบอร์ 1 ของโลกอย่างสหรัฐฯ 

โดย ภาคภูมิ พีรยวัฒนา AFPT™

Wealth Manager ธนาคารทิสโก้

หากพิจารณาลงไปในรายอุตสาหกรรมแล้ว จะพบว่าราคาหุ้นจีนหลายกลุ่มก็ได้มีการปรับตัวลดลงมาเช่นเดียวกัน ทำให้หุ้นจีนในกลุ่มธุรกิจ “New Economy” และเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ใน Megatrends มีความน่าสนใจในการลงทุนมากกว่าดัชนีตลาดหุ้นจีนที่ยังมีสัดส่วนธุรกิจแบบ “Old Economy” สูงถึงกว่า 50% โดยเรามองว่า 4 ธีม Megatrends การลงทุนหุ้นจีนที่น่าสนใจในการลงทุนระยะยาว มีดังนี้

Consumption : เป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากพลังการบริโภคของประชากรจีนที่มีจำนวนกว่า 1,400 ล้านคน ซึ่งกำลังมีระดับรายได้ขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้รับผลบวกจากนโยบายภาครัฐที่ตั้งเป้าจะยกระดับ Domestic Consumption ให้ขยายตัวขึ้น ลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศอีกด้วย บทวิเคราะห์จาก Morgan Stanley ได้ประมาณการว่า รายได้ภาคครัวเรือนของคนจีนจะเพิ่มขึ้นอีกสองเท่าตัวภายในปี 2030 จากระดับปัจจุบันที่ 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไปเป็น 12,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นนั้นจะเป็นปัจจัยหลักในการหนุนให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยในจีนสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันช่องทางการบริโภคหลักของคนจีน จะมาจากส่วนของ Online Retails หรือ E-commerce ซึ่งจีนถือเป็นตลาด E-commerce ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยในปี 2020 ที่ผ่านมา ยอดขายสินค้าผ่านช่องทาง E-commerce ของประเทศจีนอยู่ที่ระดับ 2.29 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นสัดส่วน 45% ของยอดค้าปลีกทั้งหมด) ใหญ่กว่ายอดขาย E-commerce ของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ระดับ 7.94 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถึงเกือบสามเท่าตัว ทั้งนี้ eMarketer คาดการณ์ว่าตลาด E-commerce ของจีนจะยังเติบโตขึ้นอีก 21% ในปี 2021 ขึ้นไปแตะระดับ 2.77 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Technology : ถือเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอัตราการเข้าถึง Internet ของประชากรจีนที่เพิ่มสูงขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา ในปัจจุบัน จีนมีจำนวนผู้ใช้งาน Internet กว่า 1 พันล้านคนหรือคิดเป็น 67% ของจำนวนประชากร โดยบริการที่คนจีนนิยมใช้งานผ่านระบบ Internet ได้แก่ การรับ-ส่งข้อความแบบ Instant Message, การค้นหาข้อมูลผ่าน Search Engine, การชำระเงินผ่านระบบ Online Payment รวมไปถึงการเล่นเกมหรือดูวิดีโอต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ ทำให้กิจการที่ขายสินค้าหรือให้บริการผ่านระบบ Internet ในประเทศจีน ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคและการพัฒนาของเทคโนโลยี  

ในอนาคตยุคหลัง COVID-19 รัฐบาลจีนยังคงวางเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี 5.0 ทั้ง 5G, AI, Internet of Things, Semiconductors และ Smart Cities ทำให้หุ้นกลุ่ม IT ของจีน ยังมีศักยภาพในการเติบโตระยะยาวอีกมหาศาลในฐานะหัวหอกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศจีนขึ้นไปท้าชิงตำแหน่งผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลกกับสหรัฐฯ 

Healthcare : อุตสาหกรรม Healthcare ของจีนถือเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดธุรกิจการแพทย์ Top 5 ของโลก ข้อมูลจาก WHO ชี้ว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาตลาด Healthcare ของจีนสามารถเติบโตเฉลี่ยได้ถึง 11% แบบทบต้น เทียบกับตลาด Healthcare ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐฯ ที่เติบโตเฉลี่ยได้เพียง 4% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันการเติบโตของธุรกิจการแพทย์ของจีนในระยะยาว ก็คือ ลักษณะโครงสร้างประชากรที่มีจำนวนมหาศาล แต่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้จีนกำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) ภายในปี 2025 ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวมาพร้อมกับโอกาสในการเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรงชนิดต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นของประชากรจีนและส่งผลให้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาพยาบาลมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตาม ปัจุบันค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนจีนในภาพรวม ยังอยู่ในระดับที่ต่ำเพียง 5.4% ของ GDP เท่านั้น โดยตัวเลขดังกล่าวยังต่ำกว่าของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ระดับ 17% ของ GDP 

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังได้มีการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม Healthcare ผ่าน “Healthy China 2030 Plan” ด้วยการพัฒนาคุณภาพยาร่วมกับต่างชาติ เพิ่มความคล่องตัวในการอนุมัติยาตัวใหม่ ตลอดจนเพิ่มงบประมาณในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในอุตสาหกรรม Healthcare โดยในช่วง 3 ปีข้างหน้า คาดว่าจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยถึง 17.7% ต่อปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงแค่ราว 4.5% ต่อปี

ความต้องการในสินค้าและบริการทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นนั้น จะส่งผลให้บริษัทในกลุ่ม Healthcare อย่างเช่น บริษัทผู้ผลิตยา, บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ, โรงพยาบาล, ผู้ผลิตอุปกรณ์การแพทย์ และ Telemedicine เป็นกิจการที่ได้รับประโยชน์จาก Megatrend ของสังคมผู้สูงอายุในจีน 

Clean Technology : รัฐบาลจีนได้มีการปรับยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญใน China’s 14th Five-year Plan โดยหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าว่าจีนจะต้องเป็นประเทศที่ “ปลอดคาร์บอน” ให้ได้ภายในปี 2060 ในปัจจุบันจีนถือเป็นประเทศที่มีเม็ดเงินลงทุนด้านการปฏิรูปพลังงานสูงที่สุดในโลกที่ระดับ 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นำหน้าสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศทางฝั่งยุโรปที่มีงบประมาณดังกล่าวเพียงแค่ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 2-3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลจีนในการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานสะอาด เพื่อลดมลพิษที่เกิดขึ้นภายในประเทศ

Megatrend ด้านพลังงานสะอาดในจีน ถือเป็นโอกาสในการเติบโตครั้งสำคัญของหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน ไล่ตั้งแต่อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการเพิ่มกำลังการผลิต รวมถึงอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ สถานีชาร์จและรถยนต์ไฟฟ้า โดยปัจจุบันจีนถือเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและสามารถทำยอดขายรถยนต์ EVs ได้สูงถึง 1.3 ล้านคันในปี 2020 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ Credit Suisse ได้มีการคาดการณ์ว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในจีนจะยังสามารถเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องสู่ระดับ 12 ล้านคันได้ภายในปี 2030 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยทบต้นที่สูงถึง 25% ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของจีนยังอยู่แค่เพียงในระยะเริ่มต้นเท่านั้น

เรามองว่ากลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นจีนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นในระยะยาว ควรเป็นกลยุทธ์แบบ “เลือกลงทุนรายอุตสาหกรรมที่อยู่ใน Megatrends” มากกว่าการลงทุนในดัชนีตลาด โดยนักลงทุนควรมุ่งเน้นอุตสาหกรรมที่จีนมีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก มีแนวโน้มในการเติบโตอย่างชัดเจนและได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายจากทางภาครัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมได้อย่างแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพในระยะยาว