posttoday

เรียนรู้การบริหารจัดการวัคซีนประเทศผู้นำเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

07 มิถุนายน 2564

จากการระบาดระลอกที่ 3 ของโควิด-19 สายพันธ์อังกฤษในไทยที่ยังไม่มีทีท่าลดลง ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเร่งฉีดและกระจายวัคซีน เพราะวัคซีนดูจะเป็นทางออกเดียวที่จะช่วยให้คนไทย สังคมไทยและเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ลดลง

โดย ชัยยศ ตันพิสุทธิ์

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

โดยในช่วงที่ผ่านมาหลายประเทศในยุโรป อเมริกา และเอเซีย ที่มีการระบาดหนักไปก่อนหน้า ได้เริ่มฉีดวัคซีนที่แรกของโลกตั้งแต่ ธ.ค. 2563 ของสหราชอาณาจักร หรือสหรัฐอเมริการที่เริ่มฉีดเมื่อ ม.ค. 2564 ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าการบริหารจัดการวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วนั้น จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยให้มุมมองของ 2 กลุ่มประเทศในด้านการรับวัคซีนไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้ 

กลุ่มผุ้นำทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกในฐานะผู้พัฒนาวัคซีน

มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และ EU เป็นกลุ่มชาติแรกๆ ที่ริเริ่มฉีดวัคซีนในภาวะฉุกเฉิน ทั้งวัคซีนไฟเซอร์ โมเดอร์นา จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และแอสตร้าเซเนกา จนถึงปัจจุบันมีอัตราส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เช่น สหรัฐฯ มีสัญญาณบวกทางเศรษฐกิจก่อนประเทศอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน โดยฉีดวัคซีนไปแล้วเป็นอันดับ 4 ต่อประชากรของโลก รองจากอิสราเอล UK และบาห็เรน ทั้งนี้ สหรัฐฯ มี GDP ขยายตัวได้ราว 6.4% ในไตรมาสแรกของปีนี้ บวกกับมาตรการเยียวยา 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงสามารถเปิดประเทศและกลับมาใช้ชีวิตใกล้เป็นปกติ ขณะที่สหภาพยุโรป มี UK เป็นแกนนำในการฉีดและกระจายวัคซีนที่ปัจจุบันกระจายได้มากกว่า 60% ของประชากร และสูงป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีตัวเลขของผู้ติดเชื้อใหม่ต่อวันจำนวนน้อยลงมาก จึงเป็นสัญญาณบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยธนาคารอังกฤษคาดว่าเศรษฐกิจของประเทศในปี 2564 น่าจะกลับมาเติบโตได้ที่ 7.25% (จากที่หดตัว 10% ในปี 2563)

อย่างไรก็ดี ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปโดยรวมก็ยังมีอุปสรรคของการกระจายวัคซีนซึ่งแตกต่างจาก UK อย่างเช่น เยอรมัน และฝรั่งเศส แม้จะฉีดวัคซีนได้ใกล้ 40% - 50% ของประชากรแล้ว เพราะเริ่มฉีดได้กลุ่มแรกๆในโลก แต่ก็ยังมีตัวเลขของผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันสูงอยู่ใกล้หมื่นรายหรือมากกว่าต่อวัน โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมของ EU ในปีนี้จะขยายตัวได้ถึง 4.5%

กลุ่มผู้นำทางเศรษฐกิจของเอเซียที่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ผู้พัฒนาวัคซีน       

ประเทศในภูมิภาคเอเซียยกเว้นประเทศจีนส่วนใหญ่ไม่ใช่ผู้พัฒนาวัคซีน ซึ่งจีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ทำได้ดีทั้งในแง่ของการควบคุมโรคโควิด-19 และการกระจายวัคซีน โดยมีวัคซีน Sinopharm และ Sinovac ที่ผลิตได้เองร่วมขับเคลื่อน ทั้งนี้มีตัวเลขจำนวนโดสที่ฉีดไปแล้ว แม้จะยังไม่ถึง 50% ของประชากรแต่ก็ไม่ไกลมาก โดยการระบาดที่ควบคุมได้นี้ ส่งให้จีนมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาได้ใกล้เคียงปกติซึ่งคาดว่าจีนจะมี GDP โตถึง 8.4% ในปี 64

และที่น่าจะบทเรียนสำคัญ คือ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจของโลก แต่การกระจายวัคซีนต่ำหรือไม่ถึง 3% จากปัจจัยต่างๆ เช่น

1. ความไม่มั่นใจต่อการฉีดวัคซีนของชาวญี่ปุ่นจากผลเชิงลบในอดีต เช่น ในทศวรรษ 1970 ที่เด็กทารกเสียชีวิตจากวัคซีนไอกรน ปี 1980 มีอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนคางทูมและหัดเยอรมัน และปี 2013 วัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่ต้องถูกยกเลิกไป

2. การคาดการณ์ที่ผิดพลาดจากที่เคยคาดหวังว่าจะผลิตวัคซีนได้เอง แต่ก็ไม่บรรลุวัตกุประสงค์ จนต้องเข้าคิวสั่งวัคซีนจากประเทศอื่น

3. การอนุมัติการใช้วัคซีนที่ใช้เวลานานมาก มีขั้นตอนมากต้องเทสต์แล้วเทสต์อีก

4. การอนุรักษ์นิยมของแพทย์ญี่ปุ่นที่เลือกใช้แพทย์เท่านั้นในการฉีดวัคซีน ในขณะที่สหรัฐฯ ใช้ทั้งหมอ พยาบาล เภสัชกร และอาสาสมัครในการตะลุยฉีดวัคซีน

5. ปัญหาของระบบราชการที่ล่าช้าซึ่งกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นเคยแจ้งเตือนไว้เมื่อ 3 ปีก่อนว่าการผลิตวัคซีนของญี่ปุ่นไม่สามารถแข่งขันได้ และประชากรก็มีความรู้เกี่ยวกับวัคซีนต่ำ นอกจากนี้การระบาดรายวันที่ยังสูงในปัจจุบันของญี่ปุ่น จึงสุ่มเสี่ยงต่อการเลื่อนการจัดงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิกในกรกฎาคมออกไปอีกครั้ง อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นก็พยายามแก้ไขปัญหา โดยใช้ทหารดึงกองกำลังป้องกันตัวเอง เข้ามาจัดการคุมศูนย์วัคซีนทั้งในโตเกียวและโอซากาเพื่อเร่งฉีดวัคซีนได้รวดเร็วและเป็นไปตามเป้าหมายยิ่งขึ้น  

ในขณะที่เกาหลีใต้สามารถจำกัดการระบาดได้ค่อนข้างดี โดยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อราว 500 - 700 คนต่อวัน แม้ตัวเลขการฉีดวัคซีนของเกาหลีใต้จะยังไม่โดดเด่นจากความกังวลของประชาชนส่วนมากต่อการฉีดวัคซีนบางยี่ห้อ แต่หากมีวัคซีนทางเลือกมากขึ้นก็น่าจะมีจำนวนผู้ฉีควัคซีนเพิ่มขึ้นมาก โดยคาดการณ์ว่าปีนี้จะมี GDP เติบโต 3.6%

การเรียนรู้การบริหารจัดการวัคซีนจากหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกัน ล้วนส่งผลดีต่อการหลุดพ้นจากวิกฤตโควิด ช้าเร็แตกต่างกัน ยิ่งทำได้เร็วก็ยิ่งเร่งให้เกิดการพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจ โดยหากทุกภาคส่วนของประเทศไทย ร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จากปริมาณวัคซีนที่มีจำนวนเพียงพอต่อประชากร และความร่วมมือร่วมใจออกไปฉีดวัคซีนของคนไทยให้ได้มากที่สุดและโดยเร็ว ตัวเลข GDP ของไทยที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ไว้ในปี 64 นี้ที่ 1.8% ก็มีความเป็นไปได้