posttoday

วัคซีนป้องกันการติดหุ้น IPO

01 มิถุนายน 2564

เรื่องหุ้น IPO ที่ร้อนแรงในตลาดหุ้น เป็นกระแสที่นักลงทุนสนใจและหวังทำกำไรจากหุ้นจองเหล่านี้

คอลัมน์ทันเศรษฐกิจ โดย...รองศาสตราจารย์ ดร.ปริยดา สุขเจริญสิน ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)www.econ.nida.ac.th

ประเด็นร้อนในช่วงนี้นอกเหนือจากเรื่องสถิติผู้ติดเชื้อโควิด-19 และการลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีน ใครพร้อมไม่พร้อมทั้งหลายแล้ว ก็มีเรื่องหุ้น IPO ที่ร้อนแรงในตลาดหุ้น เป็นกระแสที่นักลงทุนสนใจและหวังทำกำไรจากหุ้นจองเหล่านี้ โดยในปี พ.ศ. 2562 และ 2563 แม้จะเป็นช่วงระบาดของโควิด-19 ก็มีหลักทรัพย์ IPO ถึง 32 และ 28 หลักทรัพย์ ตามลำดับ (นับรวม IFF/PFUND/REIT ด้วย) และในปี พ.ศ. 2564 ที่ยังไม่ถึงครึ่งปี แค่เฉพาะหุ้น IPO ก็มีบริษัทใหญ่เล็กเปิดตัวมาแล้วถึง 14 หุ้น และยังมีเข้าแถวอยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอเข้าจดทะเบียนเตรียมเข้า IPO อีกสิบกว่าหุ้นที่อีกไม่นานก็คงได้เห็นขึ้นกระดานกัน

สำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ในตลาดทุนคงสงสัยว่าหุ้น IPO คืออะไร ทำไมคนถึงสนใจกันนัก การที่บริษัททำการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรก (Initial Public Offerings) หรือที่เรียกกันว่าออกหุ้น IPO นั้น เป็นวิธีการระดมทุนช่องทางหนึ่งของบริษัท นอกเหนือจากการกู้เงินและการออกหุ้นกู้ อาจจะเพื่อใช้สำหรับการลงทุนขยายกิจการ ชำระคืนหนี้ หรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของกิจการ โดยหุ้น IPO หมายถึง หุ้นที่มีการซื้อขายเป็นครั้งแรกให้กับประชาชนโดยทั่วไป เพื่อมาจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งของไทยเราก็คือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยก่อนที่จะเข้ามาจดทะเบียนได้นั้น ต้องผ่านเกณฑ์คุณสมบัติต่างๆ มาแล้ว ทั้งในเรื่องของทุน ฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน การกำกับดูแลกิจการ การเปิดเผยข้อมูล ความโปร่งใส เป็นต้น

ในกระบวนการเตรียมออกเสนอขายหุ้น IPO นั้น บริษัทที่มีความประสงค์จะออกเสนอขายหุ้น IPO และผ่านเกณฑ์อนุญาตเสนอขายหุ้นต่อประชาชนของตลาดหลักทรัพย์แล้ว สามารถแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อขอยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน ซึ่งจะประกอบด้วยข้อมูลสำคัญของบริษัท เช่น ข้อมูลสรุปบริษัท ลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัทปัจจุบัน แผนการประกอบธุรกิจในอนาคต ผู้ถือหุ้นและโครงสร้างเงินทุน รวมถึงข้อมูลทางการเงินย้อนหลังของบริษัท เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตรวจสอบและอนุญาต เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว บริษัทจึงทำการแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายเพื่อทำการขายหุ้น IPO ให้แก่ประชาชนต่อไป

ในการจัดสรรหุ้น IPO มีหลากหลายวิธี โดยส่วนใหญ่จะใช้วิธีการจัดสรรให้กับผู้มีอุปการคุณ นักลงทุนสถาบัน พนักงานบริษัท และลูกค้า ซึ่งการกระจายหุ้น IPO จะเป็นลักษณะใครมาก่อนได้รับการจัดสรรก่อน ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนที่จองซื้อก่อนหรือมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้จัดจำหน่ายหรือมีปริมาณการซื้อขายมากๆ ก็จะได้รับการจัดสรรมากกว่านักลงทุนคนอื่นๆ แต่ความน่าสนใจของหุ้น IPO ช่วงหลังที่ทำให้เกิดกระแสร้อนแรงขึ้นมาจะอยู่ที่วิธี Small Lot First หรือวิธีที่ให้ผู้จองซื้อหุ้นจำนวนน้อยก่อน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักลงทุนที่ต้องการจองซื้อหุ้น IPO ได้รับการจัดสรรอย่างทั่วถึงที่สุด อย่างเช่นการจัดสรรหุ้น ของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือที่เรียกว่า หุ้น OR ซึ่งได้จัดสรรให้กับรายย่อยในรอบแรกก่อน แล้วค่อยจัดสรรส่วนที่เหลือวนไป โดยรอบสุดท้ายค่อยใช้การสุ่มเลือกจนกว่าหุ้นจะหมด ทำให้ผู้จองซื้อรายย่อยจะได้รับหุ้นกันอย่างทั่วถึง แต่ถ้าใครจองซื้อเยอะก็มีโอกาสได้หุ้นไม่ครบ แต่จะได้เงินจองซื้อส่วนที่เหลือคืน อย่างไรก็ตาม หากมีจำนวนรายการและยอดจองซื้อเข้ามาสูงกว่าจำนวนหุ้นที่จะจัดสรรและเกินกว่าที่จะสามารถจัดสรรจำนวนหุ้นขั้นต่ำในรอบแรกให้แก่ผู้จองซื้อรายย่อยได้ครบทุกราย เช่น กรณีหุ้น IPO ของบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR นั้น ระบบต้องดำเนินการสุ่มเลือกในการจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้จองซื้อรายย่อยตามจำนวนจองซื้อขั้นต่ำ ทำให้ไม่สามารถได้รับหุ้นกันครบทุกราย จนเกิดกระแสการแชร์กันในสื่อสังคมออนไลน์ว่าใครได้ใครอดบ้าง ซึ่งในการจองซื้อหุ้น IPO กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์อยู่ก่อนหน้าอีกด้วย จึงทำให้หุ้น IPO ที่น่าสนใจสามารถสร้างกระแสและดึงดูดให้เกิดนักลงทุนหน้าใสเข้าตลาดหุ้นมาได้อีกหลายราย แต่เนื่องจากหุ้น IPO มีจำนวนที่ค่อนข้างจำกัด ทำให้คนที่จะได้หุ้นจองมีเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น จึงทำให้เราน่าจะได้เห็นการจัดสรรแบบ Small Lot First กันอีก เพราะกระแสจากกรณีของ OR และ TIDLOR ที่เป็น Talk of the Town ทั้งติดปากและติดหูกันทั่วนั้น ทำให้บริษัทเป็นที่รู้จัก ประชาชนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของและต้องการสนับสนุนกิจการของบริษัท นับเป็นช่องทางหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ทางอ้อมนอกจากนี้ ยังมีผลทางจิตวิทยา นั่นคือ การที่ทุกคนเข้าถึงหุ้น IPO ในวงกว้างมากที่สุด แต่ได้จำนวนหุ้นไม่มากนี้ ก่อให้เกิดอุปสงค์ให้กับหุ้นเข้าตลาดใหม่เหล่านี้ ซึ่งจะมีผลต่อการซื้อขายและราคาหุ้นหลังการเข้าซื้อขายในตลาดอีกด้วย

ด้วยความร้อนแรงของกระแสหุ้น IPO นี้ ทำให้ทั้งนักลงทุนหน้าเก่าและหน้าใหม่ต่างก็จับตามองหุ้น IPO อยากจองซื้อก่อนหุ้นจะเข้าตลาดกันรัวๆ จากสถิติของการลงทุนในหุ้น IPO ที่ผ่านมา ถ้าสภาพตลาดมีแนวโน้มที่ดี จะส่งผลให้หุ้น IPO ที่เข้ามาซื้อขายในวันแรก ราคาปิดสูงกว่าราคาจอง (underpricing) ซึ่งการเกิดขึ้นของเหตุการณ์นี้อาจเนื่องมาจากการเสนอราคาขายหุ้น IPO โดยเจตนาเพื่อเพิ่มอุปสงค์และกระตุ้นให้นักลงทุนกล้าเสี่ยงที่จะลงทุนในบริษัทหน้าใหม่ หรืออาจเกิดจากผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ประเมินอุปสงค์ของหุ้นนี้ต่ำเกินไป จึงทำให้ตั้งราคาต่ำเกินไป ซึ่งศาสตราจารย์ Jay Ritter ที่เป็นเจ้าพ่องานวิจัยเกี่ยวกับหุ้น IPO ได้กล่าวเกี่ยวกับปรากฏการณ์ IPO Underpricing นี้ไว้ว่า จะเกิดขึ้นในระยะสั้น โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า บริษัทที่เข้าตลาดในช่วงสามปีแรกนั้นยังมีผลการดำเนินงานที่ต่ำกว่าบริษัทคู่เทียบที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งยิ่งเห็นชัดในกรณีที่บริษัทได้ออกหุ้น IPO ในช่วงยอดฮิตของตลาด เนื่องจากทั้งนักลงทุนก็ตามกันเกาะกระแสการลงทุนในหุ้น IPO และบริษัทก็รีบเกาะกระแสเช่นเดียวกันเพื่อคว้าโอกาสและอาศัยจังหวะให้การระดมทุนสำเร็จนั่นเองแม้ว่าการจองซื้อหุ้น IPO อาจเป็นการลงทุนที่มีโอกาสในการทำกำไรสูงภายในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ในช่วงแรกของการซื้อขายนั้น จะมีการเก็งกำไรอยู่ค่อนข้างสูง ทำให้ราคาหุ้นมีความผันผวนมาก ยิ่งถ้าหุ้นเข้าตลาดไม่ถูกจังหวะหรือราคาหุ้นจองสูงเกินไป ก็อาจทำให้หุ้นมีราคาตลาดต่ำกว่าราคาจองได้อีก ทำให้นักลงทุนหลายรายที่ติดใจหุ้น IPO อาจมีหุ้นใหม่ๆ เหล่านี้ติดดอยอยู่ ดังนั้น หากต้องการลงทุนในระยะยาวแล้ว ต้องศึกษาข้อมูลพื้นฐานของหุ้น IPO อย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้รู้จักหุ้นนี้ เพราะไม่เคยเข้ามาในตลาดมาก่อน สามารถศึกษาได้จากหนังสือชี้ชวนให้ทราบถึงกิจการที่บริษัทนี้ทำอยู่ พิจารณาโครงสร้างผู้ถือหุ้น ใครคือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เปรียบเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน วิเคราะห์ส่วนแบ่งการตลาดและความสามารถในการแข่งขันของบริษัท รวมถึงวิเคราะห์งบการเงินของบริษัท วิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน และคาดการณ์ผลประกอบการณ์ในอนาคต โดยวิเคราะห์จากงบกำไรขาดทุนเพื่อดูความสามารถในการทำกำไร วิเคราะห์งบกระแสเงินสดเพื่อดูความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดและคุณภาพของกำไร และวิเคราะห์งบดุลเพื่อตรวจสอบสถานะทางการเงิน ความสามารถในการชำระหนี้ และโครงสร้างเงินทุนของบริษัทให้ละเอียดถี่ถ้วน ไม่ควรรีบร้อนเข้ามาตามกระแส ควรรอให้ราคาหุ้น IPO เริ่มมีเสถียรภาพ สะท้อนปัจจัยพื้นฐานของบริษัทได้ดีขึ้นก่อน เป็นการป้องกันพอร์ตการลงทุนของเราให้แข็งแรง ลดโอกาสในการขาดทุน และช่วยสร้างผลตอบแทนให้เติบโตในระยะยาวได้