posttoday

คำแนะนำของกูรู เกี่ยวกับหนี้เช่าซื้อรถยนต์ในเวลานี้

31 พฤษภาคม 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่าย ๆ ตอนที่ 24/2564 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร?

บทความวันนี้ผู้เขียนขอนำเอาข้อคิด ความเห็นของกรรมการผู้จัดการ บริษัทเช่าซื้อค่ายสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศ เกี่ยวกับคนที่คิดจะกู้ซื้อรถยนต์ ท่านที่มีหนี้เงินกู้รถยนต์ หรือหนี้เช่าซื้อรถยนต์ซึ่งอยู่ในอาการ ผ่อนได้ เริ่มผ่อนไม่ไหว ผ่อนจะไม่ไหวอยู่แล้ว หรือคิดจะเอารถยนต์เจ้ากรรมไปคืนเจ้าหนี้ตามที่มาตรการให้ความช่วยเหลือระยะที่ 3 ซึ่งธนาคารแห่?งประเทศไทย (ธปท.) ได้กรุณาจัดออกมาให้ในช่วงการระบาดรอบสาม ท่ามกลางสถานการณ์ข่าวมั่วเรื่องวัคซีน คำแนะนำของท่านกรรมการผู้จัดการ บริษัทเช่าซื้อค่ายสถาบันการเงินสีเขียว ย่านถนนพหลโยธินที่พึ่งประกาศย้ายฮวงจุ้ยสำนักงานใหญ่ระบุว่า

(1) กู้ซื้อรถยนต์อาจไม่ยาก แต่ต้องมีวินัยในการชำระหนี้สูง โดยเฉพาะในยุคโควิด 19 ที่อาจทำร้ายกระเป๋าเงินของเราอย่างหนักจากรายได้ที่ถดถอย ซึ่งถ้าประสบปัญหารายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย ขอให้เร่งติดต่อเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าซื้อโดยเร็วที่สุดเพื่อขอรับความช่วยเหลือเฉพาะหน้าและรักษาประวัติทางการเงินที่ดี

(2) อย่างไรก็ดี สิ่งที่ลูกหนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนที่จะขอรับความช่วยเหลือจากเจ้าหนี้ตามแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของ ธปท. คือ การเข้ามาตรการฯ ไม่ได้ช่วยให้ยอดหนี้รวมของเราลดลง แต่จะช่วยแบ่งเบาภาระของลูกหนี้ได้บางส่วนในระยะนี้ นอกจากนี้เงื่อนไขสำคัญของการขอเข้าโครงการผ่อนผันการชำระหนี้เช่าซื้อรถยนต์ คือ จะต้องยังไม่เป็นลูกหนี้ NPL โดยแนวทางให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งเปิดให้ยื่นได้ถึง 30 มิถุนายน 2564 นี้ มี 2 ทางเลือกด้วยกัน คือ (1) พักค่างวด 3 เดือน และ (2) ลดค่างวด-ขยายเวลา เพื่อช่วยให้ยอดผ่อนต่อเดือนมีความเหมาะสมกับกำลังความสามารถในการผ่อนหนี้ของลูกหนี้มากขึ้น

(3) ดังนั้น ถ้าเรามีหนี้เช่าซื้อรถยนต์และยังต้องการเป็นเจ้าของรถยนต์อยู่ จำเป็นที่ต้องตระหนักถึงความสำคัญของการประคองสถานะหนี้ไม่ให้ตกชั้นเป็น NPL แม้ในสถานการณ์วิกฤติโควิด 19 (ผู้เขียนเห็นด้วยและอยากย้ำตรงนี้หนัก ๆ นะครับ) โดยเร่งเจรจากับเจ้าหนี้ทันทีที่มีสัญญาณว่าอาจจะผ่อนค่างวดไม่ไหว เพื่อขอผ่อนผันการส่งค่างวดที่ตอบโจทย์รายได้และความสามารถในการชำระหนี้ภายใต้เงื่อนไขใหม่ (ผู้เขียน : มันคือการปรับโครงสร้างหนี้ตามรายได้ที่เราส่งค่างวดไหว)

(4) ลูกหนี้ต้องเข้าใจและทำใจให้ได้ว่า อย่างไรก็ดี การผ่อนผันนี้เป็นการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ตามสัญญาออกไป โดยที่ภาระหนี้รวมไม่ลดลงแต่ยังเพิ่มขึ้นตามดอกเบี้ยของค่างวดที่ยืดการจ่ายออกไป

ทีนี้ถ้าเราเป็น NPL หรือค้างค่างวด 3 งวดติดกันแล้ว ยังมีโอกาสขอรับความช่วยเหลือ แต่..น้อยกว่ากรณีแรก ก่อนอื่นขอแนะนำให้นับจำนวนวันที่ค้างชำระรวมตั้งแต่งวดแรกโดยด่วน และเร่งติดต่อเจ้าหนี้ก่อนถึงวันที่ 91 วัน (ตัวอย่างใบแจ้งหนี้ค่างวดทุกวันที่ 5 ถ้าไม่จ่าย 5 ม.ค. 5 ก.พ. และ 5 มี.ค. จนถึงวันที่ 5 มี.ค. เราค้างชำระ 3 งวดก็จริง แต่นับวันได้ 60 วัน) ระหว่างนี้ให้หมั่นสำรวจด้วยว่าได้รับจดหมายติดตามทวงถามหนี้หรือยัง (หลัง 5 มี.ค. เจ้าหนี้จะส่งจดหมายติดตามเพื่อแจ้งลูกหนี้ล่วงหน้า 30 วันก่อนยึดรถยนต์) ซึ่งระยะเวลารอคอย 30 วันนี้ เป็นช่วงที่ควรสำรวจใจตัวเองว่า

ทางเลือกที่ 1 : จะปล่อยให้รถถูกยึด => ถ้าขายทอดตลาดได้ราคาดีกว่ามูลหนี้ที่ค้าง เราได้เงินคืนตามส่วน คือรถยนต์ที่คืนเอาไปขายได้ราคาดีคุ้มหนี้แถมได้เงินทอนกลับมา แต่ถ้าขายได้ต่ำกว่ามูลหนี้ เรายังต้องจ่ายชดเชยส่วนต่างราคา (ผู้เขียน : มันคือหนี้ส่วนขาด หรือติ่งหนี้นั่นเอง) ทั้งนี้ ถ้าส่วนที่ขาดไม่สูงเกิน 3-4 หมื่นบาท เจ้าหนี้อาจยกประโยชน์ให้เพราะไม่คุ้มค่าฟ้อง แต่ถ้าส่วนต่างสูง เราต้องจ่ายตามมูลค่าที่ศาลตัดสิน

ทางเลือกที่ 2 : จะพยายามรักษารถยนต์ไว้ ต้องเจรจากับเจ้าหนี้และจ่ายหนี้เพื่อเลี่ยงการกลายเป็นลูกหนี้ NPL ก่อน จึงจะสามารถขอรับความช่วยเหลือได้ แต่ไม่สามารถเลือกข้อ 1 หรือพักค่างวดได้อีกต่อไป ทำได้เพียงการขอลดค่างวด-ขยายระยะเวลาคืนหนี้เท่านั้น

หันมาฟังสิ่งที่ท่านผู้ว่าการ ธปท. ที่ได้กรุณาให้ความคิดเห็นไว้ต่อสื่อมวลชน เป็นสิ่งที่ผู้เขียนขอเน้นย้ำว่าอยากให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาอย่างละเอียดความว่า... โจทย์ของรายย่อยไม่เหมือน SME โจทย์หลัก ๆ ของรายย่อยคือจัดการกับภาระหนี้ที่เขามีอยู่ให้เขาอยู่ได้ มากกว่าการให้สินเชื่อเพิ่ม ตอนนี้ในภาพรวมหนี้รายย่อยเยอะมาก ๆ อยู่แล้ว เราดูจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ก่อนเกิดโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้เพิ่มขึ้นไปเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ วิธีการแก้ปัญหาเลยไม่ใช่การเอาหนี้ไปโปะหนี้ (ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่ง เอาหนี้ไปแก้หนี้ก็จะตายเพราะหนี้แน่นอน)

เป็นที่มาของมาตรการระยะที่ 3 ที่ ธปท. ทำ ผมอยากย้ำว่ามาตรการระยะที่ 3 เป็นการปิดช่องว่าง สิ่งที่ ธปท. ทำมาโดยตลอดคือให้แน่ใจว่าเรามีมาตรการรองรับลูกหนี้ทุกกลุ่ม ในแต่ละบริบทที่เขาเจอ

ถ้าไม่มีปัญหาอะไร ชำระหนี้ได้ สิ่งที่เราแนะนำก็คือชำระหนี้ไปตามปกติ ดีที่สุด เพราะไม่อย่างนั้นภาระหนี้จะพอกไปเรื่อย ๆ

แต่สำหรับลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหา เริ่มชำระไม่ค่อยไหว ก็เข้ามาตรการสไตล์ลดค่างวด ยืดระยะเวลา ลดดอกเบี้ย สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์

ไล่ไปอีกถ้าลูกหนี้เริ่มมีปัญหา ชำระไม่ได้ ผิดนัดชำระหนี้ ก่อนหน้านี้ ธปท. ได้ออกมาตรการปรับวิธีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระใหม่ เดิมคำนวณจากเงินต้นทั้งหมดเปลี่ยนเป็นคำนวณจากค่างวดที่พลาดไป ช่วยลดภาระให้ลูกหนี้ที่สะดุดได้มหาศาล เพราะถ้าลูกหนี้ถูกคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระแพง ๆ หนี้ก็ยิ่งบาน โอกาสที่จะหลุดจากหนี้ยิ่งน้อยลง เสร็จแล้วเราก็มีมาตรการสำหรับปรับโครงสร้างหนี้ คลินิกแก้หนี้ สุดท้ายถ้าเป็น NPL ถูกฟ้องร้อง ก็มีกระบวนการไกล่เกลี่ยที่เราทำขึ้นมา

คงไม่ต้องกล่าวถึงบทสรุปนะครับ ยามนี้ถ้าไม่ไหวคือไม่ไหว ต้องคุยกับเจ้าหนี้ให้รู้เรื่อง ระบบของบ้านเรามี 1213 ครับ โทรไปที่เบอร์สี่ตัวนี้ถ้าติดขัดเพราะชื่อมันก็บอกแล้วว่าคือ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) นี่ครับ เราท่านทั้งหลายคือผู้ใช้บริการทางการเงินที่เรียกว่าสินเชื่อนั่นเอง