posttoday

เรายังพอมีหวังกับการหาสภาพคล่อง : ข้อเสนอบ้านๆ

10 พฤษภาคม 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่าย ๆ ตอนที่ 21/2564? โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร?????

ผู้เขียนตั้งสติจะเขียนบทความเพื่อขอสนับสนุนโครงการของทีมงานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ครั้งท่านผู้ว่าคนเดิม (ท่านวิรไท สันติประภพ) จนมาเริ่มปฏิบัติการ?ในยุคท่านผู้ว่าคนปัจจุบัน นั่นคือโครงการ Digital Factoring สรุปสั้น ๆ คือ

1. คนซื้อของคือกิจการขนาดใหญ่เล็กเราเรียกว่า Buyers ในบทความนี้ขอเน้นคนตัวใหญ่ มีความน่าเชื่อถือสูง เช่น Modern trade Big corporate ระดับบริษัทจดทะเบียน (SET Top 100)

2. คนขายคือ Suppliers ซึ่งส่วนใหญ่เป็น SMEs เขาเหล่านั้นคือเส้นเลือดฝอยที่ส่งสิ่งต่างๆ เข้าไปรวมร่าง ประกอบกันเป็นสินค้าหรือบริการของ Buyers ในท้ายที่สุด ถ้าเรานึกถึงสินค้าของกินที่อยู่ในเซเว่นอีเลฟเว่น ของเหล่านั้นมาจากการผลิตและส่งโดย SMEs มากมาย

3. คนขายเมื่อส่งของให้คนซื้อก็จะมีเอกสารตัวหนึ่งเรียกว่า Invoice หากของถูกคนซื้อตรวจแล้วผ่าน ก็จะเข้าสู่กระบวนการที่คนซื้อจะจ่ายเงินให้กับคนขายโดยมีระยะเวลาชำระเงิน 45 วันบ้าง 60 วันบ้าง 90 วันบ้าง

4. เอกสารตามข้อ 3 นั้นหากคนขายต้องการเงินก่อน ก็นำไปขายลดกับตัวกลางที่เป็นสถาบันการเงิน เมื่อถึงเวลาคนซื้อจ่ายมา ก็เอาเงินจากคนซื้อมาหักหนี้ ส่วนต่างก็คืนให้คนขายไป เรื่องมันควรจะง่ายแบบนี้แต่ว่า

4.1 เอกสารที่เป็นหลักฐานการส่งของและเรียกรับเงินนั้นเป็นของจริงไหม ซื้อขายจริงไหม

4.2 เอกสารนั้นคนขาย ได้นำไปยื่นขอกู้กับสถาบันการเงินหลายแห่งหรือไม่

4.3 คนซื้อของดึงเวลาตรวจสินค้าได้ไหม เช่น ควรเสร็จใน 1 สัปดาห์ก็ดึงเช็งเป็นตรวจ 3 สัปดาห์เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายเงินเร็ว

4.4 คนซื้อให้เขียนเงื่อนไขในเอกสารส่งของและเรียกเก็บเงินแบบว่า สงวนสิทธิ์ที่จะคืนของได้ภายใน 3 เดือน สงวนสิทธิ์นั่นโน่นนี่จนมันเกิดความไม่แน่นอนว่า ตอนสุดท้ายเวลาที่ถึงกำหนด สถาบันการเงินจะได้รับเงินจากคนขายแทนคนซื้อได้หรือเปล่า

4.5 ดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินคิดตอนรับซื้อ Invoice นั้นก็เล่นเสียแพง บางแห่งคนซื้อเป็นกิจการในครอบครัว คนขายก็เป็น SMEs ที่ค้าขายกันมา ตัวสถาบันการเงินที่รับซื้อ Invoice จากคนขายก็คือลูกหลานของคนซื้อ ดังนั้น SMEs เลยเหมือนทาสในเรือนเบี้ยนั่นเอง

5. โครงการของ ธปท. คือการสร้าง platform กลางที่จะใช้ในการตรวจสอบยืนยันว่า การซื้อขายมีจริงไม่โกหก เอกสารการซื้อขายเพื่อเก็บเงินจากคนซื้อไม่ปลอม ไม่มีการเอาไปขายกับสถาบันการเงินหลายแห่งในเวลาเดียวกัน และถ้ามีสถาบันการเงินทั้งผู้เล่นในปัจจุบันกับพวกธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐ เข้ามาร่วมวงด้วยมากๆ ก็จะทำใก้เกิดการแข่งขันในการให้สินเชื่อระยะสั้นเอาไปหมุนเวียนได้ดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ส่วนสมาคมหรือสมาพันธ์ของผู้ซื้อที่เป็น Big corporate ถ้าเข้ามาร่วมวงไพบูลย์โดยการแชร์ข้อมูลยืนยันว่ามีการซื้อจริง นิสัยใจคอพฤติกรรมของผู้ขายว่าเป็นอย่างไร กำหนดเรื่องการตรวจรับสินค้าอย่าเอาเปรียบ อย่าดึงเชิง ปลดเงื่อนไขข้อสงวนสิทธิ์บ้าบอคอแตกออกไป กำหนดข้อความเป็นมาตรฐานแบบพอดี มีศีลมีสัจจะ มันก็จะเกิดความเอื้ออาทร เกื้อหนุนของคนตัวใหญ่ช่วยคนตัวเล็กที่ค้าขายกันมา ปรับความสัมพันธ์ให้มันเป็นแบบน้ำพึ่งเรือเสือพึงป่า ราชสีห์เป็นเพื่อนหนู ประมาณนั้น เพราะถ้าเราสามารถลดความเสี่ยงเรื่องข้อมูลเรื่องเงื่อนความน่าเชื่อถือเอกสารลงมาได้จริง การพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินก็จะมุ่งไปที่ credit cost ของตัวคนขายหรือ SMEs เท่านั้น ไม่ต้องไปเผื่อเรื่องอื่นๆ

ในส่วนของธนาคารกลาง กฎกติกาที่พอจะผ่อนผันได้ไหม ถ้า Big corporate เขาออกแรงช่วย เอกสารหลักฐานมีความน่าเชื่อถือ การกำหนดอัตราส่วนสินเชื่อต่อราคาบ้าน (Loan to Value หรือ LTV) ให้มันสูงได้ถึง 90% ของมูลค่า Invoice ได้หรือไม่ หรือเอาให้แรงก็ระบุไปเลยว่า สินเชื่อที่ปล่อยให้กับคนขายที่เป็น SMEs โดยผ่าน platform นี้ มีการยืนยันแบบนี้ มีมาตรฐานเอกสารที่สถาบันการเงินยอมรับแล้ว ให้นับการให้สินเชื่อนี้เป็นสินทรัพย์เสี่ยงแบบเดียวกับสินเชื่อบ้านได้มไหม ดอกเบี้ยมันจะได้ลดลงมาได้บ้าง ยอมผ่อนเกณฑ์การกันสำรองถ้าสถาบันการเงินต้องปล่อยกู้แบบนี้ให้กับคนขายของที่เป็น SMEs แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะมีประวัติการค้างชำระบ้างแต่ยังไม่เกิน 90 วันคือยังไม่เป็น NPL เหตุเพราะว่าแม้เครดิตทางการเงินจะไม่ใส หากแต่เครดิตทางการค้ายังดีอยู่เพราะว่ายังมีคนซื้อของอยู่พอสมควร เป็นต้น

ท้ายสุดนี้ผู้เขียนได้รับภาพจากการแชร์มาโดยไม่ได้ระบุว่าท่านผู้ใดเป็นผู้จัดทำ มันโดนใจผู้เขียนมาก เพราะนี้คือสภาพของผู้ขายของที่เป็น SMEs ในเวลานี้ ตอนนี้ ตอนที่เราอยู่ในการแพร่ระบาดระลอกสาม

เรายังพอมีหวังกับการหาสภาพคล่อง : ข้อเสนอบ้านๆ

มันจะไม่จบเร็ว ไวรัสมันจะทำลายร้างลงไปลึก และเจ็บปวดกว่าสองครั้งแรก สภาพเศรษฐกิจของเราถ้าโตได้เกิน 2% ในปีนี้ก็ต้องถือว่าบุญรักษา คุณพระคุ้มครองแล้วล่ะครับ เราทุกคนไม่ว่าจะทำหน้าที่ใด (อย่าแยกเป็นรัฐหรือเอกชน ไม่แบ่งเขาแบ่งเรา) จะต้องช่วยคิด ช่วยขับเคลื่อน การช่วยเหลือ SMEs ไทยให้เหลือรอดจากคลื่นการระบาดระลอกใหม่นี้ไปให้ได้

เมื่อจิบกาแฟชมคลื่นแม่น้ำเจ้าพระยา นินทาผักตบที่ลอยไปมาว่าไม่สวยแล้ว ควรต้องลงมือแล้วครับ หลายเรื่องของบ้านเมืองนี้มันเป็นแบบเตะกระป๋องบนถนน เตะไปเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น อยู่ระหว่างการพิจารณาศึกษา ทั้งที่เราก็มองเห็นข้างถนนเต็มไปด้วยกองไฟเผาศพ SMEs เป็นที่น่าอนาถยิ่ง...