posttoday

ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส และการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ

26 เมษายน 2564

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money… week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.20-31.60 ในสัปดาห์นี้ นักลงทุนรอติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสที่รุนแรงขึ้น โดยหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่มีการระบาด ซึ่งอาจส่งผลให้รัฐบาลตัดสินใจขยายมาตรการปิดเมืองและกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้านนโยบานการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยและส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนความเชื่อมั่นของตลาด แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทยอยฟื้นตัวในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มคงนโยบายการเงินในการประชุมสัปดาห์นี้เช่นกัน ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ ตลาดคาดคาดว่าจีดีพีสหรัฐฯ ไตรมาสที่ 1/2021 จะขยายตัวสูงกว่า 6% จากแรงส่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่จีดีพียูโรโซนมีแนวโน้มกลับมาหดตัวในไตรมาสที่ 1/2021 หลังจากหลายประเทศกลับมาใช้มาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส ด้านเอเชีย ประเมินว่าตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของจีนจะสะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยเดือนมีนาคมมีแนวโน้มขาดดุลเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.20 – 31.50 โดยเปิดตลาดอ่อนค่าหลังจากหลังจากที่สหรัฐฯ ยังคงกำหนดให้ไทยอยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังเป็นผู้แทรกแซงค่าเงิน ขณะที่ ธปท. กล่าวว่าการแทรกแซงเพื่อลดความผันผวนในตลาดเท่านั้น ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ กระทรวงพาณิชย์รายงานการส่งออกไทยตามระบบศุลกากรกลับมาขยายตัว 8.47%YoY จากเดือนก่อนที่หดตัว 2.59%YoY และดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจะหดตัว 1.50%YoY โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่การนำเข้าขยายตัว 14.12%YoY ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 22%YoY ทำให้ดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นมาที่ 711 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ เงินบาททยอยอ่อนค่าลงตลอดทั้งสัปดาห์สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยที่รุนแรงขึ้น การจ่ายเงินปันผลของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ให้นักลงทุนต่างชาติมูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาท และปัจจัยดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นเนื่องจากตลาดกลับเข้าสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยงหลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดนมีแผนขึ้นภาษีกำไรจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ส่งผลให้เงินบาทปิดตลาดที่ 31.39 (วันศุกร์ที่ 23 เมษายน เวลา 16.45 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องลงมาซื้อขายในช่วงอัตราผลตอบแทน 1.50-1.60% ซึ่งทางเทคนิคคอลแล้วพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี จะมีแนวรับที่เส้น EMA 50 วัน หรือบริเวณ 1.50% ขณะที่ปัจจัยอื่นๆ ที่สนับสนุนให้ตลาดกลับมาสู่โหมดปิดรับความเสี่ยงเป็นเรื่องที่ทางประธานาธิบดีโจ ไบเดนมีแผนขึ้นภาษีกำไรจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยข้อเสนอดังกล่าวจะกำหนดให้มีการปรับขึ้นอัตราภาษีสูงสุดมาอยู่ที่ 39.6% สำหรับชาวอเมริกันที่มีรายได้มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ จากปัจจุบันที่ 20% ทั้งนี้หากคำนวณรวมกับภาษีส่วนเพิ่มจากการลงทุนอัตราภาษีสูงสุดจะสูงถึง 43.4% ขณะที่เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวโดยที่ความชันของเส้นลดลง ซึ่งเป็นการปรับจากการลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดโลก และสอดคล้องกับผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่น ESGLB35DA เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ผลของการประมูลออกมาค่อนข้างดี โดยมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 2.20% และมี Bid coverage ratio สูงถึง 3.47 เท่า ส่งผลให้ ณ วันที่ 23 เมษายน 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.45% 0.48% 0.67% 1.07% 1.44% และ 1.85% ตามลำดับ

ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส และการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยรวมมูลค่าสุทธิประมาณ 10,325 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 3,163 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 13,788 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 300 ล้านบาท