posttoday

ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยมีแนวโน้มเกินดุล ติดตามการระบาดของโควิด-19 ในไทย

29 ธันวาคม 2563

คอลัมน์ มันนีวีก Money week) โดย...สรรค์ อรรถรังสรรค์, พินทุ์ณาดา กิตติวาณิชย์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทมีปัจจัยสนับสนุนแนวโน้มการแข็งค่าโดยประเมินกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ 29.80-30.30 ตลาดรอติดตามความคืบหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังสภาผู้แทนราษฎรรีพับลิกันต่อต้านความพยายามของเดโมแครตในการเพิ่มขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐบางส่วนต้องปิดลงชั่วคราวหากประธานาธิบดีทรัมป์ ไม่ลงนามในกฎหมายงบประมาณที่มีการลงมติไปตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมาภายในวันที่ 28 ธันวาคม ด้านสภาสหราชอาณาจักรมีแนวโน้มลงมติอนุมัติข้อตกลงทางการค้ากับสหภาพยุโรปในวันที่ 30 ธันวาคมนี้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคมเป็นต้นไป ขณะที่โอเปกมีกำหนดเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 5 แสนบาร์เรลต่อวันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นไป ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ นักลงทุนรอติดตามการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของจีน รวมถึงจีดีพีไตรมาสที่ 4 ของเกาหลีไต้และเวียดนาม เพื่อประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชีย ด้านตัวเลขเศรษฐกิจไทย ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนพฤศจิกายนมีแนวโน้มเกินดุลดลงจากเดือนก่อน

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงก่อนวันหยุดยาวท้ายปี จากความกังวลการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์จากสหราชอาณาจักรที่ติดต่อได้ง่ายกว่าไวรัสชนิดก่อนถึง 70% โดยนักลงทุนกังวลความเสี่ยงการปิดเมืองทั่วยุโรปและหลายประเทศประกาศห้ามการเดินทางทางอากาศและภาคพื้นดินที่มาจากสหราชอาณาจักรเพื่อจำกัดการระบาดของเชื้อ ขณะที่ ความเชื่อมั่นต่อเงินยูโรและปอนด์เพิ่มขึ้น หลังจากสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรสรุปการเจรจาข้อตกลง Brexit ได้ โดยทั้งสองฝ่ายประนีประนอมประเด็นการทำประมงในน่านน้ำของสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ลดลงหลังจากประธานาธิบดีทรัมป์โต้แย้งงบประมาณด้านความมั่นคง และปฏิเสธการอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 9 แสนล้านดอลลาร์ เนื่องจากต้องการขนาดมาตรการเยียวยาผลกระทบโควิดที่ใหญ่ขึ้น ส่วนในไทยความเชื่อมั่นต่อเงินบาทที่ลดลงจากการระบาดของไวรัสในไทย โดยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่มีศูนย์กลางมาจากจังหวัดสมุทรสาครและกระจายไปในหลายจังหวัดของไทย ส่วน กนง. มีมติเอกฉันท์ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% เพื่อรักษาขีดความสามารถนโยบายการเงิน (Policy space) ที่มีอยู่จำกัด โดยยังประเมินความไม่แน่นอนจากการระบาดของโควิด-19 ยังสูง และส่งสัญญาณพิจารณามาตรการลดการแข็งค่าของเงินบาท โดยเงินบาทปิดตลาดที่ 30.087 (วันศุกร์ เวลา 17.00 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นหลักที่ขับเคลื่อนตลาดคือเรื่องที่ทางสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปสามารถบรรลุข้อตกลง Brexit ได้ ประกอบกับความหวังที่ว่าสหรัฐจะสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในท้ายที่สุด ทำให้ตลาดกลับเข้าสู่โหมดเปิดรับความเสี่ยง และส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจหลักปรับตัวสูงขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปิดสัปดาห์อยู่ที่บริเวณ 0.93%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศประเด็นสำคัญอยู่ที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยที่มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่ง กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำและความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า จึงยังต้องการแรงสนับสนุนจากดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง สำหรับความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยทั้งสัปดาห์ปรับตัวลดลงเกือบตลอดทั้งเส้น อันเป็นผลจากสภาพคล่องปลายปีที่มีอยู่สูงมากในระบบการเงินเป็นแรงผลักดันให้เกิดอุปสงค์มากกว่าอุปทานในตลาดพันธบัตร โดยเราคาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะเคลื่อนไหวทรงตัวไปจนถึงปลายปี เนื่องจากเริ่มเข้าสู่เทศกาลเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสและปีใหม่ โดย ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.38% 0.41% 0.49% 0.65% 0.91% และ 1.30% ตามลำดับ

ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยมีแนวโน้มเกินดุล ติดตามการระบาดของโควิด-19 ในไทย

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 9,638 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 7,199 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 2,091 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 348 ล้านบาท