posttoday

RCEP การค้าเสรีความหวังใหม่ของไทยและเอเชีย

17 ธันวาคม 2563

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...กานต์พิชชา แดงพิบูลย์สกุล ธนาคารกสิกรไทย

ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกต่างหาหนทางรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจ จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง เกิดการหดตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จนบรรดาผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน ประเทศต่างๆจะฟื้นฟูเศรษฐกิจได้จำเป็นต้องอาศัยการรวมกลุ่มเพื่อจับมือเป็นพันธมิตรทางการค้า การสร้างพันธมิตรที่ดีจะช่วยสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ ช่วยเพิ่มมูลค่าการค้า และเพิ่มโอกาสการลงทุนให้แก่คู่ค้าได้ ขยายโอกาสในการเข้าสู่ตลาดโลกที่ใหญ่ขึ้น การรวมกลุ่มหลายๆประเทศเพื่อประโยชน์ด้านการค้าจึงเป็นความหวังที่จะช่วยให้ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กสามารถที่จะพลิกฟื้นแล้วก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากได้

ประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยการรวมกลุ่มเพื่อให้รอดจากวิกฤตและเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันในระดับโลกได้ โดยเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 63 ที่ผ่านมา ไทยได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

RCEP จีนรวมกลุ่มการค้าให้ประเทศเล็กมีพลัง

RCEP ย่อมาจาก (Regional Comprehensive Economic Partnership) โดยจีนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคอยผลักดันชวนให้ประเทศต่างเข้าร่วมโดยเฉพาะประเทศเล็กๆในกลุ่มอาเซียน ให้เป็นการพัฒนาต่อยอดจากแนวคิด ASEAN+3 และ ASEAN+6 ที่เป็นยุทธศาสตร์เดิมของอาเซียนที่ต้องการมีบทบาทในการเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนและต่อรองกลุ่มเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้นในภูมิภาค

RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียนกับจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยทุกประเทศสมาชิก RCEP มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันประมาณ 30% ของโลก ครอบคลุมประชากรกว่าหนึ่งในสามของโลก เป้าหมายของข้อตกลงนี้เพื่อให้เกิดการขยายตัวทางการค้าการลงทุนในภูมิภาคและพัฒนาการแข่งขันเศรษฐกิจที่จะนำพาประเทศสมาชิกไปสู่โอกาสการจ้างงานการค้าขายการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยี ลักษณะเด่น RCEP คือมีความยืดหยุ่นครอบคลุมและทันสมัยกว่าข้อตกลงการค้าเสรีเดิมโดย ครอบคลุมด้านการค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีศุลกากรและการอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่มีกฎมาตรฐานเดียวกัน เมื่อเงื่อนไขต่างๆลดลงก็ทำให้การค้าคล่องตัว

ประเทศสมาชิกยิ้มร่า หวังการค้าคึกคัก

จากขนาดของกลุ่ม RCEP ที่มีมูลค่าการค้าขายที่ใหญ่ที่สุดในโลกนำมาซึ่งอำนาจการต่อรอง และความร่วมมือของสมาชิกในการค้าขายสินค้าที่เป็นความต้องการของแต่ละประเทศ โดยแต่ละประเทศในกลุ่มต่างก็มีสินค้าที่มีความหลากหลายและสามารถค้าขายกันเองในกลุ่มได้ ทำให้เกิดสมดุลทางการค้าและการลงทุนคานอิทธิพลของชาติตะวันตกที่มีต่อประเทศสมาชิกโดยมีจีนที่เป็นพี่ใหญ่ที่คอยให้การสนับสนุนสร้างพันธมิตรและลดกำแพงภาษี

ประเทศที่ยังไม่เคยมี FTA ร่วมกันมาก่อนจะได้ประโยชน์ทางด้านภาษีสูงสุด คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ จีน ส่วนประเทศอาเซียนที่มีการทำ FTA ก่อนการตกลง RCEP แล้ว โดยภาพรวมก็ยังได้ประโยชน์ในการสร้างโอกาสความร่วมมือและการถ่ายความรู้ทางด้านเทคโนโลยี ความร่วมมือต่างๆนี้จะเป็นเครื่องจักรที่สำคัญขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกมากขึ้น และขยายฐานเศรษฐกิจไปสู่ตลาดโลกได้เร็วขึ้น

ไทยได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

RCEP ทำให้ไทยได้ประโยชน์เพิ่มต่อยอดจากการได้สิทธิทางภาษีที่มูลค่าการส่งออกมากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่แล้ว ด้วยลักษณะของภูมิศาสตร์ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้ทั้งทางบก ทางเรือ และ ทางอากาศ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์จะมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างมากจากกิจกรรมการค้าที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งไทยมีความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการลงทุนของนานาชาติ นำมาซึ่งบทบาทของไทยในฐานะที่ไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทาน สิ่งสำคัญคือเพิ่มทักษะผู้ประกอบการให้มีศักยภาพและเพิ่มความสามารถของสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูงแต่ส่วนใหญ่กระจุกในอุตสาหกรรมเก่า ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเลียม ท่องเที่ยว สินค้าเกษตร ฯ ซึ่งมีมูลค่ารายได้การส่งออกต่อปีอันดับต้นๆของประเทศ และเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จาก RCEP อย่างไรก็ตามการมาของ RCEP เป็นการเปิดโอกาสเปิดตัวสินค้าใหม่ๆที่ผลิตภัณฑ์และบริการมีเทคโนโลยีสามารถขายได้กำไรสูง ในส่วนของประเทศไทยนั้นยังขาดองค์ความรู้ที่จะผลักดันให้สินค้าและบริการเป็นที่ต้องการ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมากที่ไทยจะได้รับความร่วมมือระหว่างประเทศในกลุ่มสมาชิกและค่อยๆเปลี่ยนผ่านตัวเองไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่ยั่งยืนกว่า เช่น ฐานการผลิตรถยนต์พลังงานเชื้อเพลิงจะถูกแทนที่ด้วยรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญเป็นตัวเชื่อมโยงให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและสนับสนุนนวัตกรรมใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมและส่งเสริมผู้ประกอบไทยให้เข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้น

ด้วยความพร้อมข้างต้นจะส่งผลให้การลงทุนในไทยจะมีเพิ่มมากขึ้น การจ้างงานสูงขึ้น เกิดการเรียนรู้ในเทคโนโลยีใหม่ๆที่ได้รับความร่วมมือจากต่างประเทศ และมีโอกาสในการเปลี่ยนจากประเทศที่เป็นผู้รับผลิตมาเป็นผู้ผลิตที่มีสินค้าที่มีนวัตกรรม นำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นของประชากร ทำให้คนในประเทศมีความมั่งคั่งและมั่นใจในการจับจ่าย สุดท้ายก็จะมีขนาดเศรษฐกิจที่เติบโตได้อย่างยั่งยืนทัดเทียมประเทศที่พัฒนาแล้ว

ลงทุนอย่างไรให้ได้ประโยชน์ไปกับ RCEP

ในระยะต่อจากนี้จากการเกิดขึ้นของ RCEP จะส่งผลให้ไทยและกลุ่มเอเชียมีความแข็งแกร่งมากขึ้น สามารถลดการพึ่งพาประเทศกลุ่มตะวันตกและหันมาค้าขายกับประเทศในกลุ่มสมาชิกโดยระยะยาวแล้วจะมีความสดใสและยั่งยืนกว่า อีกทั้งกลุ่มสมาชิกมีจำนวนประชากรที่มากกว่าหนึ่งในสามของโลก ทำให้ภาคการบริโภคยังมีโอกาสที่จะขับดันให้เศรษฐกิจในกลุ่มโตอย่างต่อเนื่อง

จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ลงทุนจะหันมาศึกษาหาข้อมูลเพื่อตัดสินใจและแบ่งการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มการลงทุนที่เกี่ยวกับโลจิสติก คลังสินค้าให้เช่า นิคมอุตสหกรรมให้เช่า และการบริโภคเพื่อรองรับผลตอบแทนที่ดีไปกับแนวโน้มการเติบโตของกลุ่มประเทศในกลุ่ม RCEP