posttoday

แนวโน้มการผลิตวัคซีนจะยังหนุนความเชื่อมั่นตลาดการเงินโลก

07 ธันวาคม 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...วรันธร ภู่ทอง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทมีปัจจัยสนับสนุนแนวโน้มการแข็งค่าโดยประเมินกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ 30.00-30.40 นักลงทุนติดตามพัฒนาการของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในการเข้าสู่ช่วงวันหยุดก่อนสิ้นปี ซึ่งจะทำให้มีการใช้มาตรการปิดเมืองเพิ่มเติมในหลายประเทศ อย่างไรก็ดี คาดว่าตลาดจะยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับแนวโน้มบวกจากการผลิตวัคซีนที่เริ่มได้รับการอนุมัติ ด้านประเด็น Brexit คาดว่าจะยังต้องมีการเจรจากันอย่างเข้มข้นต่อเนื่องเมื่อการเป็นสมาชิกของสหราชอาณาจักรในข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรปจะสิ้นสุดลงสิ้นปีนี้ โดยสหภาพยุโรปจะมีการประชุมผู้นำในวันที่ 11 ธันวาคม ด้านนโยบายการเงิน ติดตามการประชุมนโยบายการเงินของอีซีบีที่คาดว่าจะมีการขยายมาตรการซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการกลับมาระบาดรุนแรงของไวรัสในยุโรปและมาตรการปิดเมือง ในฝั่งเอเชียติดตามรายงานการส่งออกและยอดการปล่อยกู้ของจีนเดือนพฤศจิกายนที่คาดว่าจะส่งสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าเล็กน้อยในกรอบ 30.15-30.30 เงินบาทแข็งค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์แม้ว่าธปท. รายงานดุลบัญชีเดินสะพัดไทยเดือนตุลาคมเกินดุลลดลงมาที่ 985 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยชะลอตัว เนื่องจากการบริโภคกลับมาหดตัวจากปัจจัยสนับสนุนของภาครัฐหมดลง และความเชื่อมั่นต่อการลงทุนภาคเอกชนลดลง ทั้งนี้ ธปท. มีกำหนดขยายความมาตรการระบบนิเวศอัตราแลกเปลี่ยนในการประชุม Media Briefing วันที่ 9 ธันวาคม โดย ดร. ชญาวดี ชัยอนันต์ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจกล่าวว่า ธปท. กำลังพิจารณามาตรการอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม รวมถึงมาตรการลดปริมาณออกพันธบัตร

ด้านปัจจัยต่างประเทศ นักลงทุนกลับมาให้ความสำคัญกับการหารือมาตรการกระตุ้นด้านการคลังอีกครั้งหลังแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ และชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างน้อยในวุฒิสภา สนับสนุนให้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 9.08 แสนล้านดอลลาร์เป็นพื้นฐานของการออกกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจร่วมกันของสภาคองเกรส ด้านความคืบหน้าของวัคซีน รัฐบาลอังกฤษอนุมัติการใช้วัคซีนโควิด-19 ของบริษัท Pfizer และ BioNTech ขณะที่โอเปกและกลุ่มประเทศพันธมิตรนำโดยรัสเซียตกลงเพิ่มกำลังการผลิต 5 แสนบาร์เรลต่อวันในเดือนมกราคม อย่างไรก็ดี ปริมาณดังกล่าวน้อยกว่าที่สมาชิกส่วนใหญ่ตกลงกันไว้ก่อนหน้าที่ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงปลายสัปดาห์ เงินบาทยังเคลื่อนไหวแข็งค่าสอดคล้องกับเงินสกุลเอเชียจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ แม้อัตราเงินเฟ้อไทยเดือนพฤศจิกายนติดลบต่อเนื่อง โดยเงินบาทปิดตลาดที่ 30.145 (วันศุกร์ เวลา 16.40 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนตลาดคือความหวังต่อการเจรจามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยสภาคองเกรสกลับมาหารือมาตรการกระตุ้นด้านการคลังอีกครั้งภายใต้วงเงินมาตรการ 9.08 แสนล้านดอลลาร์ ส่งผลให้นักลงทุนกลับมาอยู่ในโหมดเปิดรับความเสี่ยง อย่างไรก็ตามในช่วงท้ายสัปดาห์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดของสัปดาห์ ภายหลังจากข่าวที่บริษัทไฟเซอร์ อิงค์ ประกาศลดเป้าหมายการจัดส่งวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 โดยคาดการณ์ว่าในปีนี้บริษัทจะสามารถจัดส่งวัคซีนต้านโควิด-19 ได้เพียง 50 ล้านโดส จากที่ประมาณการณ์ไว้ที่ 100 ล้านโดส เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับซัพพลายเชน รวมทั้งพบว่าการขนส่งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตวัคซีนนั้นยังไม่เป็นไปตามมาตรฐาน สอดคล้องกับความเห็นของคุณโพเวลที่ชี้ว่าถึงแม้วัคซีนจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจในระยะกลาง แต่แนวโน้มวัคซีนยังมีความไม่แน่นอนสูงในปัจจุบันทั้งด้านเวลาและวิธีการแจกจ่าย การผลิต และประสิทธิภาพในกลุ่มคนต่างๆ นอกจากนี้องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกปี 2021 มาที่ 4.2% จาก 5.0% ในประมาณการเมื่อกันยายน เนื่องจากการระบาดที่รุนแรงขึ้นของไวรัสทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจช้าลง และอาจจะอ่อนแอลงอีกมากหากว่ารัฐบาลถอนมาตรการช่วยเหลือเร็วเกินไป

สำหรับประเด็นที่มีการพูดถึงภายในประเทศยังคงเป็นเรื่องของการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งธปท. มีกำหนดขยายความมาตรการระบบนิเวศอัตราแลกเปลี่ยนในการประชุม Media Briefing วันที่ 9 ธันวาคม 63 นอกจากนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีการออกรายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยที่มองว่าจีดีพีไทยไตรมาสที่ 3 ขยายตัวดีกว่าคาดเกือบทุกภาคส่วน แต่ยังมีความเสี่ยงสูงจากปัจจัยการเมืองในประเทศ แนวโน้มการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่เปราะบางมาก นอกจากนี้มีการประกาศอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไทยเดือนพฤศจิกายน ติดลบน้อยลงเป็นเดือนที่สอง มาอยู่ที่ -0.41%YoY น้อยกว่าเดือนก่อนหน้าที่ -0.50%YoY ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.18%YoY ลดลงจากเดือนก่อนที่ 0.19%YoY และต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 0.20%YoY ขณะที่ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลง โดยสาเหตุหนึ่งมาจากความไม่สมดุลกันระหว่างอุปสงค์และอุปทานในตลาดพันธบัตร กล่าวคือในช่วงเดือนพฤศจิกายนมีการออกประมูลพันธบัตรรัฐบาลใหม่ในปริมาณที่น้อยกว่าพันธบัตรรัฐบาลที่ครบกำหนดไถ่ถอน ทำให้นักลงทุนต้องมาหาซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรอง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงตลอดช่วงอายุ ทำให้ ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.47% 0.50% 0.58% 0.76% 1.00% และ 1.38% ตามลำดับ

แนวโน้มการผลิตวัคซีนจะยังหนุนความเชื่อมั่นตลาดการเงินโลก

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมมูลค่าสุทธิประมาณ 3,253 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 1,403 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 4,651 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 5 ล้านบาท