posttoday

คาดการณ์เงินเฟ้อโลกที่สูงขึ้น กระทบตลาดหุ้นอย่างไร?

20 ตุลาคม 2563

คอลัมน์ 10 เรื่องต้องรู้ สู่ความมั่งคั่ง โดย...นิษณากาญจน์ ภาษวัธน์ ธนาคารกสิกรไทย

1. ท่ามกลางความคาดหวังว่านาย Biden จะก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ที่มาพร้อมมาตรการกระตุ้นนโยบายการคลังขนาดใหญ่ ทำให้เส้นโค้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับชันขึ้น โดยส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี และ 2 ปี แตะจุดสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี สอดคล้องกับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นตามมุมมองเศรษฐกิจที่คาดว่าจะดีขึ้นในอนาคต สังเกตได้จากคาดการณ์เงินเฟ้อสหรัฐฯในอีก 10 ปีข้างหน้าอยู่ที่ 1.7% เทียบกับ 0.6% ในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

2. ถามว่าทิศทางเงินเฟ้อสำคัญต่อเราอย่างไร เพราะอัตราเงินเฟ้อคือผลลัพธ์ของสภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงาน การอ่านและตีความทิศทางเงินเฟ้อจึงสำคัญต่อการลงทุน หากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี ย่อมทำให้ความต้องการในการบริโภคสินค้าเพิ่มมากขึ้น ทำให้กิจกรรมการผลิตรวมถึงความต้องการแรงงานเพิ่มสูงขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า หนุนกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น เป็นต้น

3. นอกจากนี้ เงินเฟ้อยังมีผลสำคัญต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก โดยแต่ละประเทศจะมีกรอบเป้าหมายของระดับเงินเฟ้อที่ Healthy ต่อเศรษฐกิจประเทศนั้นๆ ถ้าหากเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ธนาคารกลางจะลดดอกเบี้ยลง หรืออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นให้เกิดการกู้ยืมเงิน และก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าหากเงินเฟ้อสูงขึ้นเกินกรอบเป้าหมาย ธนาคารกลางจะเพิ่มดอกเบี้ย หรือถอนสภาพคล่องออก เพื่อชะลอไม่ให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างร้อนแรงเกินไปจนสุ่มเสี่ยงต่อสภาวะฟองสบู่

4. ทั้งนี้ ตั้งแต่โลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เงินเฟ้อทั่วโลกจึงลดต่ำลง เนื่องจากเศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอย และการว่างงานอยู่ในระดับสูง ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อลดลงแตะ 0.3% ในเดือนมีนาคม ก่อนที่จะทยอยปรับขึ้นมาอยู่ที่ 1.4% ในเดือนกันยายน ขณะที่ไทยเราเองก็รายงานอัตราเงินเฟ้อติดลบมาติดต่อกันยาว 7 เดือนแล้ว

5. อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ก็คือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ได้แก่ (1) ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี โดยเฉพาะการซื้อขายออนไลน์ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบราคาจากผู้ขายได้ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคา (2) กระแสโลกาภิวัฒน์ ทำให้ทั่วโลกสามารถแสวงหาสินค้าต้นทุนต่ำได้จากทุกมุมโลก เกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศตลาดเกิดใหม่ ส่งผลให้ราคาสินค้าถูกลง และ (3) โครงสร้างประชากร ที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และจำนวนประชากรลดลง ส่งผลให้มีการออมสูงขึ้น แต่การบริโภคลดลง

6. จากข้อมูลในอดีตพบว่าหากเงินเฟ้ออยู่ในระดับราว 2% จะเป็นบวกต่อการลงทุนในหุ้น เนื่องจากเงินเฟ้อสะท้อนถึงการเติบโตของรายได้ในอนาคต แต่ถ้าหากว่าเงินเฟ้อสูงเกินระดับ 3% จะเป็นลบต่อหุ้น เพราะเงินเฟ้อที่ระดับสูงเกินกว่ากรอบเป้าหมาย จะส่งผลให้ธนาคารกลางปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนทางการเงินของบริษัทและอัตราคิดลด (Discount rate) ในการคำนวณมูลค่ากิจการ ในทางกลับกันหากเงินอยู่ในระดับต่ำเกินไป จะสะท้อนถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ก็จะส่งผลลบต่อหุ้น ดังนั้นเงินเฟ้ออ่อนๆ ที่ระดับ 2% ถือว่าเป็น “Sweet Spot” สำหรับการลงทุนในหุ้น

7. สะท้อนจากข้อมูลเฉลี่ยในอดีตตั้งแต่ปี 1976 บทวิเคราะห์ของ Goldman Sachs พบว่าเงินเฟ้อที่ระหว่าง 1-2% หุ้นสหรัฐฯ จะเทรดระดับ P/E Ratio สูงที่สุด โดยดัชนี S&P500 เทรดที่ค่าเฉลี่ย 12 month Forward P/E 15.8 เท่า แต่ถ้าหากว่าเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นเกินระดับ 5% ดัชนี S&P500 จะเทรดที่ค่าเฉลี่ย 12 month Forward P/E ต่ำกว่า 10 เท่า

8. เงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อหุ้นแต่ละอุตสาหกรรมต่างกัน โดยหากเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง จะส่งผลบวกต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งสนับสนุนหุ้นกลุ่ม Cyclical เช่น Energy, Industrials และ Materials แต่ถ้าหากว่าเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ จะเป็นบวกต่อหุ้นกลุ่ม Defensive เช่น Healthcare, Consumer Staples และ Utilities

9. นอกจากนี้ ตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ที่มักจะ Outperform ในช่วงบรรยากาศการลงทุนแบบ Risk-on จากข้อมูลในอดีตก็พบว่าเงินเฟ้อที่ระดับต่ำและกำลังปรับเพิ่มขึ้น จะส่งผลบวกต่อหุ้นในตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากสะท้อนถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงแต่กำลังปรับลดลงก็จะส่งผลบวกต่อหุ้นตลาดเกิดใหม่เช่นเดียวกัน เพราะเป็นการลดต้นทุนทางการเงิน

10. โดยสรุป แม้ว่าคาดการณ์เงินเฟ้อในตลาดปัจจุบันจะสูงขึ้น แต่เป็นการปรับสูงขึ้นอย่างช้าๆ และเป็นการสูงขึ้นจากฐานที่ต่ำมาก รวมถึงมีโอกาสปรับตัวลงได้อีกหากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต่างๆ ไม่มากพอตามที่ตลาดคาด หรือไม่มีประสิทธิภาพดีพอ จนทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกไม่ดีเท่าที่คาดไว้ โดยรวมถือว่าคาดการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้นรอบนี้อยู่ในระดับที่ Healthy และคาดว่าจะเป็นแรงหนุนให้กับสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น