posttoday

เรื่องต้องรู้ในการวางแผนลดหย่อนภาษีเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

13 ตุลาคม 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...รศ.ดร.ปริยดา สุขเจริญสิน คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th

ช่วงนี้ฝนตกเกือบทุกวัน น้ำท่วมก็บ่อย และรถก็ติดมาก จนทำให้เกือบลืมไปว่า ตอนนี้ก็เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปีแล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จะต้องจัดการวางแผนภาษีกันอย่างจริง ๆ จัง ๆ ซึ่งบางคนที่มีการวางแผนภาษีที่ดีจะเริ่มไปตั้งแต่ต้นปีแล้ว แต่ก็ยังมีคนส่วนมากที่ยังไม่เริ่มเลย จึงทำให้แคมเปญลดหย่อนภาษีนาทีสุดท้ายขายดิบขายดีกันทุกสิ้นปี ซึ่งตามหลักการแล้ว ในเรื่องของการวางแผนภาษีเป็นเรื่องที่ควรจะทำตั้งแต่ต้นปี เพราะในเรื่องของการลงทุนบางอย่างอาจต้องอาศัยจังหวะในการที่จะเข้าลงทุนหรือทยอยการลงทุน จะได้ไม่เข้าข่ายโดนบังคับลงทุนกันในราคาที่เลือกไม่ได้เพราะเวลาหมด หรือจะได้ไม่ต้องลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่ในช่วงเวลาเดียว เพราะอาจทยอยซื้อมาเรื่อย ๆ ได้

สำหรับการวางแผนในการลดหย่อนภาษีนั้น ต้องคอยติดตามประกาศและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับมาตรการทางภาษีกันอย่างใกล้ชิด เพราะมีการออกมาตรการใหม่ ๆ หรือมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ อยู่ตลอด จึงทำให้ต้องรับทราบข้อมูลเพื่อปรับเปลี่ยนแผนระหว่างปีได้อย่างทันท่วงทีเมื่อมีมาตรการที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2563 นี้ก็เป็นปีที่มีกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีชนิดใหม่เกิดขึ้น นั่นก็คือ กองทุนเพื่อการออม (Super Savings Fund หรือ SSF) ซึ่งหลายคนยังสับสนกับกองทุนเพื่อการออมพิเศษ (Super Savings Fund Extra Class หรือ SSF Extra หรือ SSFX) ที่ออกมาพร้อม ๆ กัน แต่มีวัตถุประสงค์พิเศษเพื่อกระตุ้นยอดการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งด้วยระยะเวลาที่จำกัดแค่เฉพาะช่วงไตรมาสที่ 2 ก็จะมีแค่บางคนที่ได้ทำการซื้อกองทุน SSFX นั้นไว้ ซึ่งเราจำเป็นต้องรู้ว่าเงินที่ลงทุนในกองทุน SSFX ที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีในวงเงินไม่เกิน 200,000 บาท นั้นเป็นส่วนเพิ่มเติม ไม่มารวมกับยอดเงินลงทุนในกองทุน SSF นั่นคือ ยังสามารถซื้อกองทุน SSF เพิ่มเติมได้อีก ซึ่งปีนี้มีการปรับเป็นร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยยอดซื้อกองทุน SSF จะต้องไปคำนวณรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund หรือ RMF) ประกันบำนาญ และอื่น ๆ อีก ประเด็นนี้ก็ต้องรู้ เพราะว่าถ้าซื้อเกิน จะกระทบกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับ

นอกจากนี้ก็ต้องรู้ด้วยว่า ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกองทุน SSF หรือ SSFX ต่างต้องมีการถือครองเป็นระยะเวลาลงทุนอย่างน้อย 10 ปีนับจากวันซื้อ ถ้าไม่รู้แล้วคิดว่า 5 ปีหรือ 7 ปีปฏิทิน แล้วขายได้แบบกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-Term Equity Fund หรือ LTF) ที่เคยซื้อในสมัยก่อน ก็พลาดพลั้งโดนคิดบัญชีย้อนหลังอีก นอกจากนี้ ยังควรพิจารณาให้ดีว่า มีกำลังซื้อเพียงพอหรือไม่? จะไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อนนี้เป็นเวลา 10 ปีหรือไม่? ยังคงมีสภาพคล่องที่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ หรือไม่? กองทุนที่มีนโยบายแบบไหนที่จะเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของเรา และจะซื้อกองทุนของ บลจ. ไหนดี? เรียกได้ว่าต้องคิดเยอะก่อนจะตัดสินใจลงทุน มากกว่าแค่คิดถึงค่าลดหย่อนภาษีที่จะได้รับ

ในส่วนของกองทุน RMF นั้นก็ยังคงมีอยู่ เงื่อนไขหลัก ๆ ในการลงทุนต่อเนื่อง ถือครองและขายคืนยังคงเหมือนเดิม เนื่องจากวัตถุประสงค์ที่สำคัญของการสนับสนุนการลงทุนในกองทุนประเภทนี้ก็คือ เพื่อให้เรามีเงินออมเก็บไว้ใช้ยามเกษียณนั่นเอง ดังนั้น หากกองทุนภาคบังคับที่เรามีอยู่ไม่เพียงพอก็สามารถที่จะพิจารณากองทุนนี้เพิ่มเติมได้ แต่ก็มีส่วนของกฎเกณฑ์บางอย่างที่ต้องรู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลง โดยมีการเพิ่มอัตราในการซื้อหน่วยลงทุนเพื่อหักค่าลดหย่อนในปีนี้เป็นร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ยังคงถูกคุมยอดรวมกับค่าลดหย่อนอื่น ๆ ไม่เกิน 500,000 บาทเหมือนเดิม นอกจากนี้ ก็มีเรื่องเงื่อนไขการลงทุนขั้นต่ำที่เปลี่ยนเป็นไม่มีการกำหนดแล้ว ซึ่งการลงทุนในกองทุน RMF นี้นอกเหนือจากที่จะได้ประโยชน์ทางตรงคือ เรื่องการออมเพื่อการเกษียณแล้ว ก็ยังได้ลดหย่อนภาษีอีกด้วย หรือถ้าใครจะคิดว่าการลดหย่อนภาษีเป็นประโยชน์ทางตรงและการมีเงินออมไว้ใช้ในยามเกษียณเป็นทางอ้อมก็ได้ เอาที่สบายใจ

ในส่วนของประกันก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เลยทำให้ภาครัฐส่งเสริมให้วางแผนดูแลสุขภาพและมีประกันสุขภาพที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากสวัสดิการขั้นพื้นฐาน จึงเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนภาษีในส่วนของค่าเบี้ยประกันสุขภาพจากเดิมตามจ่ายจริงในวงเงินไม่เกิน 15,000 บาท เป็นไม่เกิน 25,000 บาท ซึ่งเราก็ต้องรู้ว่า สำหรับคนที่มีเบี้ยประกันชีวิตในส่วนแรก 100,000 บาทเต็มอยู่แล้ว ก็คงจะไม่ได้ประโยชน์อะไรในแง่ของการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม แต่ก็ทำให้เห็นว่าในเรื่องของการประกันสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเนื่องจากค่ารักษาพยาบาลมีแต่จะสูงขึ้นทุกวัน และจากการที่เรามีอายุยืนยาวขึ้นก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีเงินสำหรับการรักษาสุขภาพในยามชรา โดยที่การทำประกันสุขภาพนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำตั้งแต่ตอนที่ร่างกายยังแข็งแรงอยู่ เพราะหากเกิดป่วยเป็นโรคใดมาก่อนหรือเป็นโรคที่ยังรักษาไม่หายขาด ประกันสุขภาพก็อาจจะไม่คุ้มครอง ดังนั้นแม้ว่าเบี้ยประกันสุขภาพนั้นอาจเปรียบเสมือนเบี้ยทิ้งช่วงที่เรายังแข็งแรง ซึ่งเราน่าจะอยากทิ้ง มากกว่าอยากใช้ แต่ปัญหาสุขภาพบางอย่าง เราก็ไม่อาจรู้ได้ ถ้าเมื่อไหร่ที่เรามีความจำเป็นต้องใช้ ก็จะได้มีประกันบางส่วนช่วยคุ้มครอง ไม่ต้องกังวลมากได้

ในอีกประเด็นที่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของปีนี้ ที่ทำให้เราต้องคำนวณภาษีในส่วนของค่าลดหย่อนใหม่คือในเรื่องการออกประกาศของกระทรวงแรงงานที่ลดหย่อนการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ที่ทุก ๆ ปีเราก็จะท่องว่า เราโดนหักเงินสมทบประกันสังคมเดือนละ 750 บาท ก็คือปีละ 9,000 บาท (กรณีมีรายได้ 15,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป) แต่สำหรับปีนี้ ค่อนข้างซับซ้อน เนื่องจากมาตรการเยียวยาโควิดที่ทำให้เราได้ลดยอดเงินสมทบที่หักส่งประกันสังคมในส่วนของลูกจ้างหรือผู้ประกันตนลงจากปกติ 5 % เหลือ 1 % ในช่วงมีนาคมถึงพฤษภาคม แล้วกลับมาเป็น 5 % ใหม่อยู่ 3 เดือน หลังจากนั้นในเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายนก็ลดลงไปเป็น 2 % แล้วก็จะกลับมาเป็น 5 % อีกในเดือนธันวาคม ดังนั้นสำหรับปี 2563 เงินสมทบประกันสังคมที่เราสามารถนำไปลดภาษีที่สูงที่สุดสำหรับคนที่เงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไปตลอดปีก็คือ 5,850 บาท ส่วนปีหน้าก็รอติดตามกันต่อไป เพราะในปีนี้แม้จะหักยอดเงินสมทบลงแต่สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ผู้ประกันตนได้รับยังคงเหมือนเดิม

ค่าลดหย่อนพิเศษอื่น ๆ ที่มักจะเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปี ก็เป็นอีกกลุ่มที่จะมีออกใหม่ ยกเลิก ปรับเปลี่ยน ข้ามปีบ้าง ไม่ข้ามบ้าง หรือบางครั้งมีลดหย่อนซ้อนลดหย่อนในบางหมวด จึงต้องศึกษารายละเอียดให้ดี ทั้งเงื่อนไขและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลดหย่อน อย่างช่วงปลายปีทุกปี เราก็จะลุ้นกับมาตรการกระตุ้นการบริโภค อย่างที่ผ่านมา ช้อปช่วยชาติ กินเที่ยวช้อป สำหรับปีนี้ก็มีข่าวแว่วมาแล้วว่าจะมีโครงการ “ช้อปดีมีคืน” ซึ่งเน้นช้อป เพราะเรื่องกินเที่ยวนั้นมีโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่ภาครัฐให้สิทธิในแง่ของส่วนลดกับประชาชน โดยไม่เกี่ยวกับการลดหย่อนภาษี เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการแล้ว และน่าจะมีการขยายระยะเวลาถึงมกราคมปีหน้า ดังนั้นโครงการช้อปดีมีคืนจะเน้นการกระตุ้นการบริโภคในสินค้าต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยมาตรการภาษีนี้จะทำให้ประชาชนสามารถนำค่าใช้จ่ายซื้อสินค้ามาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30,000 บาท คาดว่าจะเริ่ม 23 ตุลาคมถึง 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องรู้อีกว่ามีสินค้าหมวดหมู่ไหนบ้างที่จะเข้าข่ายช้อปดีมีคืนนี้ อย่าลืมศึกษารายละเอียดกันให้ดี จะได้ช้อปดีมีคืนจริง ๆ

สุดท้ายขอฝากไว้ว่า การวางแผนภาษีที่ดีและจะได้ประโยชน์เต็มที่นั้นควรดำเนินการเริ่มวางแผนตั้งแต่ต้นปี แม้ตอนนี้จะสายไปสำหรับปีนี้แล้ว แต่ถ้าเริ่มตอนนี้ ปีหน้าคงได้เริ่มต้นกันตั้งแต่ต้นปี แต่ถ้าเห็นว่า ตอนนี้จะสิ้นปีแล้ว รอปีหน้าค่อยเริ่มแล้วกัน อาจจะไม่ได้เริ่มอีก และขอฝากอีกประเด็นที่สำคัญคือ แม้จะมีการวางแผนที่ดีและลงมือปฏิบัติตามแผนแล้ว เรายังต้องคอยติดตาม Update ข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอ เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย มาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับภาษีก็เช่นกัน ขอให้ทุกคนดูแลรักษาทั้งสุขภาพกายและสุขภาพทางการเงินกันให้ดี