posttoday

ติดตามการประชุมนโยบายการเงินของเฟด

14 กันยายน 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money…week) โดย...สรรค์ อรรถรังสรรค์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยอยู่ในกรอบ 31.20-31.60 ตลาดติดตามการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สัปดาห์นี้ หลังจากที่เฟดปรับเป้าหมายนโยบายการเงินระยะยาวใหม่ โดยมุ่งเป้าหมายที่การจ้างงานและยึดค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อ ทำให้เฟดมีแนวโน้มคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำยาวนานขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางของญี่ปุ่น อังกฤษ และอินโดนีเซียมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนโยบายการเงินสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ รัฐสภาญี่ปุ่นมีกำหนดเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันที่ 16 กันยายน หลังจากนายชินโสะ อาเบะ ประกาศลาออกจากตำแหน่งด้วยเหตุผลทางสุขภาพไปก่อนหน้านี้ ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ นักลงทุนรอติดตามรายงานตัวเลขการบริโภค การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนของจีนเดือนสิงหาคมซึ่งมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ด้านปัจจัยในประเทศ ความกังวลของตลาดต่อโอกาสการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่อาจส่งผลให้เงินบาทผันผวนในสัปดาห์นี้

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบ โดยมีปัจจัยต่างประเทศที่ส่งผลให้ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวเป็นสำคัญ โดยในช่วงต้นสัปดาห์ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สูงขึ้นต่อเนื่อง และดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงลงจากแรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เมื่ออุปสงค์ต่อสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาวัคซีนนานขึ้น บริษัท AstraZeneca ประกาศหยุดการทดลองวัคซีนโควิด-19 ชั่วคราวหลังจากพบว่าผู้เข้ารับการทดลองวัคซีนมีอาการป่วย ขณะที่ เงินดอลลาร์กลับมาอ่อนจากเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้น จากประชุมอีซีบีที่มีการปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจดีขึ้นมาที่ -8% ในปี 2020 และความเห็นต่อค่าเงินยูโรของประธานอีซีบี ลาร์การ์ดที่ไม่ได้แสดงความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินยูโรในช่วงที่ผ่านมา ด้านเงินปอนด์อ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์ เนื่องจากความไม่แน่นอนด้าน Brexit หลังจากรัฐบาลสหราชอาณาจักรเสนอร่างกฎหมายที่ให้อำนาจกับรัฐมนตรีในการยกเลิกข้อตกลงเกี่ยวกับไอร์แลนด์เหนือในบางส่วนของข้อตกลงการออกจากสหภาพยุโรป โดยสหภาพยุโรปได้ให้เวลาถึงสิ้นเดือนนี้กับนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรบอริส จอห์นสันในการยกเลิกกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้ เงินบาทปิดตลาดที่ 31.325 (วันศุกร์ เวลา 17.18 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หากเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจหลัก ปิดสัปดาห์ปรับตัวลดลงเล็กน้อยเทียบกับระดับของสัปดาห์ก่อนหน้า อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวภายในสัปดาห์ค่อนข้างผันผวน จากประเด็นหลักที่บริษัทผู้ผลิตวัคซีน AstraZeneca ประกาศหยุดการทดสอบวัคซีนชั่วคราว หลังจากพบว่ามีผู้ได้รับยา 1 รายมีอาการป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจมีการประกาศยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 กันยายน เพิ่มขึ้น 8.84 แสนตำแหน่ง ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดที่ 8.5 แสนตำแหน่ง ขณะที่ฝั่งยูโรโซนมีการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไว้ที่ -0.5% และคงมาตรการซื้อสินทรัพย์ไว้ที่ 1.35 ล้านล้านยูโร พร้อมกันนี้อีซีบีประเมินว่าจีดีพีจะหดตัว 8% ในปีนี้ ลดลงจากการประเมินครั้งก่อนในเดือนมิถุนายนที่คาดว่าจะหดตัว 8.7% และจีดีพีจะกลับมาขยายตัว 5% ในปีหน้า สอดคล้องกับรายงานที่ว่าธนาคารกลางยุโรปมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งจะลดความจำเป็นของการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปีนี้ ขณะที่ประเมินว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 1.0% และ 1.3% ในปี 2021 และปี 2020 ตามลำดับ แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 2% ไปมาก

ขณะที่ประเด็นภายในประเทศมีความเห็นจากผู้ว่า ธปท. ที่ส่งสัญญาณไม่สนับสนุนการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับปัจจุบัน อาจมีประสิทธิภาพน้อยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 ประกอบกับดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำและสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจไม่ได้มีปัญหา จึงเห็นว่านโยบายแก้ไขปัญหาในรายภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดกว่า ส่วนความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยมีการปรับตัวลดลง และเป็นการปรับตัวโดยที่เส้นอัตราผลตอบแทนมีความชันลดลง โดยสาเหตุหลักเริ่มจากผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว (LB386A) ที่ออกมาค่อยข้างดี จึงเริ่มเห็นแรงซื้อเข้ามาจนถึงในช่วงท้ายสัปดาห์ที่มีข่าวถึงแผนการออกประมูลพันธบัตรรัฐบาลเบื้องต้นในไตรมาส 1 ของปีงบประมาณ 2564 ที่ตัวเลขเบื้องต้นออกมาน้อยกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์เอาไว้ จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้นักลงทุนเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลทำให้ ณ วันที่ 11 กันยายน 2563

ติดตามการประชุมนโยบายการเงินของเฟด

อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.51% 0.54% 0.62% 0.86% 1.08% และ 1.40% ตามลำดับ กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 3,778 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 349 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 3,429 ล้านบาท และไม่มีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ