posttoday

ติดตามการประชุม กนง. คาดคงดอกเบี้ยนโยบาย

03 สิงหาคม 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...สรรค์ อรรถรังสรรค์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยอยู่ในกรอบ 30.90-31.40 โดยนักลงทุนรอติดตามพัฒนาการตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาทางการสหรัฐฯ รายงานตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 2 หดตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ ตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐฯ เดือนกรกฎาคมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังรุนแรง ด้านนโยบายการเงิน ประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมสัปดาห์นี้ เนื่องจากไทยมีมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูทางการคลังในระดับสูงรองรับแล้ว ทำให้ความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมน้อยลง โดยปัจจุบัน ดอกเบี้ยไทยอยู่ในระดับต่ำมากที่ 0.50% ประกอบกับ ธปท. อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ผู้นำคนใหม่จึงอาจยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายการเงิน นอกจากนี้ ประเมินว่าธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางออสเตรเลีย และธนาคารกลางอินเดียจะคงอัตราดอกเบี้ยนโนยายในสัปดาห์นี้เช่นกัน

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจากเปิดตลาดในวันพุธที่ 31.46 ลง มาที่ 31.18 ในช่วงปลายสัปดาห์ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สอดคล้องกับการการอ่อนค่าลงรุนแรงของเงินดอลลาร์ เนื่องจาก นักลงทุนลดความเชื่อมั่นในการถือครองเงินดอลลาร์จากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดจาดความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน ส่งผลให้นักลงทุนเทขายดอลลาร์และหันไปถือครองทองคำทำให้ราคาทองคำในตลาดโลกทะยานขึ้นไปแตะระดับสูงกว่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และยังมีปัจจัยที่มาจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการระบาดของไวรัสโคโรนาในสหรัฐฯ ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาคการคลังและภาคการเงิน โดยเฟดมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการทางการเงิน แต่ส่งสัญญาณว่าจะยังคงเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (MBS) อย่างน้อยในระดับปัจจุบัน โดยกล่าวว่าเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 อยู่และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลับมาดังเดิมไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จนกว่าประชาชนจะมีความเชื่อมั่นในการกลับมาดำเนินกิจกรรมต่างๆ นอกจากนี้ รายงานจีดีพีของสหรัฐฯ

ไตรมาสที่ 2 หดตัวลึกที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ -32.9%QoQ saar จากไตรมาสก่อนที่ -5.0% อีกทั้งผู้ที่ขอรับสวัสดิการว่างงานอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ ยังเพิ่มขึ้นมาที่ 17.0 ล้านคนในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 กรกฎาคม 2020 โดยเงินบาทแข็งค่าตลอดทั้งสัปดาห์มาปิดตลาดที่ 31.18 (วันศุกร์ เวลา 17.00 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นสำคัญอยู่ที่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับใกล้ศูนย์ ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดได้คาดการณ์เอาไว้ พร้อมกันนี้ได้ขยายระยะเวลามาตรการเสริมสภาพคล่องฉุกเฉินออกไปอีก 3 เดือนจนถึงสิ้นปี 2020 อีกทั้งขยายการทำธุรกรรม swap line และ repo facility ออกไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2021 ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการให้คำมั่นว่าจะใช้เครื่องมือทุกอย่างเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวจากวิกฤตที่รุนแรงนี้ ขณะที่ประธานเฟดได้แสดงความกังวลว่าจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ เป็นปัจจัยกดดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาสที่ 2 ประกาศออกมาหดตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 9.5%QoQ หรือ 32.9%QoQ saar จากที่หดตัว 5%QoQ saar ในไตรมาสก่อนหน้าและใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดที่ 34.5%QoQ saar นอกจากนี้มาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสในช่วงก่อนหน้านี้ ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของจีดีพีหดตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกันที่ 34.6%QoQ saar ขณะที่การลงทุนภาคธุรกิจและการลงทุนในหมวดที่อยู่อาศัยหดตัวสูงถึง 27%QoQ saar และ 38.7%QoQ saar ตามลำดับ ส่วนตัวเลขยอดขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 1.43 ล้านคนสำหรับสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 25 กรกฎาคม โดยเพิ่มขึ้น 12,000 คนจากสัปดาห์ก่อน นอกจากนี้ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่องเพิ่มขึ้น 867,000 คนมาอยู่ที่ 17 ล้านคน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนการเข้าถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 5 ปีลดลงต่ำกว่า 0.25% เป็นครั้งแรก และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีลดลงมาอยู่แถว 0.50% ซึ่งถือเป็นระดับใกล้เคียงจุดต่ำสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

สำหรับประเด็นภายในประเทศมีการประเมินจากกระทรวงการคลังว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัว 8.5% ในปี 2020 เนื่องจากการส่งออกมีแนวโน้มหดตัวลง 11% และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัว 82.9% มาอยู่ที่ 6.8 ล้านคนจาก 39.8 ล้านคนในปีทีผ่านมา ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัว 2.6% และ 12.6% ตามลำดับ ทั้งนี้กระทรวงการคลังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัว 4-5% ในปี 2021

ขณะที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมารายงานดุลบัญชีเดินสะพัดไทยเดือนมิถุนายนขาดดุล 247 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลจากดุลการค้าที่เกินดุลลดลง และดุลบริการ รายได้และเงินโอนที่ขาดดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 พร้อมกันนี้ได้ออกมาให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะติดลบประมาณ 12-13%

ติดตามการประชุม กนง. คาดคงดอกเบี้ยนโยบาย

สำหรับการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลงสอดคล้องกับตลาดโลก ซึ่งเป็นการปรับตัวโดยที่เส้นอัตราผลตอบแทนมีความชันลดลง ทำให้ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.50% 0.46% 0.55% 0.78% 1.00% และ 1.27% ตามลำดับ กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 4,638 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 1,198 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 5,836 ล้านบาท และไม่มีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ