posttoday

บทบาทความสำคัญของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ต่อการพัฒนาประเทศไทยยุคอุตสาหกรรม 4.0

28 กรกฎาคม 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...รองศาสตราจารย์ ดร.อมรรัตน์ อภินันท์มหกุล คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ www.econ.nida.ac.th

นับตั้งแต่ต้นปี 2562 ถึงปัจจุบัน ข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนน่าจะเป็นข่าวที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจมากที่สุด ความสำเร็จของประเทศไทยในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้เป็นอย่างดีจนเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก และความคืบหน้าของการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 โดยใช้สารพันธุกรรมของเชื้อชนิด mRNA ของศูนย์วัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และโครงการพัฒนาวัคซีนต้นแบบด้วยเทคนิคอื่น ๆ ที่กำลังดำเนินงานอยู่ทั้งในภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการประดิษฐ์เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันหรือการวินิจฉัยเชื้อโรคโควิด-19 เหล่านี้ล้วนบ่งชี้ศักยภาพของประเทศไทยในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์

อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์คืออะไร ในความหมายอย่างกว้าง Life Science Industry หรืออุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์จัดเป็นภาคเศรษฐกิจที่ค่อนข้างใหญ่ ครอบคลุมสาขาอุตสาหกรรมทุกแขนงที่ประยุกต์ใช้ความรู้ทางชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม บริบทของอุตสาหกรรมนี้ในแต่ละประเทศอาจแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่แต่ละประเทศคาดหวังไว้ สำหรับประเทศไทย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (หรือ TCELS) อันเป็นองค์กรมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง อว. ได้มุ่งส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์และบริการด้านการแพทย์และสุขภาพเป็นสำคัญ อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพของไทยมีความเกี่ยวข้องกับ 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves) เพื่อการพัฒนาประเทศไทย คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ดังนั้น ศักยภาพและขีดความสามารถของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ไทย จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นอกจากนี้ ในงานศึกษาขององค์การอนามัย (WHO 1997) และ OECD (2004) ยังบ่งชี้ถึงความสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพต่อความยั่งยืนของการพัฒนาทางเศรษฐกิจด้วย ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณพบว่า อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของประชากรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 มีส่วนส่งเสริมอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่ร้อยละ 0.3 - 0.4 ต่อปีอย่างมีนัยสำคัญ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ไทยจึงสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติด้วย

นอกจากการใช้เทคโนโลยีชีวภาพเป็นหลักในการผลิตและให้บริการแล้ว อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ยังมีการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคที่ถูกต้องแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ตัวอย่างสำคัญที่เห็นได้ชัดในช่วงวิกฤตโควิดคือ การใช้ Telemedicine ในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์แบบ Real-time หรือการใช้อุปกรณ์ตรวจเช็คสุขภาพแบบพกพา (Wearable) ที่ช่วยให้แพทย์สามารถวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพและติดตามอาการของผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ปัจจุบันได้ประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ทางการแพทย์ (Robotics) และเทคโนโลยีโลกเสมือน (Augmented Reality: AR) ในการตรวจรักษาโรค พัฒนาการเหล่านี้ของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ช่วยให้การบริการทางการแพทย์มีความสะดวกและถูกต้องแม่นยำมากขึ้น อีกทั้งช่วยทำนายการเกิดโรคและการรักษาสุขภาพที่มุ่งสู่การป้องกันโรค (preventive care) ได้ดียิ่งขึ้นด้วย

อนึ่ง ในการบ่งชี้ความสำคัญของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ต่อการพัฒนาประเทศนั้น จะต้องมีการสร้างดัชนีชี้วัดมูลค่าทางเศรษฐกิจและความสามารถของอุตสาหกรรมในมิติต่าง ๆ ขึ้นมาก่อน ในการนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์กรมหาชน) ได้มอบหมายให้ทีมที่ปรึกษาของศูนย์บริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พัฒนาดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรมชีววิทยาสตร์ของประเทศไทย (ระยะที่หนึ่ง) ในปี 2562 ทีมที่ปรึกษาได้ดำเนินโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ ผู้วิจัยในทีมจะทยอยนำเสนอบทความผ่านคอลัมน์ทันเศรษฐกิจนี้ เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ที่ได้จัดทำขึ้น นอกจากนี้ ศูนย์บริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์จะจัดงานสัมมนาในนามของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์กรมหาชน) เพื่อเผยแพร่รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ต่อสาธารณชนในวันอังคารที่ 18 สิงหาคม 2563 โดยจะได้แจ้งรายละเอียดกำหนดการและการลงทะเบียนเข้าร่วมงานให้ท่านผู้อ่านได้ทราบต่อไป

แผนภาพที่ 1 กำหนดขอบเขตของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทยที่ใช้ในการศึกษา ซึ่งนอกเหนือจากหน่วยธุรกิจภายในอุตสาหกรรมแล้ว ขอบเขตของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ในการศึกษานี้ ยังครอบคลุมถึงหน่วยงานสนับสนุนอื่น ๆ ที่มีส่วนเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมตามแนวคิดของ AusBiotech (2017) ที่ใช้ในการพัฒนาดัชนีชี้วัดภาคเศรษฐกิจชีววิทยาศาสตร์ของประเทศออสเตรเลีย หน่วยงานสนับสนุนอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ หน่วยงานให้ทุนสนับสนุนการวิจัย หน่วยงานกำกับดูแลอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยและพัฒนา สถาบันการศึกษาทั้งในฐานะหน่วยงานผลิตบุคลากรทางชีววิทยาศาสตร์ หน่วยงานวิจัย และหน่วยงานที่ให้บริการทางการแพทย์และสุขภาพ ตลอดจนหน่วยงานสนับสนุนอื่น ๆ อาทิ สมาคมวิชาชีพ บริษัทที่ปรึกษาด้านสิทธิบัตร บุคลากรทางการเงิน บัญชี และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

บทบาทความสำคัญของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ต่อการพัฒนาประเทศไทยยุคอุตสาหกรรม 4.0

ตัวชี้วัดอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ที่พัฒนาขึ้นจากการศึกษาวิจัยนี้ ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบที่สำคัญคือ (1) ตัวชี้วัดที่บ่งชี้ความสำคัญของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ (2) ตัวชี้วัดศักยภาพในการแข่งขัน (3) ตัวชี้วัดที่แสดงความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ต่อภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ในประเทศในรูปแบบห่วงโซ่มูลค่า และ (4) การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ พึงสังเกตว่า ดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์จากการศึกษานี้ เป็นตัวเลขที่ต้องการแสดงความสำคัญของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ต่อระบบเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น หากมีการเก็บรวบรวมข้อมูลและการพัฒนาดัชนีชี้วัดอย่างต่อเนื่องแล้ว ตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาจะสะท้อนถึงพัฒนาการของอุตสาหกรรมในระยะยาว ดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์จึงเป็น Inputs ที่เป็นประโยชน์ในการออกแบบนโยบายหรือมาตรการเพื่อส่งเสริมและกำกับดูแลอุตสาหกรรมตามเป้าหมายการพัฒนาประเทศ และหากการพัฒนาดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของไทยมีความสอดคล้องกับดัชนีของต่างประเทศแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์ในการศึกษาเปรียบเทียบขีดความสามารถของอุตสาหกรรมระหว่างประเทศด้วย สามารถใช้ในการจัดทำ Ranking ของอุตสาหกรรม และกำหนดทิศทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมได้อย่างชัดเจน ทีมวิจัยจึงขอฝากผู้อ่านติดตามบทความที่เกี่ยวข้องกับโครงการศึกษาวิจัยนี้ และรายละเอียดงานสัมมนาที่จะแจ้งให้ท่านทราบต่อไปในคอลัมน์นี้

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการพัฒนาดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์สำหรับประเทศไทย เป็นลิขสิทธิ์ของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ซึ่งทีมที่ปรึกษาของศูนย์บริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้รับอนุญาตให้ใช้ข้อมูลของโครงการศึกษานี้เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย