posttoday

ใจกลางของเรื่องไวรัสระบาดคือรักษาการจ้างงาน

27 กรกฎาคม 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ ตอนที่ 30/2563 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

นอกจากคำทักทายของคนในสังคมไทยหลังคำว่า "ทานอะไรมาหรือยัง" ก็คือข้อความที่ว่า "ทำงานที่ไหนกัน" สังคมเราให้ความสำคัญกับเรื่องการมีงานทำในลักษณะต่างๆ ตามแต่ละยุคสมัยเช่น มีงานทำเป็นข้าราชการเป็นเจ้าคนนายคน มีงานทำเป็นพนักงานธนาคารเพราะมั่นคง มีอาชีพเป็นครูผู้คนก็นับถือ หรือมีอาชีพเป็นหมอ พยาบาลจะได้เป็นที่พึ่งพิงของคนในสังคม ดังนั้น การมีอาชีพ มีหน้าที่ในการงาน ที่เราเรียกเป็นภาษาเศรษฐกิจการ "ไม่เป็นคนว่างงาน" นอกจากนี้ในความคิดด้านปัจเจกก็จะพบว่า คนใดก็ตามที่มีงานทำ จะยากดีมีจน สูงต่ำดำขาว หากมีงานทำ มีสัมมาอาชีพแล้ว เขาคนนั้นจะมีความภูมิใจในคุณค่า (Value) ในตนเอง เพราะมันคือความรู้สึกที่เท่าเทียมว่าตัวเราหาเลี้ยงดูตนเองด้วยศักยภาพและความรู้ที่ตนเองมีไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งแห่งที่อย่างไร

หากแต่ว่าข่าวร้ายที่กำลังจะมาเยือนระบบเศรษฐกิจและสังคมของเราๆ ท่านๆ ในช่วงปลายปีนี้ก็คือเรื่อง การว่างงาน อาจไม่ต้องไปหาข้อมูลที่ไหนๆ เราๆ ท่านๆ ก็พอจะทราบว่า

1. ผลกระทบของการทำธุรกิจภายใต้เงื่อนไขการรักษามาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มแข็งทำให้ธุรกิจบางประเภทยังคงทำไม่ได้ หรือทำได้แต่ไม่มีความจำเป็นที่กิจการต้องจ้างในจำนวนเท่าเดิม หรือถูกบังคับด้วยจำนวนของลูกค้ามันไม่มี/มีจำนวนน้อยลงอย่างน่าใจหาย ไม่นับว่าก่อนหน้านี้จะมีการใช้ระบบหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่แล้วระยะหนึ่ง

2. เรามีเด็กจบใหม่ จบการศึกษา ผ่านการศึกษาจากระบบการศึกษาที่ผลิตบุคลากรในแต่ละปีสามสี่แสนคน เวลานี้ตลาดแรงงานจากฝั่งนายจ้างลดการว่าจ้างงานเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ มันก็เกิดส่วนที่จบมาแล้วแต่ยังหางานทำไม่ได้

3. เรามีคนที่ทำงานไม่เต็มที่จำนวนหนึ่งเช่น ทำงานเฉพาะช่วงเวลา ทำงานแบบ full job แต่ไม่ full time ยังมีพวกอาชีพอิสระ รับจ้างทำของ มีงานทำมีรายได้เมื่อมีคนมาว่าจ้างให้ทำงานรายชิ้นรายครั้ง รายโครงการ เป็นต้นอีกจำนวนหนึ่ง

4. นายจ้างที่ได้รับผลกระทบที่หนักมากเวลานี้คือ SME ที่ทำธุรกิจแต่ได้รับผลกระทบมากจากความต้องการในสินค้าบริการที่ลดลง แข่งขันกันมากขึ้น หรือถูกบังคับโดยเงื่อนใขสาธารณสุขให้บริการด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น ดังนั้นค่าใช้จ่ายด้านการจ้างงานจึงเป็นรายการค่าใช้จ่ายผันแปรที่สูงมากในลำดับต้นๆ ของต้นทุนการทำธุรกิจ ถ้าจะลด ถ้าจะเลิก จะไปต่อหรือไม่ไปต่อ ค่าใช้จ่ายตัวนี้เป็นปัจจัยในการตัดสินใจมากๆ ดังนั้นถ้าจะรักษาการจ้างงานตรงนี้ไว้ให้ได้ ก็ต้องมีกระแสเงินสดมาหมุนเวียนจ่ายให้ แล้วค่อยไปจ่ายคืนกันในวันหลัง คำถามคือเงินตรงนี้จะมาจากไหน เพราะตอนเศรษฐกิจดีเงินตัวนี้มาจากรายได้จากการขายหรือให้บริการ

5. ประเด็นสำคัญที่ฝังอยู่ในเรื่องการจ้างงานของคนทำงานคือ คนทำงานหรือแรงงานเหล่านั้น ท่านมีหนี้ครับ ท่านมีหนี้ที่ก่อไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ หนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้การทำเกษตร หนี้จากการทำธุรกิจ หนี้ที่ก่อมากินใช้ หนี้ก้อนนี้ยังไม่หายไปไหน หนี้ก้อนนี้ได้ถูกแช่แข็งเอาไว้ก่อนในช่วงไวรัสระบาด แต่เมื่อช่วงเวลามาตรการผ่อนปรนหมดตั้งแต่มิถุนายนในรอบแรกและสิ้นกันยายน/ตุลาคม การชำระหนี้ตามเงื่อนไขเดิมก็จะมา คำถามคือจะเอารายได้จากไหนมาชำระหนี้ถ้ามีการว่างงาน ตกงาน ขาดงาน ถูกลดงาน ลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน หรือหยุดงานโดยสมัครใจไม่รับค่าจ้าง เพราะถ้าไม่มีมาจ่ายหนี้ตามกำหนดก็จะกลายเป็นหนี้ค้างชำระ เป็นหนี้เสียในลำดับถัดไปตามวันเวลาที่จะผ่านไปในแต่ละวัน

มีผู้คนในส่วนของการทำนโยบายได้พยายามคิดค้นหาหนทางที่จะบรรเทาผลกระทบ แต่ที่จะแก้ไขปัญหาแบบให้หมดไปคงจะยากมากๆ เราอาจจะเริ่มได้อย่างนี้หรือไม่

ประการแรก สิ่งที่สถาบันการเงินเคยคิดว่าทำไม่ได้คือการให้กู้แก่กิจการเพื่อไปเป็นรายจ่ายโดยยังประมาณการรายได้ที่ไม่แน่นอนหรือยังไม่เห็นชัดเจนนั้นไม่ควรทำ เวลานี้อาจจะต้องทำและทำมากขึ้นด้วยเพราะถ้าไม่ทำแล้วละก็ กิจการก็ต้องเลิกจ้าง ลูกจ้างที่กู้เงินสถาบันการเงินก็จะไม่มีเงินจ่าย หนี้เสียก็จะวนกลับมาอยู่ดี

ประการที่สอง แหล่งเงินที่จะมาสนับสนุนสถาบันการเงินให้นำไปปล่อยต่อกับกิจการแล้วส่งผ่านสภาพคล่องตัวนี้ไปเป็นรายจ่ายในการจ้างงาน ไปเป็นรายได้ของคนทำงาน ย้อนกลับไปเป็นเงินที่นำมาชำระหนี้สินของคนทำงาน ต้องมีต้นทุนที่ต่ำถึงต่ำมากๆ และที่สำคัญต้องยอมรับความเสียหายที่อาจไม่ได้รับคืนไว้ในสัดส่วนที่สูง ความคิดที่ว่าเงินหลวงตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้อาจต้องหยุดคิดเอาไว้ชั่วคราวก่อน

ประการที่สาม ขนาดของจำนวนเงินและระยะเวลาที่ต้องทำจำเป็นต้องมากกว่าที่เคยคิดและยาวนานมากกว่าที่เคยกำหนด เพราะเราเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่เราไม่รู้ว่าอุโมงค์ยาวแค่ไหน ต้องใช้เวลาประมาณไหนจึงจะออกจากอุโมงค์ได้ ที่สำคัญมากๆ คืออากาศในอุโมงค์ช่วงไหนมีไวรัสมาก มากจนทำให้เราต้องหยุดรอไม่สามารถเดินต่อไปได้ชั่วขณะในอุโมงค์ที่ชื่อว่า COVID-19

งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข แต่ที่ทุกข์ คือวันนี้ อาจไม่มีงาน หนี้จะบาน ดอกจะเพิ่ม เพิ่มความทุกข์ สุขไม่มี ชีวีก็อาจจะยอมจบก่อนกำหนด..