posttoday

ติดตามรายงานจีดีพีสหรัฐฯ และการประชุมเฟด

27 กรกฎาคม 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...วรันธร ภู่ทองมนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยอยู่ในกรอบ 31.50-31.90 โดยนักลงทุนยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ส่งผลให้ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์สูงขึ้น และกดดันให้ตลาดการเงินเคลื่อนไหวผันผวน โดยเฉพาะหลังจากสหรัฐฯ สั่งให้จีนปิดสถานกงสุลของจีนในเมืองฮุสตัน และจีนตอบโต้โดยการสั่งให้สหรัฐฯ ปิดสถานกงสุลของสหรัฐฯ ในเฉิงตู

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐฯ เม็ดเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อต่ออายุมาตรการเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่จะหมดอายุลงสิ้นเดือนนี้และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอื่นๆ ด้านเครื่องชี้เศรษฐกิจ ติดตามรายงานจีดีพีไตรมาสที่ 2 ของสหรัฐฯ และประเทศในยุโรปที่คาดว่าจะหดตัวรุนแรงจากผลกระทบของการระบาดของไวรัสและการปิดเมือง ด้านตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของจีนคาดว่าจะสะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีการประชุมนโยบายการเงิน โดยประเด็นการผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติม รวมถึงแนวโน้มการใช้มาตรการกำหนดเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve Control) จะส่งผลต่อมุมมองต่อค่าเงินดอลลาร์

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนอย่างมากในช่วง 31.50-31.80 ในช่วงต้นสัปดาห์ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของค่าเงินสกุลอื่นๆ ของโลก เนื่องจากนักลงทุนรับปัจจัยบวกหลังจากผู้นำประเทศในสหภาพยุโรปบรรลุข้อตกลงกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจของยุโรป โดยกองทุนดังกล่าวจะแบ่งเป็นเงินช่วยเหลือ 3.9 แสนล้านยูโร และที่เหลืออีก 3.6 แสนล้านยูโรเป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังสรุปวงเงินงบประมาณระยะ 7 ปีอีก 1.074 ล้านล้านยูโร และมาตรการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมและดิจิตอล อีกทั้งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเปิดเผยความคืบหน้าของการทดลองวัคซีนไวรัสโคโรนาในระยะที่ 3 ทำให้ความเชื่อมั่นต่อการลงทุนเริ่มกลับมา อย่างไรก็ตามเงินบาทกลับมาอ่อนค่าอบ่างรวดเร็ว เมื่อความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนรุนแรงขึ้น โดยสหรัฐฯ ประกาศปิดสถานกงสุลจีนประจำสหรัฐฯ ณ เมืองฮุสตัน และยังมีความกังวลว่าไทยอาจถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้แทรกแซงค่าเงิน ทั้งนี้ คุณจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารห่งประเทศไทยกล่าวว่า ธุรกรรมในตลาดเงินตราต่างประเทศของ ธปท. มิได้มุ่งหวังที่จะบิดเบือนค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้ากับคู่ค้าของไทย เงินบาทปิดตลาดที่ 31.722 (วันศุกร์ เวลา 15.30 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจหลักปรับตัวลดลง โดยปัจจัยสำคัญยังคงเป็นเรื่องของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสามารถความคุมได้ นอกจากนี้เริ่มมีสัญญาณของผู้ติดเชื้อที่กลับมาสูงขึ้นในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และถึงแม้ว่าจะมีข่าวเรื่องการทดลองวัคซีนเบื้องต้นของ Oxford และ AstraZeneca ว่าสามารถช่วยกระตุ้นแอนติบอดีและเม็ดเลือดขาวที่สามารถต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ได้สำเร็จ โดยไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย ซึ่ง 70% ของผู้เข้ารับการทดลองมีอาการเป็นไข้หรือปวดศีรษะเท่านั้น อย่างไรก็คงต้องติดตามพัฒนาการอย่างต่อเนื่องในแง่ของระยะเวลาของการนำวัคซีนมาใช้และแง่ของผลข้างเคียงที่อาจสะท้อนออกมาในระยะยาว ซึ่งภายใต้สถานการณ์ที่ทั่วโลกยังไม่สามารถความคุมการแพร่ระบาดได้ การดำเนินเศรษฐกิจก็ไม่สามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมามีการรายงานตัวเลขยอดการขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคม มาอยู่ที่ 1.416 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว จาก 1.307 ในสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ 1.3 ล้านราย โดยเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นในตอนใต้และตะวันตกของสหรัฐฯ ซึ่งตัวเลขที่สูงขึ้นจะส่งผลต่อรายงานการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในเดือนกรกฎาคม ขณะที่ยอดการขอรับสวัสดิการต่อเนื่องยังสูงที่ 16.2 ล้านราย ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 กรกฎาคม นอกจากนี้มีประเด็นความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่รุนแรงขึ้น ภายหลังจากที่สหรัฐสั่งจีนปิดสถานกงสุลในเมืองฮุสตัน โดยให้เหตุผลว่าเป็นการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา และข้อมูลส่วนบุคคลของชาวอเมริกัน ขณะที่ทางจีนตอบโต้กลับด้วยการสั่งปิดสถานกงสุลในเมืองเฉิงตู ซึ่งนักลงทุนคงต้องติดตามประเด็นความขัดแย้งระหว่างสองประเทศมหาอำนาจนี้ว่าจะทวีความรุนแรงไปมากน้อยแค่ไหน อันจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะขับเคลื่อนเคลื่อนตลาดในระยะข้างหน้า และสุดท้ายในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ระหว่างวันที่ 28-29 กรกฎาคม 63 ซึ่งตลาดได้ให้โอกาสที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0-0.25% สูงถึง 94% (ณ เวลา 16.00น. ของวันที่ 24 ก.ค. 63)

ขณะที่ประเด็นภายในประเทศมีความเห็นจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสที่ 2 และมองว่าต้องใช้เวลาถึงสองปี กว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติหากไม่มีการแพร่ระบาดของไวรัสครั้งที่ 2 รวมถึงต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาที่ระดับเดิมในปี 2019 ที่ 40 ล้านคน ขณะที่มีการประกาศตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนมิถุนายน หดตัว 23.2%YoY มากกว่าเดือนก่อนที่หดตัว 22.5%YoY ขณะที่ตลาดคาดว่าจะหดตัว 15%YoY ทำให้โดยรวมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวโดยเส้นอัตราผลตอบแทนมีความชันลดลงสอดคล้องกับตลาดโลก โดย ณ วันที่ 24 กรกฎาคม 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.50% 0.47% 0.56% 0.81% 1.03% และ 1.30% ตามลำดับ

ติดตามรายงานจีดีพีสหรัฐฯ และการประชุมเฟด

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 1,318 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 3,428 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 4,746 ล้านบาท และไม่มีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ