posttoday

การลงทุนในยุค New Normal

28 พฤษภาคม 2563

คอลัมน์ คุยเฟื่องเรื่องลงทุน โดย...คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

ในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนทั่วโลกต้องเผชิญกับความผันผวนและความท้าทายอย่างที่เราไม่เคยเจอมาก่อนในรอบทศวรรษ การแพร่ระบาดของเชื่อไวรัส COVID-19 ที่มีจุดเริ่มต้นจากประเทศจีนช่วงเดือน ธ.ค. 2019 ที่ผ่านมา ได้พัฒนามาเป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) อย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 5 ล้านคน โดยไวรัส COVID-19 มีลักษณะพิเศษที่สำคัญคือสามารถแพร่กระจายในขณะที่ผู้แพร่เชื้อยังไม่แสดงอาการทำให้ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องประกาศภาวะฉุกเฉินและดำเนินมาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ให้มีความสอดคล้องกับข้อจำกัดด้านขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขภายในประเทศ โดยคาดหวังว่าประชาชนที่ติดเชื้อก็จะได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและลดอัตราการเสียชีวิตที่ไม่จำเป็นลงได้

ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่หลอมรวมและเชื่อมโยงความสัมพันธ์โดยเฉพาะทางด้านการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศเข้าไว้ด้วยกัน การ lockdown ทั่วโลก (The great lockdown) ทำให้กิจกกรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกต้องหยุดชะงักลง ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำเนินธุรกิจในวงกว้าง ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลงแรงจากทั้งการประกาศทำสงครามราคาน้ำมันของซาอุท่ามกลางอุปสงค์น้ำมันที่หดตัวรุนแรงจากการปิดเมือง ส่งผลให้น้ำมันดิบเบรนท์ลงไปแตะจุดต่ำสุดที่ระดับประมาณ 16 เหรียญต่อบาร์เรล เศรษฐกิจโลกก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) อัตราว่างงานพุ่งสูงขึ้น บริษัทที่ได้รับผลกระทบโดยรวมประสบปัญหาขาดทุนและขาดสภาพคล่องเสี่ยงต่อการล้มละลาย ส่งผลให้เกิดแรงเทขายทั้งในตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนทั่วโลก ก่อนที่ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงรัฐบาลในแต่ละประเทศได้ร่วมกันออกมาตรการช่วยเหลือออกมาอย่างต่อเนื่องและทันต่อสถานการณ์ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0-0.25% และประกาศทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ภาคเอกชนแบบไม่มีเพดานจำกัดทั้งปริมาณและเวลา หรือที่เรียกว่า Infinity QE เพื่อให้นักลงทุนคลายความวิตกกังวล รวมถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองอีกด้วย

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้นค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมานั้นพึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการค่อนข้างมาก โดย SCB EIC คาดว่า GDP ปี 2563 ติดลบถึง 5.6-7.2% นับเป็นการหดตัวสูงสุดนับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง โดยหลักเป็นผลจากหดตัวของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งผลประกอบการโดยรวมของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1/2563 ปรับลดลงกว่า 60% YoY โดยหลักๆ เกิดจากการขาดทุนสินค้าคงคลังของหุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี อย่างไรก็ตามหากไม่รวมผลประกอบการของกลุ่มดังกล่าว กำไรของบริษัทจดทะเบียนก็ยังปรับลดลง 24% YoY

สำหรับภาพรวมทิศทางการลงทุนหลังจากนี้ ปัจจัยสนับสนุนหลักคือการทยอยกลับมาเปิดเมืองแม้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควรเพื่อกลับสู่ภาวะปกติอย่างแท้จริง ความคืบหน้าของการคิดค้นพัฒนาวัคซีน และสภาพคล่องในระบบการเงินที่อยู่ที่ระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมาได้ปรับขึ้นรองรับความคาดหวังของการเปิดเมืองไปแล้วบางส่วน ทำให้การฟื้นตัวหลังจากนี้น่าจะเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับแนวโน้มผลประกอบการ และการฟื้นตัวของหุ้นแต่ละหมวดอุตสาหกรรมและแต่ละรายบริษัทที่จะเป็นไปในอัตราที่ไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการปรับลดต้นทุน กลยุทธ์ในการแข่งขันเพื่อแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด การคิดค้นสินค้าและพัฒนาคุณภาพให้ครองใจผู้บริโภค ดังนั้น ในช่วงที่เหลือของปีนักลงทุนจะต้องมีกลยุทธ์เลือกลงทุนมากขึ้นตั้งแต่ระดับประเภทอุตสาหกรรม รวมถึงการเลือกหุ้นเป็นรายตัว กลุ่มอุตสาหกรรมหลายๆ กลุ่มกำลังเผชิญกับความท้าทายที่จะกลับมาเติบโตอีกครั้ง ในรูปแบบความปกติแบบใหม่ หรือ “New Normal” ที่บริษัทต่างๆ ต้องปรับตัวและดำเนินธุรกิจให้ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับสถานการณ์ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหลังวิกฤติ COVID-19 เช่น การใช้งานสื่ออิเล็กทรอนิกส์มาแทนการพบกันต่อหน้าตามนโยบาย Social Distancing พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในการซื้อขายสินค้าจากการไปซื้อหน้าร้าน มาซื้อขายผ่านทางอินเตอร์เน็ตมากขึ้น การสั่งอาหารเดลิเวอรี และความใส่ใจในสุขภาพที่มากขึ้น เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองคาดจะทำจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 และทยอยฟื้นตัวตามกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ในขณะที่กำไรของหุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีคาดทำจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาสแรกของปี ก่อนที่จะทยอยฟื้นตัวตามอุปสงค์ของการใช้น้ำมันจากการเปิดเมืองของประเทศต่างๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของราคาน้ำมันยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากนโยบายฝั่งอุปทานจากกลุ่ม OPEC plus และความเสี่ยงในการกลับมาระบาดครั้งใหม่ รวมถึงการกลับมาของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน นอกจาก 2 กลุ่มที่กล่าวไปข้างต้นแล้วนั้น กลุ่มธนาคาร อสังหาริมทรัพย์และการท่องเที่ยว คาดจะได้รับผลกระทบหนักและการฟื้นตัวยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากหลัง COVID-19 กลุ่มธนาคารจะเข้าสู่วัฏจักรหนี้เสียและการปรับโครงสร้าง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ต้องเผชิญกับกำลังซื้อสินค้าคงทนที่หดตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจ ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการที่ไม่สามารถปรับตัวได้จะต้องรอจนกว่าจะมีการคิดค้นวัคซีนได้สำเร็จ และการเดินทางท่องเที่ยวกลับมาสู่ภาวะใกล้เคียงปกติ

ทั้งนี้ กลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ยังแนะนำให้เน้นลงทุนในหุ้นขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีงบการเงินที่แข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดและสภาพคล่องที่สามารถทนทานต่อความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยได้ โดยกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการกลับมาเปิดเมือง และพึ่งพิงเศรษฐกิจภายในประเทศ กลุ่มสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น การเดินทางระบบราง ทางด่วน กลุ่มสื่อสาร และกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ปริมาณการใช้งานมีแนวโน้มการฟื้นตัวเข้าสื่อระกับใกล้ปกติได้ในไม่ช้า อีกกลุ่มที่อาจเข้าไปลงทุนตามจังหวะตลาดได้ คือ กลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มพลังงานแนวโน้มผลประกอบการจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 2